ถามแพทย์

  • อายุ 26 ปี ตรวจพบค่ากรดยูริค 10.7 mg/dl ก่อนหน้านั้นได้ทานก๋วยเตี๋ยวไก่ มีผลไหม

  • สอบถามครับ ไปตรวจสุขภาพมา ผมอายุ 26 สูง 167 มม. หนัก 68.7 กก. พบว่า 1. มีค่ากรดยูริคสูง 10.7 mg/dL วันก่อนหน้าไปตรวจ มื้อเที่ยงได้ทานก๊วยเตี๋ยวไก่ ที่มีข้อไก่ตุ๋น คำถามคือ การทานก๊วยเตี๋ยวไก่ก่อนวันตรวจ สามารถส่งผลให้กรดยูริคเพิ่มสูงขึ้นไหมครับ.

    สวัสดีค่ะ คุณ ขจรศักดิ์ ยุพิน,

                          การตรวจพบค่ากรดยูริกได้ 10.7 mg/dl ถือว่ามีค่ากรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ (ค่ากรดยูริกในเลือดที่ปกติในผู้ใหญ่เพศชาย คือไม่ควรเกิน 7 mg/dl) การมีกรดยูริกที่สูงต่อเนื่องนานๆ อาจเกิดการตกตะกอนเป็นผลึกเกลือยูเรต แล้วไปสะสมตามข้อ เนื้อเยื่อรอบๆข้อ และที่ไตได้ ซึ่งก็อาจส่งผลทำให้เป็นโรคเก๊าท์ การทำงานของไตเสื่อมลง หรือเป็นนิ่วทางเดินปัสสาวะได้

                       ส่วนปัจจัยที่มีผลทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูง เช่น

                       -  พันธุกรรม

                       -  อายุและเพศ ในเด็กจะมีระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่าผู้ใหญ่ ในเพศชายจะมีระดับยูริกในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น และคงที่อยู่ในระดับนั้น ในขณะที่เพศหญิงจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

                       -  น้ำหนักตัว ถ้าน้ำหนักมาก ระดับกรดยูริกในเลือดจะสูงขึ้นตามไปด้วย

                        - ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงและความดันโลหิตสูง จะพบกรดยูริกในเลือดสูงได้มากกว่า

                         - การดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น โดยพบว่าเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ทำให้มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงได้มากที่สุด

                        - โรคทางร่างกาย เช่น โรคเลือด โรคมะเร็ง เป็นต้น ที่ทำให้มีการสร้างกรดยูริกในร่างกายมากขึ้นกว่าปกติ หรือโรคไตที่ทำให้มีการขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้น้อยกว่าปกติ

                         - การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือยาแอสไพริน เป็นต้น ทำให้มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น

                        ส่วนอาหารบางชนิดที่มีกรดยูริกสูง  รวมถึงไก่ที่ทานไป ไม่ได้ทำให้มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น หากเดิมร่างกายมีระดับกรดยูริกที่ปกติอยู่ แต่หากเดิมร่างกายมีระดับกรดยูริกที่สูงอยู่แล้ว การทานอาหารดังกล่าวที่มากไป ก็อาจทำให้กรดยูริดสูงเพิ่มไปจากเดิมได้ค่ะ 

                        แนะนำควรตรวจติดตามระดับกรดยูริกเป็นประจำทุก 6 เดือน - 1 ปี และตรวจเลือดดูค่าการทำงานของไต ดูระดับไขมันในเลือดร่วใด้วย และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เพิ่มกรดยูริก ที่สามารถเลี่ยงได้ โดยเฉพาะการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการลดน้ำหนักตัว แต่หากมีอาการผิดปกติ คืออาการปวดข้อ ข้อบวม ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาค่ะ