แพ้สัตว์เลี้ยง อาการสำคัญและวิธีรับมือ

หากคุณเป็นคนที่แพ้สัตว์เลี้ยง คุณอาจต้องเผชิญอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม หรือคันตามร่างกายเมื่ออยู่ใกล้ สัมผัส หรือคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอย่างโรคหอบหืด ผิวหนังอักเสบ ไข้ละอองฟาง หรือลมพิษได้ และไม่ใช่แค่สุนัขหรือแมวเท่านั้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ แต่นก แฮมสเตอร์ หนูตะเภา หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงไว้เป็นอาหารอย่างวัว เป็ด หรือไก่ ก็อาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้ได้เช่นกัน แต่จะมีวิธีรับมือหรือป้องกันอาการต่าง ๆ ได้อย่างไรนั้น หาคำตอบได้จากบทความนี้

1999 แพ้สัตว์เลี้ยง rs

แพ้สัตว์เลี้ยง เป็นอย่างไร ?

หลายคนอาจคิดว่าอาการแพ้สัตว์เลี้ยงเกิดจากการแพ้ขนสัตว์ แต่ความจริงแล้วอาการนี้เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อโปรตีนในสะเก็ดผิวหนัง น้ำลาย ปัสสาวะ หรือน้ำมันในร่างกายของสัตว์เลี้ยง ซึ่งโปรตีนดังกล่าวอาจติดอยู่ตามผนัง เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า และของใช้อื่น ๆ ภายในบ้าน โดยส่วนใหญ่อาการแพ้มักเกิดจากการสัมผัสสะเก็ดผิวหนังที่หลุดออกมาจากตัวสัตว์ และสัตว์ที่มีขนทุกชนิดก็สามารถทำให้มีอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงยอดนิยมอย่างสุนัขและแมว         

อาการแพ้สัตว์เลี้ยง

ผู้ที่ชอบคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงคู่ใจ สัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์เลี้ยง หรือสูดดมสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นเข้าไปในร่างกาย อาจมีอาการคันตา น้ำตาไหล เป็นลมพิษ มีอาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่รุนแรงขึ้น หรือมีอาการคล้ายกับโรคไข้ละอองฟาง เช่น จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เป็นต้น รวมถึงอาจมีสัญญาณของโรคหอบหืดอย่างไอ หายใจเสียงดังหวีด และมีปัญหาด้านการหายใจ นอกจากนั้น สารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ อย่างเกสรดอกไม้ อากาศที่มีมลพิษ ควันบุหรี่ สารเคมี หรือน้ำหอมในรถยนต์ อาจทำให้อาการดังกล่าวรุนแรงขึ้นได้ด้วย โดยอาการแพ้ที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น ติดเชื้อที่หู นอนไม่หลับ เสี่ยงเกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจมากขึ้น หรือมีอาการของโรคหอบหืดที่รุนแรงขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะรู้ได้ว่าตนแพ้สัตว์เลี้ยงหรือไม่ เพราะลักษณะอาการแพ้สัตว์เลี้ยงนั้นค่อนข้างคล้ายกับอาการหวัดทั่วไป ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็น ๆ หาย ๆ เป็นอย่างต่อเนื่อง หรือแม้จะไม่มีไข้เลยก็ตาม ก็อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังแพ้สัตว์เลี้ยงได้

รับมือกับอาการแพ้สัตว์เลี้ยงอย่างไรดี ?

วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับอาการแพ้สัตว์เลี้ยง คือ ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ แต่หากในบ้านของคุณมีสัตว์เลี้ยงและคุณยังมีอาการแพ้ที่ไม่รุนแรงนัก อาจหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ โดยทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ล้างมือทุกครั้งหลังจากคลุกคลีหรือสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง เพื่อช่วยไม่ให้สารก่อภูมิแพ้กระจายไปยังตา จมูก และปากได้
  • อย่าให้สัตว์เลี้ยงเลียตามร่างกาย เพราะอาจทำให้มีผื่นขึ้น
  • อย่าให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปในห้องนอนหรือให้สัตว์เลี้ยงนอนบนเตียงด้วย และหมั่นรักษาความสะอาดห้องเป็นประจำ โดยอาจติดตั้งเครื่องฟอกอากาศคุณภาพสูง รวมทั้งเปลี่ยนที่กรองอากาศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ห้องนอนปราศจากสะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง    
  • ใช้เครื่องนอนที่มีคุณสมบัติป้องกันไรฝุ่ เพื่อช่วยป้องกันไรฝุ่นหรือสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ ด้วย  
  • หากต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ ควรเลือกใช้วัสดุที่มีพื้นผิวแข็ง เช่น ไม้ ไวนิล กระเบื้อง หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ทำความสะอาดได้ง่ายด้วย เป็นต้น แทนการใช้วัสดุที่ทำจากผ้า หรือหากใช้วัสดุที่ทำจากผ้าก็ควรใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และควรวางไว้ให้ห่างจากพื้น โดยวัสดุที่แข็งจะล้างทำความสะอาดได้ง่ายกว่าวัสดุที่ทำจากผ้า รวมทั้งสะเก็ดผิวหนังของสัตว์จะติดอยู่บนวัสดุที่แข็งได้ยากกว่าด้วย     
  • รักษาความสะอาดบริเวณผนัง สิ่งที่เป็นไม้ และพื้น ให้มากเท่าที่จะทำได้ โดยอาจขัดพื้นด้วยก็ได้
  • ควรใช้พรมขนสั้นและหมั่นทำความสะอาดพรมเป็นประจำ
  • ทำความสะอาดทั่วทั้งบ้านอย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์ โดยอาจใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์ชุบน้ำให้หมาด และใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีถุงเก็บฝุ่นที่หนาหรือมีถุง 2 ชั้น หรืออาจใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีแผ่นกรองอากาศแบบ HEPA เพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายออกมา ทั้งนี้ อาจให้คนที่ไม่แพ้สัตว์เลี้ยงทำความสะอาดบ้านแทนก็ได้
  • ซักผ้าปูที่นอนทุกสัปดาห์ โดยใช้อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส และควรใช้ผ้าห่มหรือปลอกหมอนที่ถอดนำไปซักได้เท่านั้น รวมถึงนำตุ๊กตาของเล่นที่สัมผัสกับสัตว์เลี้ยงไปซักในปลอกหมอนทุกเดือน โดยใช้อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสเช่นกัน หรืออาจนำไปแช่ในช่องแช่แข็งเป็นเวลา 8 ชั่วโมง
  • อาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงทุกสัปดาห์ เพราะอาจช่วยลดปริมาณการผลัดสะเก็ดผิวหนังของสัตว์ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยอาจให้คนที่ไม่แพ้สัตว์เลี้ยงทำแทนก็ได้ และซักเสื้อผ้าของคน ๆ นั้น แยกกับของคนอื่น และอาจใส่ถุงมือขณะอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยง รวมถึงควรสอบถามสัตวแพทย์เกี่ยวกับสบู่หรือแชมพูที่ควรนำมาใช้กับสัตว์เลี้ยงด้วย อย่างไรก็ตาม หากอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงบ่อยเกินไปก็อาจทำให้ผิวของสัตว์แห้งและผลัดสะเก็ดผิวหนังออกมามากขึ้น นอกจากนี้ อาจให้คนอื่นตัดขนหรือแปรงขนสัตว์เลี้ยงแทนด้วยก็ได้ โดยควรทำเป็นประจำ
  • อาจปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับการรักษาและยาที่ใช้รักษาอาการแพ้ที่เกิดขึ้น รวมถึงพูดคุยกับสัตวแพทย์เกี่ยวกับอาหารสัตว์ที่มีวิตามินหรือแร่ธาตุสูง ซึ่งอาจช่วยให้ผิวหนังของสัตว์เลี้ยงชุ่มชื้นและทำให้สัตว์ไม่ผลัดขนมากจนเกินไป

อาการอย่างไรที่ควรไปพบแพทย์ ?

หากมีอาการแพ้สัตว์เลี้ยงอย่างรุนแรง พร้อมทั้งรู้สึกว่าทางเดินหายใจบริเวณจมูกถูกปิดกั้นสนิท หายใจมีเสียงดังหวีด หรือนอนหลับยาก ให้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ หรือควรไปพบแพทย์โดยด่วนหากหายใจไม่อิ่มในขณะทำกิจกรรมทั่ว ๆ ไป รวมทั้งหากมีอาการหายใจไม่อิ่มหรือหายใจเสียงดังหวีดที่มีความรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน