หัวนมบอด เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

หัวนมบอด เป็นภาวะที่หัวนมยุบลงไปในเต้านมหรือแบนเรียบไปกับเต้านม โดยผู้ที่มีภาวะนี้ส่วนใหญ่มักเป็นมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งในกรณีนี้มักไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาใด ๆ ตามมา หรืออาจเพียงส่งผลให้คุณแม่ที่มีลูกเล็กให้นมลูกได้ลำบากขึ้น

ภาวะหัวนมบอดสามารถเกิดขึ้นได้กับเต้านมทั้งสองข้าง โดยอาจเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจจะเกิดขึ้นพร้อมกัน 2 ข้างก็ได้ โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ของภาวะหัวนมบอด และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์ เพื่อที่ผู้ที่กำลังมีภาวะนี้อยู่จะได้ทำความเข้าใจและรับมือได้อย่างถูกต้อง

หัวนมบอด เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

รู้จักกับระดับความรุนแรงของภาวะหัวนมบอด

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับสาเหตุและวิธีรับมือกับภาวะหัวนมบอด ควรทำความรู้จักกับระดับความรุนแรงของภาวะหัวนมบอดกันก่อน โดยระดับความรุนแรงของภาวะหัวนมบอดสามารถแบ่งออกได้อย่างคร่าว ๆ เป็น 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ดังนี้

ระดับที่ 1
ในระดับนี้ ผู้ที่มีหัวนมบอดจะยังสามารถดึงหัวนมที่บอดออกมาได้ หรือหัวนมจะออกมาได้เองขณะที่ถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความหนาวเย็น หรือการสัมผัส โดยในกรณีนี้ สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกจะยังสามารถให้นมลูกได้อยู่ อย่างไรก็ตาม หัวนมที่ออกมานั้นมักอยู่เป็นปกติได้เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นก่อนจะสู่สภาพเดิม

ระดับที่ 2
ในระดับนี้ ผู้ที่มีหัวนมบอดจะยังสามารถดึงหัวนมที่บอดออกมาได้เช่นกัน แต่ทันทีที่ปล่อยมือ หัวนมมักจะกลับสู่สภาพเดิมทันที โดยผู้ที่มีหัวนมบอดในกลุ่มนี้ที่เป็นคุณแม่ที่ให้นมลูกจะยังสามารถให้นมลูกได้อยู่ แต่อาจจะทำได้ค่อนข้างยากกว่าในระดับแรก

ระดับที่ 3
ในระดับนี้ จะเป็นระดับที่ไม่สามารถดึงหัวนมออกมาได้เลย ซึ่งหากเป็นคุณแม่ที่ให้นมลูกอาจพบว่า คุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดหัวนมบอด

หัวนมบอดสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างที่อาจเป็นไปได้ เช่น

  • เป็นโดยกำเนิด โดยอาจเกิดจากการที่ฐานหัวนมมีขนาดเล็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรือการเจริญเติบโตของท่อน้ำนมมีปัญหา
  • อายุเพิ่มขึ้น เมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่ช่วงอายุประมาณ 30 ปี ท่อน้ำนมจะมักค่อย ๆ หดตัวลง จนอาจนำไปสู่ภาวะหัวนมบอดได้
  • เกิดการบาดเจ็บบริเวณเต้านม เช่น ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด หรือการให้นม จนส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณท่อน้ำนมเกิดความเสียหาย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวนมบอดได้
  • ภาวะท่อน้ำนมโป่งพอง (Mammary Duct Ectasia) ภาวะนี้มักพบได้ในผู้หญิงอายุประมาณ 45–55 ปี โดยภาวะนี้เป็นภาวะที่ท่อที่ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำนมเกิดการขยายตัวและอุดตัน ซึ่งนอกจากจะอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวนมบอดแล้ว ผู้ที่มีภาวะนี้ยังอาจสังเกตพบอาการปวดและแดงบริเวณหัวนม และมีของเหลวสีขาว เขียว หรือดำไหลออกมาจากหัวนม
  • เกิดการติดเชื้อ ท่อน้ำนมที่เกิดการติดเชื้ออาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวนมบอดได้ โดยผู้ที่ใกล้เข้าสู่ช่วงวัยทองจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้มากขึ้น ซึ่งอาการที่มักเกิดขึ้นร่วมกับหัวนมบอดก็เช่น อาการแดง ปวด และร้อนบริเวณเต้านม มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม และเกิดก้อนในเต้านม 
  • มะเร็งเต้านม ผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจพบว่า หัวนมข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างยุบเข้าไปอย่างฉับพลัน รวมถึงอาจพบอาการคลำพบก้อนในเต้านม หรือผิวหนังบริเวณเต้านมเกิดการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ผู้ที่มักสูบบุหรี่เป็นประจำอาจมีโอกาสเกิดภาวะหัวนมบอดได้มากขึ้น เนื่องจากบุหรี่ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ที่สูบเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

รับมือกับภาวะหัวนมบอดอย่างไร

โดยปกติแล้ว ผู้ที่มีปัญหาหัวนมบอดมาตั้งแต่กำเนิดและไม่มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วยมักไม่มีปัญหาทางร่างกาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใด ๆ แต่หากรู้สึกเป็นกังวล หรือคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรที่พบว่าให้ลูกดื่มนมได้ลำบาก อาจจะไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและให้แพทย์แนะนำการรักษาที่เหมาะสม

โดยแพทย์อาจแนะนำวิธีการจัดการกับปัญหาหัวนมบอดให้กับผู้ที่มีปัญหาแต่ละคนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและดุลยพินิจของแพทย์แต่ละคน เช่น

  • ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่มีหัวนมบอดใช้วิธีสัมผัสหรือนวดบริเวณเต้านมบ่อย ๆ
  • สำหรับผู้ให้นมบุตร แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณแม่ให้นมลูกบ่อยขึ้น
  • การผ่าตัด ในบางกรณี การผ่าตัดก็เป็นอีกวิธีที่แพทย์อาจพิจารณาใช้รักษาปัญหาหัวนมบอดเช่นกัน แต่แพทย์อาจต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ทั้งนี้ นอกจากการผ่าตัด วิธีการรักษาหัวนมบอดที่กล่าวไปอาจจำเป็นต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหานี้ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลการรักษาที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ในบางกรณี การผ่าตัดก็เป็นอีกวิธีที่แพทย์อาจพิจารณาใช้รักษาปัญหาหัวนมบอดเช่นกัน แต่แพทย์อาจต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ส่วนผู้ที่พบว่าภาวะหัวนมบอดเกิดขึ้นในภายหลัง โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รอบหัวนมมีสีเปลี่ยนไป พบก้อนในเต้านม มีของเหลวไหลออกมา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม โดยการรักษา แพทย์จะพิจารณาวิธีจากสาเหตุ เช่น การให้เคมีบำบัดหรือการผ่าตัด หากผู้ป่วยมีสาเหตุมาจากโรคมะเร็งหรือเกิดเนื้องอก