แองจีโออีดีมา (Angioedema)

ความหมาย แองจีโออีดีมา (Angioedema)

Angioedema (แองจีโออีดีมา) เป็นอาการบวมของเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนัง มักพบบ่อยบริเวณรอบดวงตา ริมฝีปาก มือ เท้า และอวัยวะเพศ อาจมีผื่นบวมนูนคล้ายลมพิษ แต่มีขนาดใหญ่และมีอาการรุนแรงกว่า เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายตอบสนองต่อตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ยา อาหาร หรือสารบางชนิด เป็นต้น ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย และอาการบวมมักหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา

อาการของแองจีโออีดีมา

โดยทั่วไป Angioedema มักทำให้เกิดอาการบวมใต้ชั้นผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตา ริมฝีปาก มือ เท้า หรืออวัยวะเพศ มีโอกาสเกิดผื่นคันจากลมพิษด้วย รวมทั้งอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น บวมภายในลำคอ หลอดลม ปอด ลิ้น และเยื่อบุตา รู้สึกแสบร้อนและเจ็บบริเวณที่บวม หายใจลำบาก วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์อาจมีอาการปวดท้องจากกระเพาะอาหารและลำไส้บวม จนอาจคลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วงตามมา หรือกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะอาจบวมจนส่งผลให้มีปัญหาในการปัสสาวะได้

ทั้งนี้ อาการ Angioedema ที่รุนแรงอาจส่งผลต่อการหายใจและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากมีอาการบวมร่วมกับหายใจลำบาก หายใจเร็ว เสียงแหบ อ่อนเพลีย หน้ามืดและหมดสติ ควรไปพบแพทย์ทันที

1891 Angioedema rs

สาเหตุของแองจีโออีดีมา

Angioedema มีสาเหตุแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภท ดังนี้

  • Allergic Angioedema
    เป็น Angioedema ที่เกิดจากการแพ้ โดยทั่วไประบบภูมิคุ้มกันจะปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อด้วยการผลิตสารภูมิต้านทานออกมากำจัดสิ่งแปลกปลอม แต่ในกรณีที่เกิดอาการแพ้ จะเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ตรวจจับได้เป็นอันตราย จึงปล่อยสารเคมีอย่างฮิสทามีน (Histamine) ออกมา ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและนำไปสู่อาการบวมใต้ชั้นผิวหนัง โดย Angioedema ประเภทนี้อาจเกิดจากสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างอาหารหรือยาบางชนิด สารทึบแสง ยางธรรมชาติ หรือการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย โดยเฉพาะผึ้ง ต่อ และแตน
  • Idiopathic Angioedema
    เป็น Angioedema ประเภทที่ยังระบุสาเหตุที่แน่ชัดของอาการบวมไม่ได้ แต่คาดว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และมีปัจจัยบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ความเครียด การดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน การรับประทานอาหารรสจัด การสวมเสื้อผ้ารัดรูป ความร้อน ความเย็น การออกกำลังกายหนักเกินไป ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ การขาดสารอาหารบางชนิดอย่างธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และกรดโฟลิก หรือการติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อที่ฟัน ไซนัส และถุงน้ำดี เป็นต้น นอกจากนี้ อาการบวมอาจมีสาเหตุมาจากโรคเอสแอลอีหรือที่เรียกว่าโรคแพ้ภูมิตัวเอง และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้เช่นกัน แต่มีโอกาสพบได้น้อยมาก โดย Angioedema ชนิดนี้มักมีอาการลมพิษร่วมด้วยและอาจเป็นอย่างเรื้อรังได้
  • Drug-Induced Angioedema
    เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางประเภท อาจมีอาการทันทีที่รับประทานยา หรืออาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีกว่าอาการจะปรากฏ โดยมีตัวยาหลักที่ทำให้เกิดอาการอย่างยาลดความดันโลหิตกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ และตัวยาอื่น ๆ ที่อาจส่งผลน้อยกว่า เช่น ยาแองจิโอเทนซินรีเซพเตอร์บล็อกเกอร์ ยาลดการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ NSAIDs ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ ยาลดไขมันในกลุ่มสแตติน และยายับยั้งการหลั่งกรดกลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ เป็นต้น
  • Hereditary Angioedema
    เป็น Angioedema ที่มาจากกรรมพันธุ์ เกิดจากการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรมหรือยีน C1-INH ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างโปรตีน C1-INH ที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดำเนินไปอย่างปกติได้ เมื่อขาดแคลนโปรตีนชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการ Angioedema โดยยีนนี้ถ่ายทอดภายในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นได้ ทั้งนี้ อาการบวมจาก Angioedema ชนิดนี้อาจเกิดขึ้นเองหรือถูกกระตุ้นโดยปัจจัยบางอย่าง เช่น การบาดเจ็บ การติดเชื้อ การผ่าตัด การรักษาทางทันตกรรม ความเครียด การตั้งครรภ์ รวมถึงการใช้ยาบางประเภทอย่างยาคุมกำเนิด ซึ่งผู้ป่วยมักไม่พบอาการจนกว่าจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและพบได้น้อยลงในวัยผู้ใหญ่  

