ถามแพทย์

  • จุกเสียดตรงลิ้นปี่ เรอบ่อย ทานข้าวก็จะจุกที่ตรงลิ้นปี่ มีอาการเจ็บ ๆ ต้องดื่มน้ำตาม เป็นอะไร

  •  TsMora
    สมาชิก

    สวัสดีครับ ผมมีอาการ จุกเสียดตรงลิ้นปี่ แล้วเรอ บ่อยมาก เวลาทานข้าวก็จะกลืนไม่ลงเหมือนไปจุกที่ตรงลิ้นปี่ เมื่อทานข้าวลงไป จะมีอาการเจ็บ ๆ ต้องดื่มน้ำตามถึงหาย แต่ไม่หายในทันที แล้วมีอาการเจ็บๆ ตลอดเวลา ไม่ทราบอาการแบบนี้เป็นไรครับ

    ขอบคุณครับที่ช่วยแนะ

    สวัสดีค่ะ คุณ TsMora,

                       อาการจุกเสียดตรงลิ้นปี่ เรอบ่อย เจ็บแน่นลิ้นปี่ อาจเกิดจาก

                      1.โรคกระเพาะอาหารอักเสบ  ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดบริเวณท้องส่วนบน อาจเป็นบริเวณลิ้นปี่ลงไปถึงเหนือสะดือหรือปวดค่อนไปทางด้านซ้าย อาจปวดแบบจุกแน่น หรือแสบร้อน และปวดร้าวทะลุไปหลังได้ นอกจากนี้อาจมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อิ่มเร็ว เรอบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

                      2.โรคกรดไหลย้อน อาการจะคล้ายๆ กับกระเพาะอาหารอักเสบ แต่จะมีอาการแสบร้อนกลางอกหรือแน่นหน้าอกร่วมด้วย หรือมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมในคอ หรือเจ็บคอ ระคายเคืองคอ เป็นต้น 

                     แต่หากมีอาการกลืนอาหารลำบาก หรือกลืนอาหารแล้วติด จนต้องอาเจียนหรือคายออกมาร่วมด้วย อาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดอาหาร เช่น มีเนื้อเยื่อยื่นออกในหลอดอาหาร (esophageal ring) มีการโป่งพองของหลอดอาหารออกเป็นกระเปาะ หรือมีพีงผืดเกิดขึ้นในหลอดอาหาร เป็นต้น

                    ในเบื้องต้น แนะนำให้ทานอาหารอ่อน อาหารที่ย่อยง่าย งดการทานเนื้อสัตว์ปริมาณมาก อาหารต้องรสไม่จัด ไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดต่างๆ อาหารผัด ควรเคี้ยวช้าๆ ให้ละเอียด ไม่ทานและกลืนเร็ว ไม่ทานอาหารครั้งละปริมาณมาก ไม่เคี้ยวหมากฝรั่ง ไม่ดื่มน้ำอัดลม อัดแก๊สต่างๆ รวมถึงชา กาแฟ โกโก้ แอลกอฮอล์ และไม่ควรทานอาหารก่อนนอนภายใน 2 ชั่วโมง ห้ามทานยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs เช่น แก้ปวดเมื่อย ปวดข้อ เป็นต้น  

                   หากอาการยังไม่บรรเทา อาจทานยาลดกรด เช่น ยาธาตุน้ำขาว ยาที่ช่วยยับยั้งการหลั่งกรด เช่น แรนิทิดีน (ranitidine) ยาโอเมพราโซล (omeprazole) เป็นต้น ยาที่เพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กได้เร็วขึ้น เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ (metoclopramide) รวมถึงยาที่ช่วยย่อยอาหาร ลดแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น ไดเจสติน (digestin), มาเจสโต (magesto-F) หรือยาไซเมทิโคน (simethicone) เป็นต้น

                      หากได้ปฏิบัติตัวดังกล่าวแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่นๆ อีก ก็ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางอายุรกรรมค่ะ