ถามแพทย์

  • เกิดอุบัติเหตุศีรษะกระแทก มีหนังศีรษะบวม หมอไม่ได้เอ๊กซเรย์ ต้องสังเกตอาการกี่วัน

  •  Sawitri prachana
    สมาชิก
    สวัสดีค่ะ ดิฉันได้ชนกับรถยนต์ ล้มลงมากับพื้น หัวไม่ฟาดกับพื้น แต่หัวได้ไปชนกันกระจกรถยนต์อย่างแรง ตอนแรกหัวบวมมาก แล้วไม่นานก็ยุบลงมา แต่ไปหาหมอแล้ว หมอที่ประเทศออสเตรเลียนะค่ะ ไม่ x ray ให้ ให้กลับบ้าน แล้วดูอาการ 24 ชั่วโมง อยากจะทราบว่า ต้องสังเกตอาการกี่วันค่ะ ว่าสมองเราไม่เป็นอะไร แล้วจะสามารถทานยาอะไรได้บ้าง ตอนนี้มีการแค่เจ็บตรงหัว ตรงชน แต่ไม่ปวด เป็นไปได้ไหมถ้าจะมีโรคเกี่ยวกับสมองค่ะ ขอบคุณค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Sawitri prachana,

                       การเกิดอุบัติเหตุต่อศีรษะนั้น แบ่งออกเป็น

                      1. การบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง อาจมีแผลฟกช้ำ หรือแผลฉีกขาดเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด

                      2. มีการบาดเจ็บรุนแรง จนมีความผิดปกติเกิดขึ้นในสมอง ได้แก่

                           - สมองได้รับการกระทบกระเทือน ( brain concussion) ผู้ป่วยมักจะมีอาการหมดสติไปเพียงชั่วครู่ หรือบางรายอาจนานเป็นชั่วโมงๆ แต่จะไม่เกิน 24 ชั่วโมง เมื่อฟื้นแล้วจะรู้สึกงุนงง จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ อาจเป็นเพียงชั่วขณะหรือเป็นวันอาจมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งจะค่อยๆหายไปได้เองในที่สุด

                           - สมองฟกช้ำ ( brain contusion ) หรือสมองฉีกขาด ( brain laceration ) ผู้ป่วยจะหมดสติ หลังบาดเจ็บทันที บางรายอาจเกิดขึ้นหลังบาดเจ็บใน 24-48 ชั่วโมงอาจมีอาการอัมพาตครึ่งซีก กล้ามเนื้อแข็งเกร็งชักถ้ามีอาการรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่รุนแรงผู้ป่วยมักฟื้นคืนสติได้ แต่อาจมีอาการปวด ศีรษะสับสน เพ้อเอะอะ คลื่นไส้อาเจียน แขนขาเป็นอัมพาต ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ หลง ๆลืม ๆ หรือบุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม

                           - เลือดออกในสมอง ( intracranial hemorrhage) ถือว่าเป็นอาการร้ายแรง ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มักมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึมลงเรื่อยๆ แขนขาเป็นอัมพาต ตัวเกร็ง ชีพจรเต้นช้า หายใจตื้นขัด ความดันเลือดสูง คอแข็ง รูม่านตาสองข้างไม่เท่ากัน ในรายที่เป็นเฉียบพลัน มักมีอาการเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงบางรายอาจมีอาการเกิดขึ้นภายหลังได้รับบาดเจ็บ เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาจมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งเป็นบ่อยและรุนแรงขึ้นทุกที คลื่นไส้อาเจียน ซึม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ชักแบบโรคลมชัก 

                         เมื่อเกิดอุบัติเหตุต่อสมองขึ้น ในทางปฏิบัติทั่วไป แพทย์จะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่มคือ

                        - กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดความผิดปกติในสมอง โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จะไม่มีอาการอะไรผิดปกติ ไม่มีอาการปวดศีรษะ และสติ ความรู้สึกตัวสมบูรณ์ดี แพทย์ก้จให้กลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องตรวจเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ศีรษะ

                        - กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลางต่อการเกิดความผิดปกติในสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ เช่น อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นต้น และสติ ความรู้สึกตัวลดลงกว่าปกติ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ ก็จะให้นอนสังเกตอาการ หรือทำเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ศีรษะ

                         - กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดความผิดปกติในสมอง ซึ่งก็จะมีอาการหลายๆ อย่างเกิดขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องได้รับการเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ศีรษะและทำการรักษาตามสิ่งที่พบ

                           ดังนั้น หากได้เกิดอุบัติเหตุศีรษะล้มกระแทกพื้น แล้วได้มีอาการหนังศีรษะบวม ก็แสดงว่าได้เกิดแผลฟกช้ำเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าไม่ได้อันตราย สามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ และเมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจผู้ป่วยแล้ว มีความเห็นว่า การบาดเจ็บที่ศีรษะซึ่งผู้ป่วยได้รับขณะนี้ยังไม่มีอาการที่บ่งบอกความรุนแรงในระดับที่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาล ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวต่อที่บ้าน โดยในเบื้องต้น งดการออกกำลังกายทุกชนิดและงดการขับขี่ยานพาหนะอย่างน้อย 24 ชั่วโมง งดดื่มแอลกออล์และยาที่ทำให้ง่วงซึมทุกชนิด

     

                         ส่วนอาการ ควรสังเกตไปจนครบ 48 ชั่วโมง โดยแนะนำให้ผุ้ที่อยู่ใกล้ชิดเป็นผู้สังเกตร่วม หากมีอาการตามข้อใดข้อหนึ่งที่บ่งบอกไว้ดังต่อไปนี้ ขอให้รีบกลับมาพบแพทย์ ได้แก่

                       - ซึมลงกว่าเดิม ปลุกไม่ตื่น หรือ หมดสติ

                       - กระสับกระส่าย การพูดหรือพฤติกรรมผิดปกติ

                       - ชักกระตุ

                       - แขนขาอ่อนแรงลง

                        -  มีไข้

                        -  มีอาเจียนบ่อย

                        -  มีอาการปวดศีรษะที่ทานยาแก้ปวดแล้วไม่ทุเลา

                        - มีน้ำใสหรือน้ำใสปนเลือด ออกจากหูจมูก หรือลงคอ

                        - ปวดต้นคอ ก้มคอ ลำบาก

                        - เวียนศีรษะ ตาพร่า หรือเห็นภาพซ้อน

                       ดังนั้น ก็ควรให้คนที่อยู่ใกล้ชิดในบ้านเดียวกันสังเกตอาการไปก่อนตามที่แนะนำนี้ค่ะ