ปากแตก

ความหมาย ปากแตก

ปากแตก เป็นภาวะที่ริมฝีปากแห้ง แตกเป็นขุย และอาจมีอาการเจ็บแสบร่วมด้วย มักเกิดขึ้นในช่วงที่สภาพอากาศหนาว แห้ง และมีลมแรง เนื่องจากริมฝีปากไม่มีต่อมไขมันที่สร้างน้ำมันให้ความชุ่มชื้นเหมือนผิวหนัง นอกจากนี้ การเลียริมฝีปากบ่อย ๆ และการใช้ยาบางชนิดก็อาจทำให้ปากแตกได้เช่นกัน แม้ว่าภาวะปากแตกจะพบได้ทั่วไป แต่กรณีที่มีอาการรุนแรงมากก็อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อจนริมฝีปากอักเสบได้ด้วย

1489 ปากแตก Resized

อาการปากแตก

อาการปากแตกโดยทั่วไปที่มีสาเหตุมาจากสภาพอากาศ การเลียริมฝีปาก และการใช้ยาบางชนิด มักมีอาการดังต่อไปนี้

  • ริมฝีปากแห้ง
  • ริมฝีปากแตกเป็นขุย หรือเป็นสะเก็ด
  • มีอาการเจ็บ แสบ บวม หรือมีเลือดออกบริเวณริมฝีปากที่แตก

สาเหตุของอาการปากแตก

ริมฝีปากไม่มีต่อมไขมันที่ช่วยสร้างน้ำมันเหมือนกับผิวหนัง จึงส่งผลให้ริมฝีปากแห้งและแตกได้ง่าย โดยอาการปากแตกอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • สภาพอากาศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่มีความชื้นต่ำและสภาพอากาศแห้ง
  • การเลียหรือกัดริมฝีปาก
  • การออกแดดบ่อย ๆ
  • ภาวะขาดน้ำ
  • ภาวะขาดสารอาหาร
  • การใช้ยาและอาหารเสริมบางขนิด เช่น วิตามินเอ เรตินอยด์ (Retinoids) และลิเทียม (Lithium) และยาเคมีบำบัด เป็นต้น

การวินิจฉัยอาการปากแตก

หากอาการปากแตกรุนแรงหรือไม่ดีขึ้นหลังพยายามรักษาด้วยตนเองแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์อาจสอบถามประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการใช้ยา พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปากแตก และตรวจริมฝีปากของผู้ป่วยเพื่อประเมินอาการจากรอยแตก สะเก็ด และอาการบวมแดงที่ปรากฏ

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้สำลีเช็ดบริเวณริมฝีปากเพื่อเก็บสะเก็ดตัวอย่างไปส่งตรวจหาสาเหตุที่ทำให้ปากแตก เช่น แบคทีเรีย หรือเชื้อรา เป็นต้น

การรักษาปากแตก

โดยทั่วไป ปัญหาปากแตกสามารถรักษาดูแลอาการให้หายได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งอาจทำตามวิธีดังต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำให้มากขึ้น เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปากแตก
  • บำรุงริมฝีปากด้วยการใช้ลิปบาล์มที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียม หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ริมฝีปากทุก ๆ ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการเลียริมฝีปาก เพราะเมื่อน้ำลายแห้งจะทำลายความชุ่มชื้นบนริมฝีปากได้
  • หากต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านในวันที่อากาศเย็น ควรปกป้องริมฝีปากด้วยการใส่ผ้าปิดปาก
  • หายใจทางจมูก เพราะการหายใจทางปากอาจทำให้ริมฝีปากแห้งและแตกได้
  • บางกรณีที่ปากแตกและมีการติดเชื้อ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อราในรูปแบบครีม ซึ่งผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปากแตก

อาการปากแตกอาจทำให้ริมฝีปากเกิดการอักเสบได้ ซึ่งอาจเกิดจากการระคายเคือง การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่เข้าสู่ร่างกายผ่านรอยแตกบนริมฝีปาก โดยเฉพาะหากเป็นโรคในช่องปากและมีการผลิตน้ำลายจากต่อมน้ำลายมากเกินไปก็ยิ่งมีความเสี่ยงปากแตกรุนแรงมากขึ้นจนริมฝีปากอักเสบได้

โดยผู้ป่วยที่ปากอักเสบจะมีอาการดังนี้

  • ปากแตกตรงมุมปาก และทั่วริมฝีปาก
  • ริมฝีปากมีสีแดงหรือสีชมพูเข้ม
  • ริมฝีปากแตกเป็นก้อน
  • ริมฝีปากลอกเป็นแผ่นขาว
  • มีแผลอักเสบ

การป้องกันอาการปากแตก

การป้องกันอาการปากแตกทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • ไม่กัดหรือเลียริมฝีปาก เพราะน้ำลายอาจทำลายความชุ่มชื้นบนริมฝีปากจนทำให้ปากแห้งและแตกได้
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ และรักษาความชุ่มชื้นของริมฝีปาก
  • ใช้ลิปบาล์มหรือผลิตภัณฑ์บำรุงที่เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ริมฝีปากเป็นประจำ โดยเลือกใช้ลิปชนิดที่มีค่าป้องกันแสงแดดด้วยหากต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง และหลีกเลี่ยงการใช้ลิปบาล์มที่มีกลิ่นหรือรส เพราะอาจทำให้เลียริมฝีปากบ่อยครั้งขึ้น
  • ปกป้องริมฝีปากโดยใช้ผ้าคลุมปากหากอยู่ในสภาพอากาศที่หนาวจัด
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น น้ำหอม และสีเคมีในเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เป็นต้น
  • ใช้เครื่องทำความชื้น เพื่อปรับสภาพอากาศภายในบ้านหรือที่ทำงานในช่วงฤดูหนาว