รู้จักยาแก้ไข้เด็ก ตัวช่วยลดไข้ที่คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษา

ยาแก้ไข้เด็กเป็นทางเลือกแรก ๆ ที่ผู้ปกครองมักเลือกใช้นอกเหนือจากการดูแลลดไข้เจ้าตัวเล็กอย่างใกล้ชิดด้วยวิธีอื่น แต่ผู้ปกครองบางคนก็อาจคิดไม่ตกว่าจะเลือกใช้ยาแก้ไข้เด็กตัวไหนดี แล้วควรใช้ยาอย่างไรจึงจะปลอดภัยต่อเด็ก พบแพทย์รวบรวมคำตอบมาฝากกันในบทความนี้แล้ว

โดยทั่วไป อุณหภูมิร่างกายปกติของเด็กจะอยู่ประมาณ 36.5–37.4 องศาเซลเซียส หากร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาที่ประมาณ 37.5–38.4 องศาเซลเซียสอาจเรียกได้ว่าเป็นไข้ต่ำ แต่หากมีอุณหภูมิ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปอาจเรียกได้ว่าเป็นไข้สูง โดยไข้ในเด็กที่พบบ่อยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้ออย่างไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคอีสุกอีใส ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ก็เช่น การสวมเสื้อผ้าหนา การขาดน้ำ ไปจนถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

ยาแก้ไข้เด็ก

ยาแก้ไข้เด็กมีอะไรบ้าง 

อันที่จริงหากเด็กเป็นไข้ต่ำ ไม่รู้สึกอึดอัดตัว หรือไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานยาแก้ไข้ เพียงเช็ดตัวเด็กหรือให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอ อาการก็อาจดีขึ้นได้ในเวลาไม่นาน แต่สำหรับเด็กที่มีไข้สูงอาจรับประทานยาแก้ไข้เด็กเพิ่มเติมได้ ดังนี้

1. ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)

ยาพาราเซตามอลเป็นยากลุ่มลดไข้ที่ปริมาณการใช้ยาขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก โดยปริมาณยาที่เหมาะสมอยู่ที่ 10–15 มิลลิกรัม/ น้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม ยาพาราเซตามอลนั้นมีจำหน่ายหลายรูปแบบ เช่น ยาน้ำ ยาเม็ด หรือยาเหน็บทวาร ซึ่งยาแต่ละรูปแบบก็มีความเข้มข้นของตัวยาที่ต่างกันไป ผู้ปกครองจึงควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อมาให้ลูกรับประทาน เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น 

  • ยาชนิดหยดที่มีตัวยาพาราเซตามอล 80 มิลลิกรัม/ 0.8 มิลลิลิตร สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม
  • ยาชนิดน้ำแขวนตะกอนหรือยาน้ำเชื่อมที่มีตัวยาพาราเซตามอล 120 และ 125 มิลลิกรัม/ 5 มิลลิลิตร สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 12–15 กิโลกรัม  
  • ยาชนิดน้ำแขวนตะกอนที่มีตัวยาพาราเซตามอล 160 มิลลิกรัม/ 5 มิลลิลิตร สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 16–24 กิโลกรัม  
  • ยาชนิดน้ำแขวนตะกอนที่มีตัวยาพาราเซตามอล 250 มิลลิกรัม/ 5 มิลลิลิตร สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 25–40 กิโลกรัม  
  • ยาชนิดเหน็บทวารที่มีตัวยาพาราเซตามอล 125 มิลลิกรัม สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 12–15 กิโลกรัม 
  • ยาชนิดเหน็บทวารที่มีตัวยาพาราเซตามอล 250 มิลลิกรัม สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 25–40 กิโลกรัม 
  • ยาชนิดเม็ดที่มีตัวยาพาราเซตามอล 325, 500 และ 650 มิลลิกรัม สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 40 กิโลกรัมขึ้นไป

ยาพาราเซตามอลควรใช้ทุก 4–6 ชั่วโมงเมื่อมีไข้หรือตามที่เภสัชกรแนะนำ โดยทั่วไปเด็กไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเกิน 5 วัน แต่ในกรณีที่เป็นไข้ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเกิน 3 วัน เนื่องจากยาในแต่ละรูปแบบมีข้อจำกัดและวิธีการใช้ยาที่อาจต่างกัน ผู้ปกครองจึงควรอ่านรายละเอียดบนฉลากบรรจุภัณฑ์ยาก่อนป้อนยาให้เด็ก หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

2. ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

ยาแก้ไข้เด็กอย่างไอบูโพรเฟนจัดเป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) ที่มีจำหน่ายในรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอนและยาเม็ด โดยอนุญาตให้ใช้ในเด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป 

โดยปริมาณยาที่แนะนำ เช่น ใช้ในการลดไข้สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 12 ปี จะอยู่ที่ 5–10 มิลลิกรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6–8 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 4 ครั้ง เนื่องจากยานี้อาจส่งผลให้รู้สึกไม่สบายท้องได้ จึงควรให้เด็กรับประทานยาร่วมกับอาหารหรือรับประทานหลังมื้ออาหารทันที

ทั้งนี้ ยาไอบูโพรเฟนไม่ควรใช้ลดไข้ในเด็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก เพราะตัวยาอาจส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด ทำให้มีเลือดออกมากขึ้นจนอาการแย่ลงหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ หากผู้ปกครองไม่ทราบแน่ชัดว่าลูกไข้ขึ้นด้วยสาเหตุใด โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของไข้เลือดออก ควรหลีกเลี่ยงการป้อนยาไอบูโพรเฟนให้เด็กแล้วพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังก่อนใช้ยาแก้ไข้เด็ก   

เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่อาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยาได้มากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจและระมัดระวังในการใช้ยาแก้ไข้เด็กหรือยาชนิดอื่นอย่างมาก เพื่อความปลอดภัยของตัวเด็กเอง ยกตัวอย่างเช่น   

  • ควรใช้อุปกรณ์ป้อนยาที่มาพร้อมบรรจุภัณฑ์ยา ไม่ใช้ช้อนสำหรับรับประทานอาหารทั่วไป เพื่อป้องกันการได้รับยาผิดขนาด ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลงหรือเสี่ยงต่อผลข้างเคียงได้  
  • ห้ามใช้ยาแก้ไข้พาราเซตามอลในเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือนโดยปราศจากคำสั่งของแพทย์
  • ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงอย่างกลุ่มอาการราย (Reye’s Syndrome) ซึ่งเป็นอันตรายต่อตับและสมองได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้หวัดร่วมกับยาพาราเซตามอล เนื่องจากยาแก้หวัดอาจมีส่วนผสมของยาพาราเซตามอลอยู่แล้ว จึงอาจทำให้เด็กใช้ยาซ้ำซ้อนและเสี่ยงต่อการใช้ยาเกินขนาดได้
  • หากผู้ปกครองเลือกใช้ยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของยาลดไข้ ยาแก้คัดจมูก ยาแก้ไอ หรือยาแก้แพ้ ควรอ่านฉลากให้ละเอียดหรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา เนื่องจากตัวยาบางชนิดอาจไม่เหมาะกับเด็กในบางช่วยอายุ โดยเฉพาะหากอายุต่ำกว่า 4 ปี

นอกเหนือจากการใช้ยาแก้ไข้เด็กแล้ว การเช็ดตัวบริเวณใบหน้า ซอกคอ ข้อพับ หรือรักแร้ด้วยผ้าชุบน้ำอุณหภูมิห้องบิดหมาด ดื่มน้ำหรือผงเกลือแร่ ORS ให้มากเพื่อป้องกันการขาดน้ำ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ หรือสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีก็เป็นวิธีที่อาจช่วยบรรเทาอาการไข้และความไม่สบายตัวได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากดูแลด้วยวิธีดังข้างต้นหรือใช้ยาแก้ไข้เด็กแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น เด็กมีไข้สูงกว่า 39.5 องศาเซลเซียสหรือ 38 องศาเซลเซียสในเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน มีไข้นานกว่า 72 ชั่วโมงหรือ 24 ชั่วโมงในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มีไข้ร่วมกับอาการคอแข็ง เจ็บคอ มีผื่น หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ร้องไห้ไม่หยุด มีอาการชัก หรือทารกกระหม่อมบุ๋ม ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว