ถามแพทย์

  • แน่นท้อง เรอ ตดบ่อยๆ มีวิธีแก้ไหม

  •  ก๊อต จีสอง.
    สมาชิก
    พอแน่นท้องมันจะเรอตลอดครับ และมีอากาศตดบ่อยๆ ครับ มีอากาสแน่นท้องบ่อยๆครับ ไม่ต้องทานข้าวทั้งวันยังอิ่มครับ จะแก้วิธีการเรอหน่อยครับ มันรบกวนคนอื่นครับ

    สวัสดีค่ะ คุณ ก๊อต จีสอง,

                         อาการแน่นท้อง เรอ ตดบ่อย น่าจะเกิดจากการมีแก๊สในระบบทางเดินอาหารมากไป ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น 

                         1. การทานอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สหรือเครื่องดื่มที่มีแก๊สมากไป เช่น น้ำอัดลม ถั่ว เมล็ดธัญพืชต่างๆ ทานอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์เป็นปริมาณมาก รวมถึงการทานอาหารปริมาณมากไป ทานเร็วไป ไม่เคี้ยวให้ละเอียด

                         2. อาหารเป็นพิษ จากการทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคเข้าไป แต่มักมีคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียร่วมด้วย

                          3. โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งมักจะมีอาการปวดบริเวณท้องส่วนบนด้านซ้าย หรือลิ้นปี่ร่วมด้วย รวมถึงอาการต่างๆ เช่น แน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย อิ่มเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

                          4.โรคกรดไหลย้อน อาการจะคล้ายๆ กับกระเพาะอาหารอักเสบ แต่มักจะมีอาการแสบร้อนกลางอกร่วมด้วย นอกจากนี้ อาจเรอแล้วมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมในคอ หรือเจ็บคอ ระคายเคืองคอตลอดเวลา เป็นต้น

                          5. มีนิ่วในถุงน้ำดี อาการมักเกิดจากหลังจากทานอาหารมันๆ หรือการทานอาหารปริมาณมาก ร่วมกับอาการปวดท้อง โดยอาจจะปวดบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา 

                           6. ขาดน้ำย่อยอาหารบางชนิด เช่น น้ำย่อยย่อยโปรตีนนม แล้วทานนมเข้าไป

                            7. มีท้องผูก

                            8. การความเครียด วิตกกังวล

                            ในเบื้องต้น แนะนำให้เลือกทานเฉพาะอาหารอ่อน ย่อยง่าย ไม่ทานอาหารรสจัด ไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูง เคี้ยวช้าๆ ให้ละเอียด ไม่ทานและกลืนเร็ว ไม่ทานอาหารครั้งละปริมาณมากเกินไป ไม่ดื่มน้ำอัดลม อัดแก๊สต่างๆ รวมถึง ชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ หากสูบบุหรี่ก็ควรงดสูบบุหรี่ด้วย

                             สำหรับอาหารที่จะช่วยบรรเทาอาการแน่นท้อง เช่น น้ำขิง ขมิ้นชัน พริกไทย เป็นต้น ส่วนยาที่อาจทานบรรเทาอาการ ได้แก่ ไซเมทิโคน (simethicone)  เอ็ม คาร์มิเนทิฟ (M. Carminative) มาเจสโต (magesto-F) รวมไปถึงยาลดกรด เช่น แรนิทิดีน (ranitidine) ยาโอเมพราโซล (omeprazole) เป็นต้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์ค่ะ