แพ้แดด (Sun Allergy)

ความหมาย แพ้แดด (Sun Allergy)

แพ้แดด (Sun Allergy) เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด ส่งผลเกิดผื่น รอยแดง แผลพุพอง หรืออาการอื่นบริเวณผิวหนังหลังจากโดนแดดได้ไม่นาน ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นผลมาจากการใช้ยาบางชนิดหรือเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม

อาการแพ้แดดแบ่งออกเป็นหลายชนิดย่อยและอาจมีความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละคน การรักษาจึงจะขึ้นอยู่กับชนิดของอาการแพ้แดดเป็นหลัก หากพบว่าผิวเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติหลังโดนแดดควรไปพบแพทย์

แพ้แดด (Sun Allergy)

อาการแพ้แดด 

ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแพ้แดดแตกต่างกันไปตามสาเหตุ โดยอาการอาจเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่นาทีหรือชั่วโมงหลังการสัมผัสแสงแดดในบริเวณที่ผิวโดนแสงแดด ได้แก่ หลังคอ แขนและขา หากอาการรุนแรงอาจมีอาการเกิดขึ้นในร่มผ้าร่วมด้วย เช่น

  • เกิดรอยแดงบนผิวหนัง
  • เจ็บหรือคัน
  • เกิดตุ่มสิว ตุ่มนูนเล็ก ๆ และอาจรวมกันกลายเป็นรอยปื้น
  • ผื่นแดงลอก ขุย ตกสะเก็ดหรือมีเลือดออก
  • เป็นแผลพุพอง มีอาการลมพิษหรือผื่นคัน
  • ปวดแสบปวดร้อนและรู้สึกคล้ายโดนแมลงต่อย

อย่างไรก็ตาม ควรพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังหลังโดนแดด ในกรณีที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง ควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกวิธี

สาเหตุของแพ้แดด

อาการแพ้แดดยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยคาดกันว่าอาจเกี่ยวข้องกับการใช้ยาหรือสารบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาต้านฮิสทามีน (Antihistamines) ยาเคมีบำบัด ยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ยาขับปัสสาวะ ยารักษาเบาหวาน สารเคมีในน้ำหอม น้ำยาฆ่าเชื้อและสารเคมีบางชนิดที่อยู่ในครีมกันแดด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากจะแบ่งตามชนิดย่อยของอาการแพ้ สาเหตุของอาการแพ้แดดที่พบได้มีดังนี้

ผื่นแพ้จากแสงแดด (Polymorphic Light Eruption หรือ PMLE)

เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการครั้งแรกในช่วงวัยรุ่น โดยจะมีอาการแพ้ตามผิวหนังในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังโดนแสงแดด อย่างการเกิดรอยไหม้ ผื่นคันหรือรอยโรคตุ่มน้ำพอง

แอคตินิก พรูไรโก (Actinic Prurigo)

ผู้ป่วยจะมีแผลน้ำเหลืองตกสะเก็ดแห้งคันเป็นอย่างมาก โดยเป็นความผิดปกติของผิวหนังที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ซึ่งอาการแพ้แดดชนิดนี้จะมีอาการที่รุนแรงกว่าการแพ้แดดชนิดอื่นและอาการอาจปรากฎตั้งแต่วัยเด็ก

ผื่นแพ้แสงและสารเคมี (Photoallergic Reaction)

อาการจะเริ่มแสดงให้เห็นเมื่อผิวหนังของผู้ป่วยสัมผัสสารเคมีและมีปฏิกิริยาที่ไวต่อแสงแดด อย่างครีมกันแดด เครื่องสำอางหรือน้ำหอม โดยมักแสดงอาการเมื่อเวลาผ่านไป 2–3 วัน

โรคลมพิษจากแสงแดด (Solar Urticaria) 

เป็นชนิดที่พบได้น้อย ความรุนแรงของอาการมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลันที่อาจส่งผลให้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยจะมีอาการผื่นคันปรากฎหลังจากโดนแดดเพียงไม่กี่นาที

นอกจากนี้ บางคนอาจมีปัจจัยบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาแพ้แดด เช่น

  • มีผิวขาว
  • มีอาการแพ้จากสารบางอย่างที่ผิวหนังอยู่ก่อนโดนแดด อาทิ น้ำหอม น้ำยาฆ่าเชื้อหรือสารเคมีในครีมกันแดด
  • ใช้ยาบางชนิดที่อาจส่งผลให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดมากขึ้น เช่น ยาเตตราไซคลีน (Tetracyclines) ยากลุ่มซัลฟา (Sulfa Drugs) ยาคีโตโปรเฟน (Ketoprofen) เป็นต้น
  • เป็นโรคผิวหนังอักเสบ หรือมีอาการป่วยด้วยโรคผิวหนังชนิดอื่น
  • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการป่วยด้วยอาการแพ้แดด

การวินิจฉัยอาการแพ้แดด 

แพทย์จะวินิจฉัยอาการแพ้แดดจากการสอบถามประวัติทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติบริเวณผิวหนังของทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ตรวจร่างกายร่วมกับตรวจบริเวณผิวหนัง หลังจากนั้น แพทย์อาจตรวจวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย เช่น

  • การทดสอบด้วยแสง (Phototesting) เพื่อตรวจดูปฏิกิริยาความไวต่อแสงแดดของผิวหนัง แพทย์จะฉายแสงไปยังบริเวณผิวหนังปกติ โดยใช้ปริมาณและชนิดแสงที่แตกต่างกันและตรวจดูความไวของผิวหนังต่อการไหม้แดด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถระบุได้ว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้แดดชนิดใด
  • ทดสอบผื่นแพ้สัมผัส (Photopatch Test) ร่วมกับแสง เพื่อทดสอบอาการแพ้แดดที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสสารใด ๆ ก่อนโดนแดด ซึ่งแพทย์จะใช้สารที่มักเป็นสาเหตุของการแพ้แดดมาทาบนผิวหนังโดยตรงเพื่อทดสอบ
  • การตรวจในห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (Complete Blood Count: CBC) การตรวจสารภูมิต้านทานชนิด Antinuclear Antibody (ANA) และ Extractable Nuclear Antigens (ENA) และการตรวจดูค่าพอร์ไฟเรีย (Porphyria) ในเลือด ปัสสาวะและอุจจาระ รวมถึงการตรวจเลือดและตัวอย่างผิวหนังหากแพทย์สงสัยว่าอาจเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคอื่น อย่างโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus)

การรักษาอาการแพ้แดด 

แพทย์จะรักษาอาการแพ้แดดด้วยวิธีต่อไปนี้

การดูแลตนเอง

ผู้ที่มีอาการแพ้แดดสามารถดูแลตนเองได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด โดยเฉพาะช่วงที่แดดแรงมากที่สุดประมาณ 10.00–16.00 น. และรังสียูวีในร่ม อย่างแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์หรือรังสีที่ตามองเห็น
  • ใช้ฟิล์มกรองแสงติดกระจกภายในบ้านและรถยนต์
  • พูดคุยและขอคำแนะนำจากแพทย์หากมีการใช้ยาที่ส่งผลให้ผิวไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติ
  • เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวด้วยการทาโลชั่น โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการแพ้
  • ทาครีมกันแดดที่มีคุณสมบัติกันน้ำและมีค่า SPFตั้งแต่ระดับ 30 ขึ้นไป
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยลดการระคายเคือง เช่น คาลาไมน์ (Calamine Lotion) หรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้

การใช้ยา

เบื้องต้นจะเป็นการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) โดยมีทั้งยาที่หาซื้อได้เองและยาตามใบสั่งแพทย์ หากผู้ป่วยมีอาการแพ้อย่างรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทานยาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ อย่างยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) และผู้ที่มีอาการแพ้แดดบางชนิดอาจต้องรับประทานยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) เพื่อรักษาอาการที่เกิดขึ้น

การบำบัด

แพทย์จะค่อย ๆ ปรับให้ผิวของผู้ป่วยคุ้นชินกับแสงแดดในผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง และอาจทำการส่องไฟ (Phototherapy) ด้วยการใช้โคมไฟชนิดพิเศษส่องผิวบริเวณที่โดนแดดเป็นประจำ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องใช้เวลาในการส่องไฟ 2–3 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ติดต่อกัน

ภาวะแทรกซ้อนของอาการแพ้แดด 

ผู้ป่วยแพ้แดดอย่างรุนแรงอาจเกิดภาวะซึมเศร้าหรือแยกตัวออกจากสังคม เนื่องจากไม่สามารถออกไปกลางแจ้งได้หากไม่ได้ปกปิดผิวทั่วร่างกาย และผู้ป่วยแพ้แดดชนิดลมพิษที่รุนแรงจากแสงแดดอาจมีอาการหมดสติ หลอดลมหดตัวจากภูมิแพ้แบบฉับพลัน

การป้องกันอาการแพ้แดด 

ผู้ที่มีผิวไวต่อแสงสามารถป้องกันอาการแพ้แดดได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดแรงในช่วงเวลา 10.00–16.00 น.
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ช่วยปกปิดร่างกายเมื่อต้องเจอแสงแดด อย่างเสื้อแขนยาว หมวกปีกกว้าง สวมแว่นตาดำ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการใส่ผ้าบางหรือผ้าที่มีช่องทอห่าง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดอย่างกะทันหันในปริมาณมาก แต่ค่อย ๆ เพิ่มเวลาในการสัมผัสแสงแดดเพื่อให้เซลล์ผิวได้ปรับตัว
  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF อย่างน้อย 30 อยู่เสมอ หากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้บริเวณผิวหนัง