กะพริบตาแล้วเจ็บ 9 สาเหตุและวิธีบรรเทาอาการที่ได้ผล

กะพริบตาแล้วเจ็บเป็นอาการที่ทำให้รู้สึกระคายเคืองดวงตา และเมื่อกะพริบตาจะรู้สึกเจ็บปวด โดยอาจเจ็บทั้งดวงตาทั้ง 2 ข้าง หรือข้างใดข้างหนึ่ง หรือเจ็บเฉพาะบางบริเวณ เช่น หัวตา บางครั้งอาจมีอาการเปลือกตาบวมแดง ตาแดง แสบหรือคันตาด้วย หากอาการไม่รุนแรง อาการอาจหายได้เองภายในเวลาสั้น ๆ หรือดีขึ้นหลังจากดูแลดวงตาอย่างเหมาะสม 

การกะพริบตาจะช่วยปกป้องดวงตาจากฝุ่นละออง และสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้าสู่ดวงตา และยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาอีกด้วย อาการกะพริบตาแล้วเจ็บอาจขึ้นได้อย่างเฉียบพลันจากหลายสาเหตุ หากดูแลตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น การตรวจและรักษาโดยแพทย์อาจช่วยให้อาการหายดีและไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

กะพริบตาแล้วเจ็บ

รู้จักสาเหตุของการกะพริบตาแล้วเจ็บ

สาเหตุที่พบได้บ่อยของการกะพริบตาแล้วเจ็บ มีดังนี้

1. เศษผงเข้าตา

เศษผงเข้าตาเป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยของอาการกะพริบตาแล้วเจ็บ โดยอาจเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก เม็ดทราย ขนตา และผงเครื่องสำอางที่เข้าสู่ดวงตา นอกจากนี้ อาจมีอาการไม่สบายตา กะพริบตาบ่อย เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา ตาแดง และน้ำตาไหลมาก

2. ตาแห้ง

ตาแห้งเป็นภาวะที่ร่างกายผลิตน้ำตาออกมาไม่เพียงพอ หรือมีการระเหยของน้ำตาเร็วกว่าปกติ ทำให้รู้สึกเคืองตา แสบร้อนในตา กะพริบตาแล้วเจ็บ รู้สึกเหมือนมีบางอย่างอยู่ในตา ตาแดง และตาไวต่อแสง

3. ตาแดง

ตาแดงเป็นการอักเสบหรือติดเชื้อของเยื่อบุตาขาว จึงทำให้ตาขาวเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมแดง มีอาการแสบตา กะพริบตาแล้วเจ็บ คันตา และน้ำตาไหล 

ตาแดงเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การขยี้ตา สิ่งแปลกปลอมเข้าตา โรคภูมิแพ้ และการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งอาการตาแดงสามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ง่าย โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เช่น ในโรงเรียน ที่ทำงาน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ

4. ภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis)

ภูมิแพ้ขึ้นตา หรือโรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นอาการอักเสบที่ดวงตาเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น เชื้อรา สะเก็ดผิวหนังสัตว์ และสารเคมีต่าง ๆ ที่ทำให้ตาแดง คันตา แสบตา กะพริบตาแล้วเจ็บ น้ำตาไหล และเปลือกตาบวม อาการเหล่านี้มักเกิดกับดวงตาทั้งสองข้าง

5. เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis)

เปลือกตาอักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และการอุดตันหรือระคายเคืองของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา ทำให้รู้สึกเหมือนมีบางอย่างอยู่ในตา กะพริบตาแล้วเจ็บ แสบร้อนและคันตา น้ำตาไหล เปลือกตาบวม มีขี้ตามาก และอาจมีสะเก็ดเล็ก ๆ คล้ายรังแคที่เปลือกตา

6. ตากุ้งยิง (Stye)

ตากุ้งยิงเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียในต่อมไขมันใต้เปลือกตา ทำให้มีตุ่มนูนแดงหรือตุ่มหนองที่เปลือกตาด้านในหรือด้านนอก ตาแดง เปลือกตาบวม น้ำตาไหล กะพริบตาแล้วเจ็บ โดยจะรู้สึกเจ็บมากเมื่อเกิดตุ่มนูนที่เปลือกตาด้านใน

7. ปัญหาที่กระจกตา

กระจกตา (Cornea) เป็นเนื้อเยื่อใสคล้ายกระจกโค้งปิดอยู่ที่ด้านหน้าสุดของดวงตา ช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจน และป้องกันอันตรายต่อส่วนอื่น ๆ ในดวงตา เมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับกระจกตาอาจทำให้กะพริบตาแล้วเจ็บ ตาแดง แสบตา น้ำตาไหล ตาไม่สู้แสง ซึ่งเกิดได้หลายลักษณะ เช่น 

