ยาคลายกล้ามเนื้อ

ยาคลายกล้ามเนื้อ

ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxants หรือ Skeletal Muscle Relaxants) คือกลุ่มยาที่ใช้ลดหรือผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ ยาส่วนใหญ่จะมีผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อ ในขณะที่ยาบางตัวมีผลต่อการทำงานของสมองและระบบประสาทบริเวณไขสันหลังที่ใช้ควบคุมกล้ามเนื้อ ซึ่งส่วนมากเป็นยาที่แพทย์สั่งจ่าย แต่ก็มีบางชนิดหาซื้อได้เอง

ยาคลายกล้ามเนื้อแบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อหดตัว (Muscle Spasm) ชั่วคราวและเรื้อรัง เช่น ปวดหัวจากความเครียด ปวดหลังเรื้อรัง และกลุ่มที่ใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งหรือแข็งตัว (Spasticity) จากโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน

ยาคลายกล้ามเนื้อ

ยาคลายกล้ามเนื้อแบ่งเป็น 3 ชนิดหลักด้วยกัน ได้แก่

  • ยาหย่อนกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Blocking Agents) จะออกฤทธิ์กับตัวรับแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ไปกีดขวางการทำงานของสารสื่อประสาทที่มีผลต่อกล้ามเนื้อ โดยอาจใช้ยากลุ่มนี้ร่วมในขั้นตอนการให้ยาสลบ เพื่อคลายกล้ามเนื้อไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวในระหว่างที่แพทย์ทำการผ่าตัด
  • ยาคลายกล้ามเนื้อสูตรผสม (Skeletal Muscle Relaxant Combinations) ซึ่งมีส่วนผสมของยาคลายกล้ามเนื้อและยาแก้ปวดรวมกันอยู่ในเม็ดเดียว ยาจะช่วยลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อลาย ทำให้กล้ามเนื้อที่หดคลายตัวลง มักใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดตัว หรือภาวะที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
  • ยาคลายกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Skeletal Muscle Relaxants) เป็นยาที่ใช้ลดหรือผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ ตัวยาจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของระบบประสาทสมองและไขสันหลัง ซึ่งจะลดและป้องกันการเกิดปฏิกิริยาของกล้ามเนื้อจนเกิดอาการกล้ามหดเกร็งหรือแข็งตัวจากการรับสารสื่อประสาท

ปริมาณการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ

แพทย์อาจจ่ายยาคลายกล้ามเนื้อให้ตามความเหมาะสมของอาการ ซึ่งอาจมีขนาดและวิธีการใช้ยาแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ควรศึกษารายละเอียดทุกครั้งก่อนใช้ยา และใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ

ตัวอย่างการใช้ยาในกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น 

ไดอะซีแพม (Diazepam)

ไดอะซีแพมเป็นยานอนหลับชนิดหนึ่ง แม้ไม่ได้ออกฤทธิ์โดยตรงต่อกล้ามเนื้อ แต่ออกฤทธิ์ต่อสารเคมีในสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกผ่อนคลายและทำให้ง่วงนอน นอกจากนี้ ยังใช้รักษาอาการชัก และภาวะวิตกกังวลได้ด้วย

รูปแบบยา: ยาเม็ด ยาน้ำ ยาสวนทางทวาร และยาฉีด 

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาไดอะซีแพม

โบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin)

โบทูลินัม ท็อกซิน หรือโบทอกซ์ (Botox) ใช้ปิดกั้นสารสื่อประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ นอกจากการใช้เพื่อศัลยกรรมความงาม ยังสามารถใช้รักษาในผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง (Cervical Dystonia) ภาวะกล้ามเนื้อหดตัวในบริเวณต่าง ๆ และภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis)

รูปแบบยา: ยาฉีด 

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาโบทูลินัม ท็อกซิน

บาโคลเฟน (Baclofen) 

บาโคลเฟนเป็นยาคลายกล้ามเนื้อและแก้อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ มักใช้รักษาอาการหดเกร็ง หรือกล้ามเนื้อแข็งตัวจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือรักษาผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อหดเกร็งจากการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลังได้ด้วย

รูปแบบยา: ยาเม็ด ยาน้ำ และยาฉีดเข้าช่องไขสันหลัง

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาบาโคลเฟน

แดนโทรลีน (Dantrolene) 

แดนโทรลีนช่วยรักษาระดับแคลเซียมในกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ และช่วยป้องกันหรือลดอุณหภูมิร่างกายไม่ให้เพิ่มสูงจนเกินไป เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากภาวะไข้สูงอย่างรุนแรง (Malignant Hyperthermia) ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตจากการใช้ยาสลบ โดยอาจใช้ก่อนหรือหลังการให้ยาสลบและการผ่าตัด หรืออาจใช้ในกรณีอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

รูปแบบยา: ยารับประทาน และยาฉีดเข้าเส้นเลือด

การใช้ยาป้องกันภาวะไข้สูงอย่างรุนแรง

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยา 4–8 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งเป็น 3–4 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 1–2 วันก่อนการผ่าตัด โดยรับประทานยาครั้งสุดท้ายประมาณ 3–4 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
  • ผู้ใหญ่และเด็ก ฉีดยา 2.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยเริ่มให้ประมาณ 75 นาทีก่อนการผ่าตัด และอาจให้ยาระหว่างการผ่าตัด หากผู้ป่วยแสดงอาการของภาวะไข้สูงอย่างรุนแรง

การใช้ยารักษาภาวะไข้สูงอย่างรุนแรง

  • ผู้ใหญ่และเด็ก ฉีดยา 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และอาจให้เพิ่มได้สูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

