ปากนกกระจอก

ความหมาย ปากนกกระจอก

ปากนกกระจอก (Angular Cheilitis) คือ ภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นตรงมุมปาก โดยจะเกิดอาการเจ็บปาก ปากแห้งและแตก เป็นแผล อาจมีรอยแดง บวม และตึงที่มุมปากข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ผู้ป่วยอาจจะเกิดอาการของโรคนี้เพียง  2-3 วัน หรือนานกว่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดปากนกกระจอก

ปากนกกระจอก

อาการของปากนกกระจอก

ผู้ป่วยปากนกกระจอกมักเกิดอาการระคายเคือง เจ็บปากและปวดแสบปวดร้อนตรงมุมปาก ซึ่งอาจเกิดอาการดังกล่าวที่มุมปากข้างเดียวหรีอทั้ง 2 ข้างก็ได้ ทั้งนี้ บริเวณมุมปากที่เป็นอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • มีรอยแดงและเลือดออก
  • เกิดตุ่มพองขึ้นมา เป็นแผล มีของเหลวไหลเยิ้มออกมา หรือเกิดสะเก็ดแผลที่มุมปาก
  • ปากลอก รวมทั้งแห้งและแตก โดยปากอาจตึง ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบายปาก
  • รู้สึกคันระคายเคืองตรงมุมปากที่เป็น ทำให้ผู้ป่วยอาจรับประทานอาหารลำบากในกรณีที่เกิดอาการดังกล่าวอย่างรุนแรง อาจส่งผลให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือน้ำหนักตัวลดลง
  • เกิดอาการบวมบริเวณนั้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยปากนกกระจอกสามารถเกิดการติดเชื้อราที่ผิวหนัง หรือเกิดแผลติดเชื้อแบคทีเรียลามไปยังผิวหนังรอบ ๆ บริเวณที่เกิดโรคปากนกกระจอกได้

สาเหตุของปากนกกระจอก

โรคปากนกกระจอกส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งถือเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคนี้คือเชื้อแคนดิดา (Candida) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคผื่นผ้าอ้อมในเด็กทารก นอกจากนี้ โรคปากนกกระจอกยังเกิดจากสาเหตุอื่นได้ ดังนี้

  • น้ำลายจากการเลียปาก เนื่องจากน้ำลายจะหมักหมมอยู่บริเวณมุมปาก ทำให้ปากแห้งและแตก เมื่อเลียมุมปากที่แห้ง จะทำให้เชื้อราตรงแผลที่มีอยู่ก่อนแล้วเจริญและแบ่งเซลล์มากขึ้น จนนำไปสู่การติดเชื้อได้ โดยผู้ป่วยอาจเกิดการอักเสบที่ริมฝีปาก หรือเกิดผื่นแพ้จากการระคายเคือง (Irritant Contact Dermatitis) ร่วมด้วยได้
  • มุมปากตก เนื่องจากริมฝีปากบนคร่อมริมฝีปากล่างมากเกินไป ผิวหนังรอบปากห้อยลงมา เนื่องจากอายุมากขึ้นหรือน้ำหนักลดลง ทำให้รอยย่นที่มุมปากลึกมาก
  • เกิดการติดเชื้อที่ปาก ผู้ป่วยอาจติดเชื้อต่าง ๆ ที่ปาก โดยเชื้อนั้นได้ลุกลามขึ้น เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อราจากโรคเชื้อราในช่องปาก หรือเชื้อไวรัสจากโรคเริมที่ริมฝีปาก
  • ปากแห้งแตก

นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เสี่ยงเป็นโรคปากนกกระจอกได้สูง โดยปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคนี้ประกอบด้วย

  • มีเชื้อราในช่องปาก โดยมักเกิดกับเด็กทารกหรือผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวาน ได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือใช้ยาปฏิชีวนะ
  • ต้องใส่ฟันปลอม เนื่องจากการใส่ฟันปลอมนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาเหงือกร่น โดยเฉพาะฟันปลอมที่ไม่พอดีกับขนาดของช่องปาก
  • ได้รับการจัดฟัน เนื่องจากต้องใส่ยางสำหรับจัดฟัน ส่งผลให้มีน้ำลายล้นออกมาหมักหมมอยู่ที่มุมปากได้
  • ป่วยเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร (Inflammatory Bowel Disease: IBD) เช่น ลำไส้อักเสบ หรือโรคโครห์น (Crohn Disease)
  • ผิวแพ้ง่าย เช่น ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)
  • ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น รับประทานอาหารที่มีวิตามินบีหรือธาตุเหล็กน้อยเกินไป
  • ป่วยเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome)
  • รับประทานยาเรตินอยด์ เช่น รับประทายาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) เพื่อรักษาสิว หรือรับประทานยาอะซิเทรติน เพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงิน
  • ป่วยเป็นโรคอื่น ๆ เช่น ภาวะโลหิตจาง มะเร็งที่เกี่ยวกับเลือดหรือมะเร็งที่ไต ตับ ปอด หรือตับอ่อน รวมทั้งติดเชื้อเอชไอวีและโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันร่างกาย

การวินิจฉัยปากนกกระจอก

ผู้ป่วยโรคปากนกกระจอกจะได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคดังกล่าว โดยแพทย์จะตรวจปากของผู้ป่วย เพื่อดูว่ามีสะเก็ด รอยแดง อาการบวม หรือตุ่มพองที่ปากหรือไม่ รวมทั้งสอบถามอาการและพฤติกรรมของผู้ป่วยที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและป่วยเป็นโรคปากนกกระจอกได้

อย่างไรก็ตาม อาการอักเสบที่มุมปากอาจไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อจากโรคปากนกกระจอกเท่านั้น แต่อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคเริมที่ริมฝีปาก หรือโรคไลเคนพลานัส (Lichen Planus) แพทย์จึงอาจเก็บตัวอย่างของเชื้อจากมุมปากและจมูกของผู้ป่วยและนำส่งตรวจที่ห้องทดลอง เพื่อดูว่าอาการป่วยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราชนิดใด โดยหากเป็นปากนกกระจอก ผลการตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่งมักแสดงผลว่าผู้ป่วยติดเชื้อราแคนดิดา เชื้อสเตปฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) หรือเชื้อไวรัสโรคเริม (Herpes Simplex)

การรักษาปากนกกระจอก

โรคปากนกกระจอกสามารถรักษาได้ โดยแพทย์จะรักษาบริเวณที่ติดเชื้อของโรค รวมทั้งดูแลบริเวณที่แห้งและแตกไม่ให้กลับมาติดเชื้ออีก ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะได้รับยาเพื่อรักษาอาการตามประเภทของเชื้อที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว ซึ่งได้แก่ การรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา การรักษาด้วยยาต้านแบคทีเรีย และการดูแลรักษาอื่น ๆ ดังนี้

  • การรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา ผู้ป่วยปากนกกระจอกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อรา จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
    • ไมโคนาโซล (Miconazole) ยานี้ใช้รักษาเชื้อราแคนดิดาและเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก (Gram-Positive Cocci) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยควรทาครีมไมโคนาโซลตรงมุมปากที่เกิดการติดเชื้อวันละ 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ไม่ควรใช้ยานี้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการต้านฤทธิ์กันอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลให้มีเลือดออกมาก
    • ไนสแตนดิน (Nystatin) ผู้ป่วยจะรับประทานยานี้เพื่อรักษาการติดเชื้อราที่ปากหรือโรคเชื้อราในช่องปากหรือในทางเดินอาหาร โดยแพทย์จะให้ใช้ยาวันละ 4 ครั้ง อมไว้ปากให้นานก่อนกลืนลงไป ทารกควรงดน้ำและอาหารเป็นเวลา 5-10 นาทีหลังจากใช้ยานี้ ทั้งนี้ ตัวยาจะไม่ซึมเข้ากระแสเลือด
    • โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ยานี้ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับเชื้อรา ได้แก่ น้ำกัดเท้า ติดเชื้อราที่ขาหนีบ และกลาก โดยตัวยาจะส่งผลต่อเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อราให้สลายลง ส่งผลให้เชื้อราตายได้
    • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) มีสรรพคุณขัดขวางการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา อย่างไรก็ตาม แพทย์จะใช้ยาคีโตโคนาโซลรักษาผู้ป่วยในกรณีที่ตัวยาอื่นไม่สามารถรักษาอาการป่วยให้ทุเลาลง ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดังกล่าว ทั้งนี้ คีโตโคนาโซลอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับตับได้
  • การรักษาด้วยยาต้านแบคทีเรีย ผู้ป่วยที่เป็นโรคปากนกกระจอกซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย จะได้รับยาต้านเชื้อดังกล่าว โดยจะยกยาต้านแบคทีเรียที่ใช้รักษาปากนกกระจอกมาบางตัว ดังนี้
    • มิวพิโรซิน (Mupirocin) ยานี้ใช้รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง โดยตัวยายับยั้งการผลิตโปรตีนที่ใช้เลี้ยงแบคทีเรียบนผิวหนัง ผู้ป่วยโรคปากนกกระจอกที่ติดเชื้อจากโรคพุพอง
    • กรดฟูซิดิก (Fusidic Acid) ชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง เป็นยาต้านแบคทีเรียชนิดทาภายนอกที่รักษาการติดเชื้อผิวหนัง โดยอาจใช้รักษาเชื้อสแตปฟิโลค็อกคัส ออเรียส และเชื้อโครีนแบคทีเรียม (Corynebacterium) ยานี้ใช้รักษาโรคผิวหนังหลายโรค เช่น โรคพุพอง รูขุมขนอักเสบ ผู้ป่วยปากนกกระจอกที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ควรทายาที่ผสมกรดฟูซิดิกตรงบริเวณที่ติดเชื้อตามแพทย์สั่ง
  • การดูแลรักษาอื่น ๆ ผู้ป่วยปากนกกระจอกสามารถดูแลอาการของโรคด้วยยาหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ ดังนี้
    • น้ำยาฆ่าเชื้อ (Antiseptics) คือสารที่ใช้ยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ภายนอกร่างกาย และป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ แพทย์อาจจะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างแผลบริเวณที่ผิวหนังหรือเยื่อเมือกที่ได้รับความเสียหาย เพื่อทำความสะอาดและลดการติดเชื้อ
    • ยาสเตียรอยด์ชนิดทา ยานี้ถือเป็นยาที่ใช้ต้านอาการอักเสบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งใช้ยับยั้งอาการของโรคผิวหนังอักเสบและปัญหาอื่นเกี่ยวกับผิวหนัง มีทั้งแบบครีม ขี้ผึ้ง และแบบอื่น ๆ ยาสเตียรอยด์ชนิดทาจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ได้แก่ ต้านอาการอักเสบ กดภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจจะได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยอาจเกิดกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงกับผิวหนังในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้ผิวหนังแตกลาย มีเลือดออกและผิวหนังฉีกได้ง่าย หลอดเลือดขยายใหญ่ขึ้น
    • ผลิตภัณฑ์บำรุงความชุ่มชื้น ผู้ป่วยปากนกกระจอกที่ไม่ได้ติดเชื้อจากเชื้อราหรือแบคทีเรีย จะได้รับผลิตภัณฑ์ทาปากเพื่อบำรุงความชุ่มชื้นให้ผิว โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีหลายลักษณะ ได้แก่ น้ำมัน โลชั่น ครีม และขี้ผึ้ง ผลิตภัณฑ์บำรุงความชุ่มชื้นจะช่วยบรรเทาอาการปากแห้งแตกและรักษาอาการระคายเคืองผิวหนัง
    • อาหารเสริมอื่น ๆ ผู้ป่วยปากนกกระจอกที่ป่วยจากการขาดสารอาหาร โรคแพ้กลูเตน ขาดธาตุเหล็ก หรือขาดวิตามินบี 2 ควรรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินเสริม เพื่อช่วยบำรุงสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายให้เพียงพอ

การป้องกันปากนกกระจอก

โรคปากนกกระจอกสามารถป้องกันได้ โดยเริ่มจากการดูแลตัวเองไม่ให้มีปัญหาสุขภาพที่เสี่ยงเป็นโรคดังกล่าว ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

  • ไม่ควรกัดหรือเลียริมฝีปากเมื่อปากแห้งหรือแตก เนื่องจากการกัดปากจะทำให้เลือดออกและแผลหายได้ช้า ทั้งนี้ น้ำลายที่เลียริมฝีปากจะล้างความชุ่มชื้นของผิวหนังออกไป ส่งผลให้ปากแห้งกว่าเดิม
  • ควรทาลิปบาล์มที่ผสมเจลหรือขี้ผึ้งเป็นประจำเมื่อเกิดอาการปากแห้ง โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง
  • ผู้ที่ใส่ฟันปลอมควรหมั่นดูแลความสะอาดของฟันปลอมอยู่เสมอ รวมทั้งไม่ใส่ฟันปลอมขณะนอนหลับ
  • ผู้ป่วยโรคเชื้อราในช่องปากที่มีปัญหาสุขภาพอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าว เช่น ป่วยเป็นเบาหวาน ควรรักษาความสะอาดช่องปากและรับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้อาการของโรคแย่ลง
  • งดสูบบุหรี่