การวินิจฉัยแองจีโออีดีมา

ในการวินิจฉัย Angioedema แพทย์จะตรวจดูบริเวณที่เกิดอาการบวม รวมทั้งซักถามอาการและประวัติสุขภาพ การใช้ยาหรือสมุนไพรของผู้ป่วย และประวัติการเกิดผื่นหรืออาการแพ้ของคนในครอบครัว นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับการทดสอบอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุของ Angioedema เช่น

  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
    ทดสอบโดยหยดสารก่อภูมิแพ้ที่ท้องแขนของผู้ป่วยและสะกิดผิวหนังบริเวณนั้น หากผู้ป่วยแพ้สารใดก็จะทำให้เกิดตุ่มบวมแดงขึ้นมาภายใน 15 นาที วิธีนี้มีความปลอดภัยและค่าใช้จ่ายไม่สูง ซึ่งผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านฮิสทามีนมาก่อนรับการทดสอบ เพื่อป้องกันผลลัพธ์คลาดเคลื่อน
  • การตรวจเลือด
    หากแพทย์คาดการณ์ว่าสาเหตุอาจเกิดจาก Angioedema ที่มีมาแต่กำเนิด อาจตรวจเลือดเพื่อวัดระดับโปรตีนในเลือดที่เรียกว่า C1 Esterase Inhibitor ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน หากผู้ป่วยมีระดับโปรตีนชนิดนี้ต่ำ แพทย์อาจวินิจฉัยได้ว่ามีความผิดปกติที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบและบวมขึ้น

การรักษาแองจีโออีดีมา

ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หรือปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง แพทย์อาจให้ใช้ยาเพื่อลดอาการคันและบวม เช่น ยาต้านฮิสทามีน ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาอิพิเนฟริน และยาสูดพ่นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ

นอกจากนี้ มีตัวยาอีกหลายชนิดที่อาจใช้บรรเทาอาการ Angioedema ได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนผู้ป่วย Angioedema ที่เกิดจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์จะแนะนำให้หยุดใช้ยานั้น ๆ และเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่นแทน

ภาวะแทรกซ้อนของแองจีโออีดีมา

ส่วนใหญ่ Angioedema ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย และจะหายไปได้เองภายใน 1-3 วัน แต่หากเกิดอาการบริเวณลำคอก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยคอและลิ้นที่บวมจะปิดช่องทางเดินหายใจและทำให้หายใจลำบาก นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการที่รุนแรงอย่างการเกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรงและเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ซึ่งมักเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายพร้อมกันจนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น หากพบอาการผิดปกติใด ๆ โดยเฉพาะอาการที่รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

การป้องกันแองจีโออีดีมา

การป้องกัน Angioedema ที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุหรือสงสัยว่าก่อให้เกิดอาการแพ้ และผู้ป่วยอาจลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ซ้ำอีกหรือป้องกันอาการรุนแรงขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแแนะนำ ดังนี้

  • จดบันทึกไว้ว่าเกิดอาการบริเวณใดและเมื่อไหร่ รวมทั้งก่อนมีอาการรับประทานอะไรไปบ้าง เพื่อช่วยในการระบุสิ่งที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ
  • สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เนื้อผ้าเรียบนิ่ม ไม่หยาบกระด้าง เพื่อป้องกันการระคายเคืองผิว
  • ทำให้ผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการเย็นขึ้นด้วยการอาบน้ำเย็นหรือประคบเย็น เพื่อบรรเทาอาการคัน
  • ใช้ยาที่ช่วยลดอาการคันและบวมอย่างยาลอราทาดีน ยาเซทิไรซีน หรือยาไดเฟนไฮดรามีน