8. การบาดเจ็บที่ดวงตา

การบาดเจ็บที่ดวงตาเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การประสบอุบัติเหตุที่ดวงตาโดยตรง การถูกต่อย หกล้ม หน้ากระแทกพื้น หรือถูกลูกบอลกระแทกเข้าเบ้าตา อาจทำให้เจ็บตา ตาบวมช้ำ ตาพร่ามัว และมีเลือดออกได้

นอกจากนี้ ความเสียหายของดวงตาจากการได้รับรังสียูวีจากแสงแดดอาจทำให้เกิดภาวะกระจกตาดำอักเสบ (Photokeratitis) ซึ่งทำให้ไม่สบายตา กะพริบตาแล้วเจ็บ ตาแดง ตาพร่า

หากมีสารเคมีเข้าตา อาจทำให้แสบร้อนในตา ตาแดง รู้สึกเจ็บปวดมาก น้ำตาไหล ตาพร่า และอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเปลือกตา เยื่อบุตา ม่านตา กรณีสารเคมีเข้าตาอย่างรุนแรงอาจทำให้ตาบอดได้

9. ต้อหิน (Glaucoma)

ต้อหินเกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา พบบ่อยในผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นเบาหวาน ต้อหินมี 2 ประเภท ซึ่งประเภทที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดในดวงตาเรียกว่า ต้อหินมุมปิด (Angle-Closure Glaucoma) อาจทำให้กะพริบตาแล้วเจ็บ ตาแดง ตาพร่ามัว ปวดหัว คลื่นไส้ และอาเจียน 

วิธีบรรเทาอาการกะพริบตาแล้วเจ็บง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

หากมีอาการกะพริบตาแล้วเจ็บ สามารถบรรเทาอาการในเบื้องต้นได้ ดังนี้

  • หากมีเศษผงหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ใช้น้ำสะอาด น้ำเกลือ หรือน้ำยาล้างตาในการทำความสะอาดดวงตา และลองกะพริบตาถี่ ๆ เพื่อช่วยกำจัดฝุ่นผงที่อยู่ในดวงตา
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสบริเวณดวงตาเสมอ และไม่ควรขยี้ตาแรง ๆ เพราะอาจทำให้อาการกะพริบตาแล้วเจ็บรุนแรงขึ้น
  • ใช้น้ำตาเทียมหยอดตา ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการกะพริบตาแล้วเจ็บจากตาแห้ง
  • ประคบอุ่นที่เปลือกตา วิธีนี้จะช่วยลดอาการกะพริบตาแล้วเจ็บและอาการอักเสบจากตากุ้งยิงและการติดเชื้อที่ดวงตา
  • คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ขึ้นตา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการกะพริบตาแล้วเจ็บ
  • หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน และทำความสะอาดคอนแทคเลนส์อย่างเหมาะสม
  • สวมแว่นกันแดดก่อนออกจากบ้าน เพื่อปกป้องดวงตาจากรังสียูวี
  • ใช้ยาที่หาซื้อได้เอง เพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น ยาหยอดตา ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs และยาแก้แพ้ โดยปรึกษาเภสัชกรก่อน และใช้ยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

สัญญาณที่ควรไปพบแพทย์ 

อาการกะพริบตาแล้วเจ็บที่เกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรงมาก เช่น ฝุ่นเข้าตา และตาแห้ง มักดีขึ้นหลังจากดูแลตัวเอง แต่บางครั้งอาการกะพริบตาแล้วเจ็บอาจเป็นสัญญาณที่ของการติดเชื้อหรือความเสียหายรุนแรงต่อดวงตาที่ไม่ควรละเลย 

หากดูแลตัวเองแล้วยังมีอาการกะพริบตาแล้วเจ็บ หรืออาการต่าง ๆ เหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม 

  • มีอาการกะพริบตาแล้วเจ็บนานต่อเนื่องกันหลายวัน
  • มีอาการเจ็บตาอย่างรุนแรงหลังจากปฐมพยาบาลเมื่อมีสารเคมีเข้าตา หรือเจ็บตามากจนไม่สามารถกลอกตาได้
  • การมองเห็นแย่ลง มองไม่ชัด หรือเห็นแสงวูบวาบ
  • ตาและเปลือกตาบวมมาก จนไม่สามารถหลับตาได้สนิท
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • มีอาการกะพริบตาแล้วเจ็บพร้อมกับอาการอื่น เช่น ปวดหัวอย่างรุนแรง อ่อนเพลีย ปวดท้อง อาเจียน

เพราะหากปล่อยให้มีอาการโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น และอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อดวงตาและการมองเห็นอย่างถาวรได้