กลากน้ำนม (Pityriasis Alba)

ความหมาย กลากน้ำนม (Pityriasis Alba)

กลากน้ำนม (Pityriasis Alba) หรือเกลื้อนน้ำนม เป็นโรคผิดปกติทางผิวหนังที่เกิดจากการลดจำนวนของเม็ดสีที่ผิวหนังลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้สีผิวบริเวณนั้นจางลงเป็นวงด่าง โดยในช่วงแรกอาจเป็นผื่นชมพูอ่อน ๆ แห้งและตกสะเก็ด คล้ายอาการผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) 

โรคกลากน้ำนมสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่มักเกิดกับเด็กและวัยรุ่นได้มากกว่าวัยอื่น โรคกลากน้ำนมมักสามารถหายได้ แต่อาจต้องใช้ระยะเวลานานเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี โดยการรักษาโรคกลากน้ำนมส่วนใหญ่คือการดูแลตนเอง

กลากน้ำนม

 

นยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดของโรคที่แน่ชัด แต่พบว่าสัมพันธ์กับอาการผิวแห้งและโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) ซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มโรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) ที่อาจเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไวกว่าปกติ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าการโดนแดดบ่อย ๆ และอากาศแห้งมักทำให้รอยด่างปรากฏชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อการเกิดโรคกลากน้ำนม เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต ภาวะร่างกายขาดสารทองแดง หรือเชื้อรา (Malassezia  Yeasts) ที่อาจกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์สร้างเม็ดสีจนทำให้เกิดการผลิตเม็ดสีน้อยลงจนเกิดเป็นรอยด่าง

กลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต่อการเป็นกลากน้ำนมได้ง่าย

  • เด็กและวัยรุ่นในช่วงอายุ 6-12 ปี พบการเกิดโรคได้ประมาณ 2-5% โดยเฉพาะในเด็กที่มีประวัติเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังและการอักเสบของผิวหนังที่มีอาการคันร่วมด้วย
  • เด็กที่อาบน้ำอุ่นบ่อย ๆ
  • ผู้ที่โดนแดดบ่อย ๆ โดยไม่ทาครีมกันแดด

การวินิจฉัยโรคกลากน้ำนม

แพทย์จะสอบถามประวัติผู้ป่วยในเบื้องต้น ตรวจดูสภาพผิวและตำแหน่งรอยด่างที่เกิดตามร่างกาย แต่ในบางรายอาจต้องตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม เพื่อช่วยยืนยันผลการวินิจฉัย เนื่องจากโรคกลากน้ำนมมีอาการคล้ายคลึงกับโรคที่มีภาวะไฮเปอร์พิกเมนเทชั่น (Hypopigmentation) อื่น ๆ เช่น โรคกลาก โรคเกลื้อน ซึ่งทำให้สีผิวซีดจางกว่าสีผิวปกติข้างเคียงเช่นเดียวกับโรคกลากน้ำนม

การตรวจด้านอื่นเพิ่มเติมเมื่อแพทย์ต้องวินิจฉัยแยกโรคกลากน้ำนมออกจากโรคอื่น เช่น

  • การตรวจด้วยแสงอัลตราไวโอเลต (Wood Lamp Examination) เป็นการใช้ไฟส่องไปยังบริเวณผิวหนังที่เป็นรอยด่างด้วยเครื่องมือพิเศษ หากพบว่าเป็นโรค จะทำให้มองเห็นผิวบริเวณนั้นเรืองแสง
  • การขูดตัวอย่างผิวหนังส่งตรวจ (Skin Scraping) โดยแพทย์จะขูดเอาตัวอย่างผิวบริเวณที่เป็นรอยด่างส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูชนิดของเชื้อรา
  • การตัดชิ้นเนื้อ (Skin Biopsy) โดยตัดชิ้นผิวหนังที่เป็นรอยด่างบางส่วนออกมาตรวจวิเคราะห์ ซึ่งช่วยให้ทราบว่าเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและจำนวนเม็ดสีที่ลดลง แต่มักไม่ต้องตรวจถึงขั้นนี้

การรักษาโรคกลากน้ำนม

โดยทั่วไปโรคกลากน้ำนมสามารถหายได้เอง แต่อาจใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปีจนกว่าสีผิวจะกลับมาเป็นปกติ การรักษาส่วนใหญ่มักเป็นการดูแลตนเองโดย

  • ทามอยส์เจอไรเซอร์หรือครีมทาผิวบริเวณที่เป็นรอยด่าง เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิว ไม่แห้ง ลอกเป็นขุยมากขึ้น
  • ในรายที่เกิดอาการคันรุนแรง อาจต้องใช้ยาทาผิวช่วยบรรเทา ซึ่งมีทั้งแบบมีสเตียรอยด์อ่อน ๆ และไม่มีสเตียรอยด์เป็นส่วนผสม เช่น ยาไฮโดรคอร์ติโซน  (Hydrocortisone) ยาพิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) ยาทากลุ่มต้านแคลซินูริน (Calcineurin Inhibitors) ยาทาโครลิมัส (Tacrolimus)
  • ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดอย่างสม่ำเสมอ โดยเลือกชนิดสำหรับผิวแพ้ง่าย
  • ไม่ควรอาบน้ำที่มีอุณหภูมิอุ่นเกินไป และเลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว

อย่างไรก็ตาม โรคกลากน้ำนมสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้หลังการรักษา แต่ส่วนใหญ่หากเป็นในเด็กมักจะหายไปเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกลากน้ำนม

โรคกลากน้ำนมแทบไม่พบภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยอาจพบปัญหาเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกที่ตัวโรคส่งผลให้เกิดความไม่สวยงามบนผิวหนัง รวมทั้งผิวหนังที่จะไวต่อแสงแดดมากขึ้นเมื่อต้องโดนแสงแดดเป็นเวลานาน

การป้องกันโรคกลากน้ำนม

โรคกลากน้ำนมไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสาเหตุการเกิดมาจากหลายปัจจัย แต่สามารถลดความเสี่ยงของโรคได้โดยการดูแลผิวให้ชุ่มชื่นด้วยการทาครีมอยู่เสมอ ทาครีมกันแดดก่อนออกแดดเป็นประจำ เพื่อช่วยปกป้องผิวจากการถูกทำร้าย และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว