มะเร็งทวารหนัก

ความหมาย มะเร็งทวารหนัก

มะเร็งทวารหนัก คือ การเกิดเนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็งขึ้นบริเวณทวารหนัก ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมต่อมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหรือลำไส้ตรง ผู้ป่วยมักมีอาการถ่ายเป็นเลือด ปวดและคันบริเวณทวารหนัก เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้ค่อนข้างน้อย

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัด การฉายแสง เป็นต้น แต่หากปล่อยไว้ มะเร็งอาจลุกลามไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกายและเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ โดยโอกาสในการรักษาให้หายขาดนั้นขึ้นอยู่กับความเร็วในการตรวจพบด้วย

อาการของมะเร็งทวารหนัก

อาการหลักของมะเร็งทวารหนักมักคล้ายกับอาการของโรคริดสีดวงทวารหรือโรคในระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ คือ มีเลือดออกทางทวารหนัก และอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระด้วย รวมถึงอาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ขับถ่ายผิดปกติ
  • มีก้อนเนื้อบริเวณทวารหนัก
  • ปวดบริเวณทวารหนัก หรืออาจมีอาการคันร่วมด้วย
  • อุจจาระมีขนาดเล็กและเรียวบาง
  • มีสารคัดหลั่งไหลออกจากทวารหนักอย่างเรื้อรัง

เนื่องจากอาการส่วนใหญ่คล้ายกับโรคทางเดินอาหารอื่น ๆ จึงทำให้การวินิจฉัยมะเร็งทวารหนักเป็นไปได้ช้า แต่หากผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อความรวดเร็วในการตรวจพบโรคและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาด้วย

1790 มะเร็งทวารหนัก rs

สาเหตุของมะเร็งทวารหนัก

สาเหตุหลักมักเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีที่เป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น มะเร็งปากมดลูก และหูดที่อวัยวะเพศ เป็นต้น ซึ่งจะติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งทวารหนัก คือ HPV-16 และ HPV-18

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดมะเร็งทวารหนักได้ ดังนี้

  • มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • สูบบุหรี่
  • มีประวัติเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด หรือมะเร็งช่องคลอด
  • มีปัญหาภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เคยผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
  • มีพฤติกรรมทางเพศในทางที่เสี่ยง เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เป็นต้น

การวินิจฉัยมะเร็งทวารหนัก

การวินิจฉัยในเบื้องต้นจะเริ่มจากการสอบถามประวัติของคนไข้ ทั้งประวัติการป่วย การใช้ยา ประวัติที่เกี่ยวกับการเกิดโรคมะเร็ง หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง จากนั้นจะมีการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจทางทวารหนักด้วยนิ้วมือ แพทย์จะตรวจโดยใช้นิ้วสอดเข้าไปในทวารหนัก เพื่อคลำหาก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติ ซึ่งจะทำให้แพทย์วินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาในขั้นต่อไปได้
  • การตรวจเลือด เป็นการนำตัวอย่างเลือดไปตรวจดูความสมบูรณ์ของเลือด ได้แก่ ปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด รวมถึงตรวจหาสารเคมีต่าง ๆ ในเลือด ซึ่งอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกายหรือสัญญาณของการติดเชื้อต่าง ๆ
  • การตรวจอัลตราซาวด์ จะใช้เครื่องมือขนาดเล็กสอดเข้าไปทางทวารหนักและปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพขึ้นมา โดยแพทย์จะตรวจบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก เพื่อหาก้อนเนื้อหรือความผิดปกติอื่น ๆ
  • การส่องกล้อง เป็นการตรวจหาความผิดปกติภายในทวารหนักและลำไส้ใหญ่ด้วยการใช้กล้องขนาดเล็กสอดเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อดูว่ามีเลือดออก ก้อนเนื้อ หรือความผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่
  • การตรวจชิ้นเนื้อ ในกรณีที่พบความผิดปกติของทวารหนัก เช่น พบก้อนเนื้อ หรือมีเลือดออก เป็นต้น แพทย์จะตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อในบริเวณที่มีความผิดปกติไปตรวจโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์

ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งทวารหนักแล้ว แพทย์อาจต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อดูว่าเซลล์มะเร็งกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายหรือไม่ ดังนี้

  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เป็นการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ฉายรังสีไปยังบริเวณที่สงสัยว่ามีความผิดปกติ จากนั้นโปรแกรมจะสร้างภาพเสมือนที่ช่วยให้แพทย์เห็นรายละเอียดภายในได้ชัดเจนขึ้น เพื่อดูว่าเซลล์มะเร็งที่ทวารหนักนั้นแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง กระดูกเชิงกราน ช่องท้อง ปอด หรืออวัยวะอื่น ๆ หรือไม่
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เป็นการใช้คลื่นวิทยุและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างภาพเสมือนของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย เพื่อให้แพทย์สามารถวิเคราะห์การลุกลามของเซลล์มะเร็งได้
  • การเอกซเรย์ปอด เพื่อตรวจดูการทำงานของปอดและการลุกลามของเซลล์มะเร็ง
  • การตรวจต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะตรวจความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองในกรณีที่คาดว่าเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปถึงต่อมน้ำเหลือง

การรักษามะเร็งทวารหนัก

แพทย์จะพิจารณาการรักษาตามปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระยะและความรุนแรงของมะเร็ง การตอบสนองของร่างกายต่อการรักษา สุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น โดยวิธีการรักษาหลัก ๆ มีดังนี้

การทำเคมีบำบัด

การทำเคมีบำบัดหรือที่เรียกว่า คีโม เป็นการรักษาด้วยยา โดยอาจฉีดยาเข้าทางเส้นเลือดโดยตรงหรือให้ผู้ป่วยกินยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็ส่งผลให้เซลล์สุขภาพดีถูกทำลายไปด้วย จึงอาจเกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง เป็นต้น

การฉายรังสี

การรักษานี้เป็นการฉายรังสีพลังงานสูงไปยังบริเวณที่เป็นมะเร็ง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งในบริเวณนั้น มักใช้รักษาควบคู่กับการทำเคมีบำบัดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้เนื้อเยื่อใกล้เคียงถูกทำลายไปด้วย และอาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวหนังเป็นแผลหรือเกิดรอยแดง

การผ่าตัด

เป็นการตัดเนื้อเยื่อที่มีเซลล์มะเร็งออก แต่เนื้อเยื่อที่ดีในบริเวณใกล้เคียงก็อาจโดนตัดออกไปด้วย ส่วนใหญ่ใช้วิธีนี้ในกรณีที่มะเร็งทวารหนักมีขนาดเล็กและยังเป็นในระยะเริ่มต้น โดยการผ่าตัดรักษามะเร็งมีหลายรูปแบบ ซึ่งแพทย์จะวิเคราะห์จากอาการของผู้ป่วยและเลือกเทคนิคการผ่าตัดที่เหมาะสมมาใช้กับผู้ป่วยแต่ละราย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งมักได้รับผลข้างเคียงจากทั้งอาการป่วยและวิธีการรักษา จึงอาจทำให้มีสภาพจิตใจที่แย่ลง และอาจมีผลต่อการรักษาได้ ดังนั้น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การแพทย์ทางเลือกร่วมด้วย ซึ่งจะเน้นรักษาผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด อาการนอนไม่หลับ เป็นต้น โดยแพทย์อาจแนะนำวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย เช่น การนั่งสมาธิ การนวดผ่อนคลาย การฝังเข็ม การใช้ดนตรีบำบัดการรำไทชิ การออกกำลังกาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งนั้นไม่สามารถรักษาให้หายได้ภายในครั้งเดียว แต่ผู้ป่วยต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องและอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ โดยแพทย์อาจนัดติดตามผลอย่างต่อเนื่องประมาณ 5 ปีหลังการรักษา เพื่อตรวจสุขภาพและฟื้นฟูอาการที่เป็นผลข้างเคียงของการรักษาด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งทวารหนัก

มะเร็งทวารหนักอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ โดยเฉพาะตับและปอด ซึ่งจะทำให้การรักษายากขึ้น แต่โอกาสที่จะแพร่กระจายนั้นก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งทวารหนักอาจเสี่ยงกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้งในบริเวณอื่น ๆ ภายในร่างกาย

การป้องกันมะเร็งทวารหนัก

แม้ยังไม่สามารถป้องกันโรคมะเร็งทวารหนักได้โดยสมบูรณ์ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่โดยทั่วไปอาจลดความเสี่ยงของโรคได้ ดังนี้

  • ไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งทวารหนัก อีกทั้งยังทำให้สุขภาพแย่ลงทั้งตนเองและคนรอบข้าง ดังนั้น ไม่ควรสูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่ และไม่อยู่ในบริเวณที่เสี่ยงได้รับควันบุหรี่มือสอง
  • เลี่ยงพฤติกรรมทางเพศในเชิงเสี่ยง การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศอาจช่วยลดปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งทวารหนักได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อเอชพีวีและเชื้อเอชไอวี เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่ใช้ถุงยางอนามัย มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เป็นต้น รวมทั้งควรเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี การฉีดวัคซีนอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีบางชนิด จึงอาจช่วยลดโอกาสการติดเชื้อที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็งทวารหนักได้
  • ดูแลสุขภาพ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และไปพบแพทย์เมื่อมีอาการป่วย มีข้อสงสัย หรือกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเผชิญโรคมะเร็งทวารหนัก เช่น สูบบุหรี่ มีอายุมาก จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เคยป่วยด้วยโรคมะเร็งหรือมีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ เป็นต้น