ถามแพทย์

  • ปวดหน่วงๆ ที่เต้านมซ้ายมา 1-2 สัปดาห์ ปวดมากขึ้นเวลาทำงานที่ใช้แรง คลำไม่เจอก้อนที่เต้านม

  •  Fah
    สมาชิก

    มีอาการปวดหน่วงหนึบๆตรงเต้านมฝั่งซ้ายค่ะ ปวดตลอดแต่ปวดเบา คล้ายคนหยิกหัวนมแล้วลามไปปวดฐานนมค่ะ แต่อาการปวดไม่ได้รุนแรงมาก ปวดระดับที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันงี้เลยค่ะ 

    บางครั้งก็ปวดแปล็บจี๊ดขึ้นมาดื้อๆเลยก็มีค่ะ แต่จะปวดชัดเจนตอนเกร็งหรือทำงานที่ใช้แรง บางทีก็ปวดใต้ราวรักแร้ลามมาเหนืออกซ้ายก็มีเช่นกันค่ะ แต่ส่วนมากจะเป็นเต้านมมากกว่า คล่ำทุกส่วนแล้วไม่เจอก้อนเนื้ออะไรเลยค่ะ ดูปกติทุกอย่าง 

    แต่ก่อนหน้าเคยเป็นผิวหนังอักเสบตรงหัวนม มีอาการคันและปวดตรงหัวนม ไปหาหมอได้ยาทาและยาปฏิชีวะมาค่ะ ซึ่งอาการคันหายไปแล้วตอนนี้มีแต่ปวด ตอนนี้ปวดมาได้อาทิตย์สองอาทิตย์แล้วค่ะ

    หนูไม่รู้อาการที่เป็นปัจจุบันอยู่มันโยงกับอาการผิวหนังอักเสบหรือป่าว 

    รบกวนคุณหมอด้วยนะคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Pin03,

                      อาการปวดเต้านม อาจเกิดจาก

                  1.การอักเสบของเนื้อเยื่อในเต้านม ซึ่งมักจะมีอาการบวมแดงของผิวหนังร่วมด้วย

                  2. มีถุงน้ำหรือซีสต์ ซึ่งมีการอักเสบเกิดขึ้น ก็จะทำให้มีอาการปวด เจ็บได้ แต่ก็จะคลำได้ก้อนที่เต้านมร่วมด้วย

                  3. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาฮอร์โมนต่างๆ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาสตรี สมุนไพร อาหารเสริมต่างๆ เป็นต้น แต่มักทำให้ปวดทั้ง 2 ข้าง

                  4. เป็นอาการในช่วงก่อนการมีประจำเดือนหรือขณะมีประจำเดือน แต่ก็มักจะเป็นทั้ง 2 ข้าง

                  5. การอักเสบของกล้ามเนื้อทรวงอกตรงบริเวณฐานเต้านม ก็อาจทำให้รู้สึกเหมือนปวดเต้านมได้ โดยอาการปวดจะสัมพันธ์กับท่าทาง และการใช้งานกล้ามเนื้อทรวงอก

                   ส่วนการที่ผิวหนังบริเวณหัวนม เคยมีการอักเสบ แต่ได้รักษาจนหายไปแล้ว ก็ไม่น่าเป็นสาเหตุอีกค่ะ

                   ดังนั้น หากอาการปวด จะเป็นเฉพาะเมื่อมีการออกแรงทำงาน รวมถึงมีการปวดร้าวมาจากรักแร้ โดยที่เต้านมเอง ไม่ได้มีก้อน ไม่มีการบวมแดง ก็น่าจะเกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบได้ค่ะ 

                    ในเบื้องต้น ก็ควรงดการใช้งานกล้ามเนื้อของทรวงอก เช่น การยกของหนัก เข็นของหนัก งดการออกกำลังกายและเล่นกีฬาต่างๆ หากปวดมาก อาจทานยา เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดต่างๆ เช่น  ไดโลฟีแนค (diclofenac) ไพรอกซิแคม (piroxicam) เป็นต้น

                    หากอาการปวดไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุค่ะ