ถามแพทย์

  • ปวดจุกคอหอย กลางอก ปวดทะลุไปถึงกลางหลัง เป็นอะไร ควรทำอย่างไร

  •  Mai Kornkanok
    สมาชิก

    สวัสดีคะ มีอาการปวดจุกตั้งแต่ช่วงคอหอย คอ กลางอก ปวดตลอดทะลุไปถึงกลางหลัง ปวดมาเป็นระรอกๆ อีกทั้งมีอาการแน่นจุกหายใจลำบาก จนขับรถต่อไม่ไหวจอดรอข้างทางสักพักอาการจุกปวดก็ค่อยดีขึ้นค่ะ ไม่ทราบ่วาเป็นอะไร และควรปฏิบัติตัวอย่างไรคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Mai Kornkanok,

                      อาการจุกบริเวณคอหอย กลางอก ร่วมกับอาการปวดทะลุไปกลางหลัง อาจเกิดจาก

                     1. โรคกรดไหลย้อน และกระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งอาจทำให้มีอาการคล้ายมีอะไรจุกอยู่ที่คอ และรู้สึกกลืนลำบากได้ รวมถึงมีอาการแสบร้อนจากช่วงอกไปจนถึงลิ้นปี่ เจ็บหน้าอก มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ มีอาการเจ็บคอ ระคายเคืองคอตลอดเวลา มีอาการปวดจุกเสียดแน่นลิ้นปี่ ซึ่งอาการปวดร้าวไปกลางหลังได้ นอกจากนี้ อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน เรอบ่อย อิ่มเร็ว เป็นต้น

                    2. การมีต่อมไทรอยด์โต ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโต อาจทำให้รู้สึกจุกคอหอยได้ แต่จะไม่ได้ทำใเกิดอาการจุกกลางอกและปวดร้าวไปที่หลัง และมักจะคลำได้ก้อนบริเวณลำคอด้านหน้า หากคลำไม่ได้ก็น่าไม่ใช่สาเหตุ

                        นอกจากนี้ อาจเกิดจากการยา โดยเฉพาะที่เป็นแคปซูล แล้วไม่ได้ดื่มน้ำตามไปด้วย หรือดื่มเพียงเล็กน้อย แคปซูลซึ่งมักทำจากเจลาติน จะเหนียวติดกับหลอดอาหาร และยาก็จะละลายอออกมา หากยามีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่าง ก็จะเกิดการระคายเคืองต่อหลอดอาหาร หรือทำให้เกิดแผลที่หลอดอาหารได้ และส่งผลทำให้มีอาการแสบร้อนอก แน่นหน้าอกและเจ็บคอได้

                        ในเบื้องต้น หากเกิดจากการทานยาแล้วไม่ได้ดื่มน้ำตาม ก็ควรดื่มน้ำเปล่าเข้าไปมากๆ แต่หากไม่ได้เกิดจากการทานยา การดูแลตนเอง ได้แก่ การทานอาหารอ่อนย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดต่างๆ เนื้อสัตว์ติดมัน หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด  ไม่ควรทานจนอิ่มเกินไป เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ทานช้าๆ ไม่เร่งรีบ ไม่ควรทานอาหารก่อนนอนภายใน 2 ชั่วโมง  ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และน้ำอัดลมอัดแก๊สต่างๆ รวมถึงห้ามทานยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs เช่น แก้ปวดเมื่อย ปวดข้อ แก้ปวดประจำเดือน เป็นต้น

                        หากอาการเป็นมาก อาจทานยา ได้แก่ ยาลดกรดชนิดต่างๆ เช่น ยาธาตุน้ำขาว ยาที่ยับยั้งการหลั่งกรด เช่น แรนิทิดีน (ranitidine) ยาโอเมพราโซล (omeprazole) เป็นต้น ยาที่เพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กได้เร็วขึ้น เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ (metoclopramide) เป็นต้น

                        แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่นๆ เพิ่มเติม ควรไปพบแพทย์ค่ะ