การนอนกัดฟัน (Bruxism) เป็นภาวะเมื่อเกิดการบด กัด หรือขบเน้นฟัน ซึ่งภาวะนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวันหรือขณะกำลังนอนหลับโดยที่ไม่รู้ตัว
การนอนกัดฟันจัดว่าเป็นความผิดปกติของการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ (Sleep-Related Movement Disorder) โดยผู้ที่มีการขบเน้นฟันหรือบดกัดฟันในขณะนอนหลับ มักจะพบว่ามีโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกี่ยวของกับการนอนหลับ เช่น นอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea)
การนอนกัดฟันที่ยังไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่สำหรับในผู้ที่นอนกัดฟันถี่และรุนแรงจนอาจทำให้เกิดความผิดปกติกับขากรรไกร ปวดหัว และสร้างความเสียหายให้กับฟัน จำเป็นต้องได้รับการรักษา
อาการของการนอนกัดฟัน
สัญญาณและอาการของการนอนกัดฟัน ได้แก่
- มีการบดกัดหรือขบเน้นฟัน ซึ่งอาจมีเสียงดังมากพอจะทำให้คนข้าง ๆ ตื่นได้
- อาจทำให้ฟันเกิดความเสียหาย ฟันบิ่น ฟันร้าว หรือทำให้สูญเสียฟันได้
- เคลือบฟันเสื่อมจนทำให้ปรากฏเห็นชั้นของเนื้อฟันที่ลึกลงไป
- ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน
- เกิดรอยบุ๋มที่ลิ้น
- อ้าปากได้ลำบาก
- กล้ามเนื้อที่ขากรรไกรอ่อนล้าหรือเกร็ง
- เจ็บปวดบริเวณขากรรไกรหรือเจ็บกล้ามเนื้อใบหน้า
- เกิดความเจ็บปวดคล้าย ๆ กับอาการเจ็บหู แต่ไม่ได้เกิดความผิดปกติกับหู
- ปวดศีรษะ
- มีอาการเมื่อยหรือยึดบริเวณไหล่
หากพบอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์หรือทันตแพทย์
- ฟันเสื่อม ได้รับความเสียหายหรือเสียวฟัน
- มีอาการเจ็บที่ขากรรไกร ใบหน้าหรือหู
- หากพบว่ามีคนได้ยินเสียงคุณกัดฟันในขณะนอนหลับ
- ขากรรไกรล็อค ไม่สามารถเปิดหรือปิดได้อย่างเต็มที่
สาเหตุของการนอนกัดฟัน
สาเหตุของการนอนกัดฟันโดยส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวของกับปัจจัยทางด้านจิตใจ เช่น ความเครียดและความวิตกกังวล มักจะเกิดในช่วงเวลาที่กำลังนอนหลับโดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังนอนกัดฟันอยู่ หรืออาจมีสาเหตุจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea) นอกจากนั้นอาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติในการกัดฟัน การสบฟัน ฟันหลอ หรือฟันเบี้ยว
ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มโอกาสให้เกิดการนอนกัดฟัน ได้แก่
- อายุ การนอนกัดฟันเป็นเรื่องปกติที่เกิดกับเด็ก แต่โดยทั่วไจะหายไปเองเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
- บุคลิกภาพหรือลักษณะเฉพาะของแต่ละคน เช่น ผู้ที่มีนิสัยก้าวร้าว ชอบการแข่งขัน หรือสมาธิสั้น สามารถเพิ่มโอกาสในการนอนกัดฟันได้
- สารกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน
- การใช้ยารักษาโรค การนอนกัดฟันสามารถเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภท ซึ่งรวมไปถึงยาทางจิตเวชที่มีผลกระทบต่ออารมณ์หรือจิตใจ เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า และยารักษาอาการทางจิต
การวินิจฉัยการนอนกัดฟัน
ในระหว่างที่ทำการตรวจฟันตามปกติ ทันตแพทย์จะสามารถตรวจดูความผิดปกติหรือสัญญาณที่เกิดจากการนอนกัดฟัน ซึ่งหากพบว่ามีความเป็นไปได้ ทันตแพทย์ก็จะติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของฟันและช่องปากในการเข้าพบครั้งต่อ ๆ ไปเพื่อดูว่ามีการพัฒนาไปอย่างไรและพิจารณาว่าควรทำการรักษาหรือไม่
เมื่อทันตแพทย์พบว่ามีการนอนกัดฟัน ก็จะพิจารณาหาสาเหตุด้วยการถามคำถามเกี่ยวกับสุขภาพฟันทั่วไป ถามถึงการใช้ยารักษาโรค พฤติกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน และนิสัยในการนอนหลับ
ในการประเมินขอบเขตของการนอนกัดฟัน แพทย์อาจทำการตรวจ ได้แก่
- อาการกดเจ็บที่กล้ามเนื้อขากรรไกร
- ความผิดปกติเกี่ยวกับฟันที่เห็นได้ชัด เช่น ฟักแตกหัก ฟันที่หลุดหายไป หรือการจัดเรียงของฟันที่ไม่ดี
- การเอกซเรย์ (X-ray) เพื่อดูความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกระดูกหรือด้านในของแก้ม
อย่างไรก็ตาม หากทันตแพทย์พบว่ามีนัยสำคัญทางจิตวิทยาที่ทำให้กัดฟันหรือเกิดความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องปรึกษานักบำบัด ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับอาจให้ทำการทดสอบ เช่น การประเมินภาวะหยุดหายใจ การบันทึกวิดีโอ และดูความถี่ของการหดเกร็งของกล้ามเนื้อขากรรไกรในขณะนอนหลับ
การรักษาการนอนกัดฟัน
การรักษาผู้ที่นอนกัดฟันจะมีความจำเป็นในกรณีที่มีความรุนแรง ซึ่งวิธีการรักษาได้แก่ การรักษาทางทันตกรรม การบำบัดและการใช้ยารักษาโรค ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ว่าการรักษาแบบใดจะเหมาะสมที่สุด
วิธีทางทันตกรรม
- เฝือกสบฟันหรือฟันยาง ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันถูกทำลายจากการบดเคี้ยวและการขบเน้นฟัน ทำจากอะคริลิกแข็งหรือวัสดุที่มีความอ่อนนุ่ม โดยทันตแพทย์จะให้ใส่ระหว่างนอนหลับ
- การจัดฟันหรือแก้ไขทางทันตกรรม การแก้ไขฟันที่มีปัญหาให้เรียงตัวกันอย่างเหมาะสม จะช่วยแก้ปัญหาการนอนกัดฟันที่มีสาเหตุทางทันตกรรมได้ ในรายที่มีอาการรุนแรง มีฟันที่เสื่อมสภาพและทำให้เกิดอาการเสียวฟันหรือทำให้การบดเคี้ยวมีปัญหา ทันตแพทย์อาจทำการปรับแต่งพื้นผิวฟันที่ใช้ในการบดเคี้ยวหรือที่มีการครอบฟัน ในบางรายทันตแพทย์อาจแนะนำให้มีการจัดฟันหรือการผ่าตัด
การบำบัดรักษา
การบำบัดรักษาที่อาจช่วยบรรเทาการนอนกัดฟัน ได้แก่
- การจัดการกับความเครียด หากมีภาวะกัดฟันเป็นประจำหรือนอนกัดฟันที่มีสาเหตุมาจากความเครียด สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาได้ด้วยการพบผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพหรือมองหาวิธีที่ช่วยให้มีการผ่อนคลาย เช่น การออกกำลังกายหรือการนั่งสมาธิ
- การบำบัดหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อพบว่ามีการนอนกัดฟัน สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วยการฝึกฝนการวางตำแหน่งของปากหรือขากรรไกรให้เหมาะสม ซึ่งทันตแพทย์จะแสดงตำแหน่งของฟันและขากรรไกรที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคน
- ไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) หากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ยากลำบาก อาจใชัวิธีฝึกไบโอฟีดแบ็ค ซึ่งเป็นการใช้คอมพิวเตอร์บันทึกการทำงาน การหดตัว การคลายตัวของกล้ามเนื้อ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้สามารถรู้จุดบกพร่องและทำให้ควบคุมกล้ามเนื้อที่ขากรรไกรได้อย่างถูกต้อง
ใช้ยารักษา
โดยปกติแล้วการใช้ยารักษาการนอดกัดฟันจะไม่มีประสิทธิภาพนัก และยังต้องการการค้นคว้าวิจัยอีกมาก ตัวอย่างการใช้ยาที่ใช้ในการรักษาการนอนกัดฟัน เช่น
- ยาคลายกล้ามเนื้อ แพทย์อาจให้ใช้ในบางรายด้วยการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน โดยใช้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ
- การฉีดโบทอกซ์ (OnabotulinumtoxinA: Botox) การฉีดโบทอกซ์อาจช่วยผู้ที่มีการนอนกัดฟันอย่างรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการบรรเทารักษาอื่น ๆ
หากผู้ที่ใช้ยาในการรักษาการนอนกัดฟันแล้วได้รับผลข้างเคียง แพทย์อาจเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น ๆ แทน
ภาวะแทรกซ้อนของการนอนกัดฟัน
โดยส่วนใหญ่การนอนกัดฟันไม่ได้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่การนอนกัดฟันที่รุนแรงอาจทำให้เกิดผลกระทบ เช่น
- สร้างความเสียหายให้กับฟัน เช่น สร้างความเสียหายให้กับฟันที่มีการครอบฟัน หรือสร้างความเสียหายให้กับขากรรไกร
- ปวดศีรษะแบบตึงเครียด
- ปวดใบหน้า
- ความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณขอต่อที่อยู่บริเวณด้านหน้าของหู อาจทำให้มีเสียงเหมือนเสียงคลิกเวลาอ้าปากหรือปิดปาก
การป้องกันการนอนกัดฟัน
เพื่อช่วยป้องกันการนอนกัดฟัน สามารถทำได้ดังต่อไปนี้
- ตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ
- ตระหนักถึงความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น และหาวิธีการคลายเครียดที่เหมาะสมกับตัวเอง
- สังเกตดูว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้การนอนกัดฟันแย่ลงหรือไม่
- เลิกสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติด
- หลีกเลี่ยงการกัดสิ่งของต่าง ๆ เช่น ปากกา ดินสอ หรือสิ่งของที่มีความแข็ง
- สังเกตและระวังพฤติกรรมการกัดฟันและหลีกเลี่ยง โดยการผ่อนคลายขากรรไกร หากเป็นเวลาที่ตื่นนอน
- ฝึกนิสัยการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพ การนอนหลับที่ดีจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากการนอนหลับและลดโอกาสการนอนกัดฟันได้อีกด้วย
- ถามคนที่นอนข้าง ๆ ว่ามีเสียงที่เกิดจากการกัดฟันเกิดขึ้นในระหว่างที่นอนหลับหรือไม่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการนำไปปรึกษาแพทย์ได้