ถามแพทย์

  • การบำบัดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองในผู้ป่วยติดเตียงจากสมองซีกขวาไม่ทำงาน ต้องทำไปนานเท่าไร และการใส่สายอาหารในผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นไหม

  •  pattiya
    สมาชิก
    คุณพ่ออายุ 75 ปี มีการผ่าสมองเนื่องจากหัวใจที่เป็น AF พลิ้วไปทับสมองซีกขวาทำให้ไม่รับรู้อะไร และผ่าตัดสมองไปสิ้นปี 2561 ผ่ามายังจำอะไรไม่ได้ ติดเตียงร่างกายซีกซ้ายนิ่งทั้งซีก หลังจากผ่าได้ 2-3 เดือนหมอที่ทำการผ่าแจ้งว่ามีน้ำในสมองเยอะ อาจต้องวางอุปกรณ์เพื่อเดรนน้ำออก ทางครอบครัวกลัวว่ายิ่งปล่อยไว้นานน้ำจะเยอะขึ้นยิ่งจะทำให้สมองยิ่งเสื่อมเรื่อยๆ เลยตัดสินใจวางอุปกรณ์ หมอแจ้งว่าที่เคยเจอ Case หลังจากวางอุปกรณ์ประมาณ 5 สัปดาห์ จะเริ่มจำ และพูดได้ ทำมาประมาณ 2 เดือนเหมือนจะเริ่มจำได้บ้าง เหมือนจะพูดแต่เสียงไม่ค่อยออก (มีให้สายอาหารทางจมูก) แต่ไม่สม่ำเสมอ บางที 3-4 วันพูดครั้งเดียว พยางค์เดียว เลยเปลี่ยนเป็นให้แสดงออกโดยการให้กระพริบตาแต่ได้เป็นบางครั้ง บางทีเหมือนไม่รู้เรื่องเลย หมอเลยแนะนำให้ทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง รบกวนถามคุณหมอดังนี้ 1. มีการใส่อุปกรณ์ในศีรษะเพื่อเดรนน้ำ จะสามารถทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองได้ไหม 2. ถ้าทำได้ ตามอาการที่เล่า ต้องทำประมาณกี่ครั้ง ถึงจะได้ผล 3. การทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง เหมาะกับคนไข้ที่มีอาการประมาณไหน 4. การทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง มีผลเสียไหม 5. การพูด ความจำ เป็นการสั่งการจากสมองด้านไหนค่ะ (สมองด้านซ้ายไม่ได้เสียหาย) 6. การใส่สายอาหารทางจมูก มีผลต่อให้การพูดไม่มีเสียงไหม 7. คนไข้ติดเตียงนานๆ จะทำให้ไม่มีเร่งเบ่งอุจจาระไหม 8. ช่วงแรกภาวะการกลืนไม่ดี เหมือนลืมกลืน ทำให้สำลักบ่อย แต่ช่วงนี้ดีขึ้น การใส่สายอาหารจะต้องใส่ระยะเวลานานเท่าไหร่ ใส่มาจะครบ 1 ปี 6 เดือนแล้ว 9. การกลืนขึ้นกับความจำไหม มีวิธีช่วยให้ภาวะการกลืนดีขึ้นไหม ขอบคุณค่ะ
    pattiya  พญ.นรมน
    แพทย์

     สวัสดีค่ะคุณ pattiya

    การทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองน่าจะหมายถึงการทำ MRI ซึ่งเป็นการทำเพื่อตรวจดูว่าความผิดปกติอยู่ตรงที่ใด ความรุนแรงอยู่ในระดับใด ใช้เพื่อประกอบการรักษาและติดตามผลการรักษา ซึ่งการใช้บำบัดนั้นไม่แน่ใจว่าจะใช้ในข้อบ่งชี้ใด เพราะส่วนใหญ่ MRI ใช้เพื่อติดตามการรักษาเป็นหลัก แนะนำสอบถามแพทย์ที่ดูแลว่าถ้าใช้บำบัดได้จริงนั้น ใช้เพื่อเรื่องอะไร และต้องทำกี่คร้ง การใส่อุปกรณ์ในศีรษะเพื่อระบายน้ำในสมองออกอันนี้เป็นการบรรเทาอาการน้ำคั่งในสมอง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยได้ และสามารถทำการตรวจ MRI ขณะที่มีอุปกรณ์ระบายน้ำอยู่ได้ค่ะ

    การพูดและความจำเป็นการสั่งงานจากสมองด้านซ้ายเป็นหลัก แต่ก็มีด้านขวาร่วมด้วย หรือในผู้ป่วยบางรายก็ใช้ด้านขวาเป็นหลัก การใส่สายทางจมูกจะลงไปทางหอดอาหาร ไม่ได้เข้าไปโดนหลอดลมหรือกล่องเสียง จึงไม่น่ามีผลต่อการเปล่งเสียงโดยตรง แต่ส่วนใหญ่หากเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีสายในจมูก ก็มักจะมีปัญหาในการสื่อสารอยู่แล้ว การติดเตียงนานทำให้เบ่งอุจจาระไม่ค่อยออก เพราะไม่ค่อยได้เดิน ลำไส้ไม่ค่อยขยับค่ะ หากผู้ป่วยยังติดเตียงอยู่ คงยากที่จะเอาสายอาหารออกในตอนนี้ได้ เพราะหากผู้ป่วยยังรู้ตัวไม่ดี ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีโอกาสจะสำลักเยอะหากเอาสายอาหารออกค่ะ และหากมีปัญหาเรื่องเส้นเลือดในสมองอาจจะมีผลกระทบต่อการกลืน ซึ่งการจะกลับมาฝึกกลืนได้นั้น คงต้องดูว่ารอยโรคดีขึ้นหรือยัง และอาจต้องทำกายภาพบำบัดร่วมไปด้วย