ถามแพทย์

  • อายุ18 ปี ปวดหลังมา 5 เดือน เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่เจออะไร หมอบอกเป็นกล้ามเนื้อ กินยาแล้วแต่อาการไม่หาย

  • ผมอายุ18 ปวดหลังข้างขวามาประมาณ5เดือน ปวดอยู่ตลอดเวลานอนก็ปวดนัางก็ปวด กินยา ฉีดยา ฝังเข็ม เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็ไม่เจออ่ะไร แต่กินยาก็ไม่ข่วยอะไรเลย บางทีก็ปวดท้อง แน่นอกบางที เคยไปกาหมอกระดูกมาหมอบอกว่าเป็นแค่กล้ามเนื้อ อยากรู้ว่าทำไมมันยังไม่บรรเทาเลยครับต้องทำยังใงคับข่วยบอกผมหน่อยครับผมไหว้ละคับ ก่อนหน้าเจ็บเคยซ้อมมวยครับ

    สวัสดีค่ะ คุณ วรเดช ทองราช,

                        อาการปวดหลัง อาจเกิดจากสาเหตุ ได้แก่

                        1.การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหลังบริเวณ เช่น จากการทำงานหนักมาก เคลื่อนไหวหรือทำงานหรือออกำลังกายผิดท่าทาง เป็นต้น อาการปวดจะเป็นเฉพาะที่ มีจุดกดเจ็บ ไม่ปวดร้าวไปที่ใด ไม่มีอาการชาร่วม อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวตัว บิดตัว เอี้ยวตัว ไอ จาม 

                      2. หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน แต่อาการปวดจะเป็นแบบปวดร้าว ปวดเสียว แปล๊บๆ ตั้งแต่บริเวณเอว แก้มก้น และมักปวดร้าวลงไปถึงขา อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลามีการเคลื่อนไหว ก้มตัว นั่ง แต่จะไม่ค่อยปวดเมื่ออยู่ในท่านอน ในรายที่เป็นมากจะมีอาการชาร่วมด้วย 

                       3. กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (piriformis syndrome) อาการจะคล้ายกับโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

                       4. ช่องไขสันหลังตีบแคบลง มักเกิดจากการเสื่อมตามอายุ จึงมักพบในผู้สูงอายุ นอกจากนี้อาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดของโพรงกระดูกสันหลัง  จากอุบัติเหตุบริเวณหลัง จากโรคกระดูกพรุน เป็นต้น อาการปวดจะคล้ายกับโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน แต่มักปวดมากเวลาแอ่นตัว เวลานอนราบ และดีขึ้นเมื่อก้มตัว หรือนั่ง 

                        5. กระดูกสันหลังยุบตัว จากโรคกระดูกพรุน มักพบในผู้สูงอายุ 

                        6. มีการติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง แต่ก็จะมีไข้เป็นอาการหลักร่วมด้วย

                        7. เนื้องอกและมะเร็งของกระดูก และเส้นประสาท บริเวณหลัง

                        8. มะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกสันหลังช่วงล่าง

                        9. โรคนิ่วในไต นิ่วในท่อไต ก็อาจทำให้มีอาการปวดหลังได้ แต่ก็จะมีอาการผิดปกติทางปัสสาวะร่วมด้วย

                        หากได้ไปพบแพทย์ และตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วยเอ๊กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแล้วไม่พบความผิดปกติอะไร ก็น่าจะเกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อดังที่แพทย์วินิจฉัยค่ะ

                         ดังนั้น ก็ต้องหลีกเลี่ยงการทำงานหนักต่างๆ เช่น การยกของหนัก งดการยืนหรือเดินนานๆ งดการทำงานที่ต้องก้มๆ เงยๆ งดการออกกำลังกายและเล่นกีฬาต่างๆ ไปก่อน เพราะไม่เช่นนั้น จะทำให้กล้ามเนื้อยิ่งบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้น และควรใช้ท่าทางในการทำงานต่างๆ ให้ถูกต้อง หากนั่งทำงานนานๆ ก็ต้องนั่งในท่าที่ถูกต้อง โดยให้นั่งหลังตรงแบบสบายๆ  ไม่เกร็ง หลังต้องไม่งอ ไม่ห่อไหล่ ไม่นั่งแอ่นหนัง ไม่ยกไหล่ขึ้น ไม่เกร็งหัวไหล่  หากมีพนังพิง ให้พิงพนักเก้าอี้โดยให้แผ่นหลังแนบพอดี ลำตัวตั้งตรง ทิ้งน้ำหนักตัวลงบริเวณก้นและสะโพกทั้งสองข้างให้เท่ากัน ไม่เอียงตัวซ้าย หรือขวาด้านใดด้านหนึ่ง ช่วงขาตั้งฉากกับพื้น ทิ้งน้ำหนักลงฝ่าเท้าทั้งสองข้าง หากนั่งติดต่อเป็นเวลานานๆ ควรลุกยืนเพื่อเปลี่ยนอิริยาบทเป็นระยะๆ ด้วยค่ะ

                       หากรู้สึกเจ็บหรือปวดมาก อาจใช้การประคบอุ่นบริเวณที่ปวด ทานทานยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดลดลดอักเสบ เช่น  ไดโคลฟีแนค (diclofenac), ไพรอกซิแคม (piroxicam) เป็นต้น โดยทานเมื่อมีอาการปวดมากเท่านั้น หรือทานตามที่แพทย์สั่งให้ค่ะ