การใช้ยารักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งรุนแรงและเรื้อรัง

  • ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 25 มิลลิกรัม และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นและใช้ต่อกันครั้งละ 7 วัน นาน 7 สัปดาห์ โดยอาจเริ่มจากวันละ 25 มิลลิกรัม จากนั้นเพิ่มปริมาณยาเป็นครั้งละ 25 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 7 วัน และเพิ่มเป็นครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ต่อเนื่องกันอีก 7 วัน และเพิ่มเป็นครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 3–4 ครั้ง เป็นต้น
  • เด็กอายุมากกว่า 5 ปี รับประทานวันละ 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นเพิ่มเป็นครั้งละ 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 3 ครั้งต่อเนื่องกัน 7 วัน และเพิ่มเป็น 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 3 ครั้งอีก 7 วัน ต่อมาเพิ่มเป็นวันละ 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 3–4 ครั้ง

ปริมาณยาสูงสุดที่รับประทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่เกินวันละ 400 มิลลิกรัม หากเพิ่มปริมาณยาแล้วไม่ส่งผลดีต่ออาการ อาจปรับลดยาลงตามดุลยพินิจของแพทย์

ทิซานิดีน (Tizanidine)

ทิซานิดีนเป็นยาที่ออกฤทธิ์ปิดกั้นสารสื่อประสาทไม่ให้ส่งสัญญาณไปยังสมองที่จะกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดได้ ใช้ผ่อนคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อในระยะสั้น ต้องใช้ยาอย่างถูกต้องเคร่งครัดภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายตามมา

รูปแบบยา: ยาเม็ด

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาทิซานิดีน

ออร์เฟเนดรีน (Orphenadrine)

ออร์เฟเนดรีนใช้รักษาภาวะอาการเจ็บป่วยทางกล้ามเนื้อในระยะสั้น ๆ ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและบรรเทาความเจ็บปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยอาจใช้ยารักษาร่วมกับการทำกายภาพบำบัดและการให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเพียงพอ

รูปแบบยา: ยาเม็ด ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อและเข้าเส้นเลือด

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาออร์เฟเนดรีน

ไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine)

ไซโคลเบนซาพรีนใช้รักษาเจ็บปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งจากการบาดเจ็บ ออกฤทธิ์โดยปิดกั้นการทำงานของเส้นประสาทที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด มักใช้ร่วมกับการพักใช้งานกล้ามเนื้อ และการกายภาพบำบัด

รูปแบบยา : ยาเม็ด

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาไซโคลเบนซาพรีน

ยาลดการอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Antiinflammatory Drugs: NSAIDs)

ยากลุ่มนี้ช่วยยับยั้งการอักเสบ และบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการอักเสบ ซึ่งเป็นยาที่หาซื้อได้เอง ตัวอย่างยาที่เป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มนี้ คือ แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค และนาพร็อกเซน เป็นต้น

รูปแบบยา : ยาเม็ด ยาน้ำ

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยากลุ่ม NSAIDs

นอกจากนี้ สารที่สกัดจากกัญชาอาจจัดอยู่ในกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อด้วย แต่เป็นยาในกลุ่มควบคุมที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

คำเตือนและข้อควรระวังจากการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ

เพื่อการใช้ยาคลายกล้ามเนื้ออย่างปลอดภัย ผู้ใช้ยาควรปฏิบัติตามข้อแนะนำจากแพทย์ รวมถึงคำแนะนำต่าง ๆ ดังนี้ 

  • ไม่ควรใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเป็นการรักษาหลัก แต่ใช้เมื่อรักษาด้วยวิธีการอื่นแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น
  • ไม่ควรใช้ยาคลายกล้ามเนื้อในสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า และผู้ที่มีประวัติเคยใช้ยาเสพติดหรือเสพติดแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรใช้ยาหากมีประวัติอาการแพ้ส่วนผสมใด ๆ ในตัวยาชนิดนั้น
  • ยาคลายกล้ามเนื้อส่วนใหญ่มักมีผลข้างเคียงเป็นอาการง่วงนอน และอ่อนเพลีย จึงควรระมัดระวังในการทำกิจกรรมใด ๆ ควรหลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกับเครื่องจักร หรือการขับขี่ยานพาหนะในขณะใช้ยา
  • ยาคลายกล้ามเนื้อแต่ละชนิดมีส่วนผสมและการออกฤทธิ์แตกต่างกัน จึงควรศึกษาข้อมูลที่ระบุบนฉลากยาเกี่ยวกับวิธีการใช้ยา การเก็บรักษา และคำเตือนของยาแต่ละชนิดให้ดีก่อนใช้ยา
  • ต้องใช้ยาอย่างถูกต้องภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ไม่ใช้ยาเกินขนาด และสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ

โดยส่วนใหญ่ ยาคลายกล้ามเนื้ออาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหลังการใช้ยา คือ

  • อ่อนเพลีย เมื่อยล้า หมดแรง
  • ง่วงนอน ง่วงซึม
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ปากแห้ง
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • อาจเกิดการเสพติดจากการไม่ได้ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง หรือใช้ยาผิดจุดประสงค์ 

อย่างไรก็ตาม ยาคลายกล้ามเนื้อแต่ละชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป จึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการใช้ยาแต่ละชนิดให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรีบขอความช่วยเหลือหรือไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการที่เป็นสัญญาณของการแพ้ยา เช่น มีไข้สูง มีผดผื่นแดง หรือผื่นคัน หน้าบวม ปากบวม แขนขาบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน