นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

ความหมาย นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Stone) คือก้อนของสารหรือแร่ธาตุที่ตกตะกอนจากปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ เกิดจากการที่มีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ โดยอาการจะรุนแรงแตกต่างกันออกไป เช่น ปวดท้อง หรือปัสสาวะมีเลือดปน อย่างไรก็ตาม ก้อนนิ่วที่มีขนาดเล็กจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะได้เองและไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่บางรายก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการรับประทานยาหรือผ่าตัด เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้ติดเชื้อหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

อาการนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะมักแสดงอาการเมื่อก้อนนิ่วทำให้ผนังของกระเพาะปัสสาวะเกิดการระคายเคืองหรือไปปิดกั้นการไหลของปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้มีอาการ ดังนี้

  • ปวดท้องส่วนล่าง
  • มีอาการปวดหรือรู้สึกไม่สบายที่อวัยวะเพศหรืออัณฑะ
  • มีอาการแสบขณะปัสสาวะ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ปัสสาวะลำบากหรือปัสสาวะติดขัด
  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ปัสสาวะขุ่นหรือปัสสาวะสีเข้มผิดปกติ

สาเหตุของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
สาเหตุของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะและมีการตกตะกอน หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อบางประเภท และภาวะบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ รวมไปถึงสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะก็ทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้เช่นกัน
ภาวะที่ทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะบ่อยที่สุด ได้แก่

  • ต่อมลูกหมากโต เพราะไปขวางกั้นการไหลของปัสสาวะทำให้ปัสสาวะออกมาได้ไม่หมดและตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
  • ภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจากระบบประสาท (Neurogenic Bladder) เพราะโดยทั่วไปสมองจะทำหน้าที่สั่งการกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะให้รัดหรือปล่อย ซึ่งหากเส้นประสาทสมองเกิดความเสียหายจากโรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บของไขสันหลัง หรือปัญสุขภาพอื่น ๆ อาจทำให้ปัสสาวะได้ไม่สุด

สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่

  • การอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือการบำบัดด้วยรังสีในบริเวณเชิงกราน
  • เกิดจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น การสวนปัสสาวะ เพราะอาจมีวัตถุที่อาจหลุดเข้าไปอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้ตะกอนก่อตัวบนวัตถุนั้น ๆ จนเกิดเป็นนิ่วได้
  • นิ่วไนไต ก้อนนิ่วที่ก่อตัวในไตอาจเคลื่อนลงมาทางท่อปัสสาวะและลงมาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ หากไม่ถูกขับออกอาจก่อตัวจนเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้
  • ภาวะกระเพาะปัสสาวะหย่อน (Cystocele) คือภาวะที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงและจะเกิดขึ้นเมื่อผนังของผนังกระเพาะปัสสาวะอ่อนแอและหย่อนลงสู่อวัยวะเพศ อาจไปปิดกั้นปัสสาวะไม่ให้ไหลออกจากกระเพาะปัสสาวะได้
  • โรค Bladder Diverticula เป็นถุงน้ำที่ออกมาทางผนังกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งหากถุงน้ำมีขนาดใหญ่เกินไปก็อาจทำให้ปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะได้
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาล เกลือ รวมทั้งได้รับอาหารที่มีวิตามิน เอ และวิตามิน บีต่ำ อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มน้ำน้อย

การวินิจฉัยนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
การวินิจฉัยนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้นมีหลายวิธี ได้แก่

  • ตรวจร่างกาย แพทย์อาจตรวจดูบริเวณท้องส่วนล่าง คลำดูว่ากระเพาะปัสสาวะขยายใหญ่ขึ้นหรือไม่ หรืออาจตรวจทางทวารหนักเพื่อดูว่าต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้นหรือไม่ รวมไปถึงสอบถามเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย
  • ตรวจปัสสาวะ นำตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเลือด แบคทีเรีย หรือผลึกของแร่ธาตุ ซึ่งจะช่วยให้พิจารณาได้ว่ามีการติดเชื้อทางเดินปัสสาววะหรือไม่ เพราะอาจเกิดจากนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (Computerized Tomography: CT) เป็นการเอกซเรย์ที่จะช่วยให้ได้ภาพของอวัยวะภายในร่างกายอย่างรวดเร็ว เพื่อตรวจจับก้อนนิ่วที่มีขนาดเล็กได้ และเป็นวิธีที่มีประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัยนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้หลายประเภท
  • อัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจอวัยวะและโครงสร้างส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งมีประโยชน์ช่วยตรวจจับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • เอกซเรย์ (X-ray) การเอกซเรย์ไต ท่อไตและกระเพาะปัสสาะวะ ช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาได้ว่ามีนิ่วอยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การเอกซเรย์อาจไม่สามารถทำให้เห็นนิ่วบางประเภทได้

การรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
การรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้นำออก เบื้องต้นอาจใช้วิธีดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้นิ่วที่มีขนาดเล็กออกมาตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม นิ่วในกระเพาะปัสสาวะมักเกิดจากกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถปัสสาวะออกไปจนหมดได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการทางการแพทย์เพื่อช่วยในการนำนิ่วออกจากระเพาะปัสสาวะ

วิธีที่มักใช้ในการนำนิ่วออกจากกระเพาะปัสสาวะเรียกว่าการขบนิ่ว (Cystolitholapaxy)เป็นการนำท่อขนาดเล็กที่มีกล้องตรงส่วนปลาย สอดเข้าไปทางท่อปัสสาวะเพื่อส่องดูนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นแพทย์จะใช้เลเซอร์ อัลตราซาวด์ หรือเครื่องมือบางอย่างเข้าไปสลายนิ่วให้แตกเล็กลงและล้างออกจากกระเพาะปัสสาวะ โดยวิธีนี้มักไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อน แต่อาจเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มีไข้ หรืออาจเกิดการฉีกขาดและมีเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะได้ ซึ่งก่อนและหลังขั้นตอนดังกล่าวแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ

นอกจากนั้น ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่หรือแข็งเกินกว่าที่จะทำให้แตกและกำจัดออกได้แพทย์จะผ่าตัดและนำนิ่วออกมาโดยตรง

ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อาจเกิดจากการที่ก้อนนิ่วไม่ได้ถูกขับออก ถึงแม้จะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  • กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่ผิดปกติเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากการเป็นก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและไม่ได้รับการรักษา จนเกิดปัญหาตามมา เช่น มีอาการปวดหรือปัสสาวะบ่อยครั้งผิดปกติ นอกจากนั้น ก้อนนิ่วอาจค้างอยู่บริเวณทางเปิดที่ปัสสาวะจะผ่านเข้าสู่ท่อปัสสาวะและปิดกั้นการผ่านของปัสสาวะ
  • ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ เนื่องจากการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือจากการผ่าตัด

การป้องกันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

การป้องกันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้นค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะมักจะเกิดจากสาเหตุอื่นนำมาก่อน เช่น การมีปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะ การติดเชื้อหรือมีสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินปัสสาวะ  อย่างไรก็ตาม อาจลดโอกาสการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ โดยปฏิบัติดังนี้

  • สังเกตความผิดปกติหรืออาการที่เกิดขึ้น เช่น ต่อมลูกหมากโต การมีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะจากโรคทางระบบประสาท หรือภาวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับระบบปัสสาวะ ซึ่งหากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้
  • ดื่มน้ำให้มาก เพราะน้ำจะช่วยเจือจางแร่ธาตุหรือสารที่เข้มข้นในกระเพาะปัสสาวะได้ โดยปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละวันนั้นขึ้นอยู่กับอายุ ขนาดตัว สุขภาพ หรือกิจกรรมในแต่ละวัน อาจปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับตนเองได้