อาการปวดหลัง กับสาเหตุที่คุณอาจไม่เคยรู้

อาการปวดหลังเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไปพบแพทย์ ซึ่งเกิดจากปัญหาสุขภาพหลากหลายประการ โดยเราอาจรู้สึกปวดหลังได้หลายจุด และหากสงสัยว่าอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นในแต่ละจุดนั้นมาจากสาเหตุอะไรบ้าง บทความนี้อาจช่วยคุณได้

 อาการปวดหลัง

อาการปวดหลังเกิดจากอะไรบ้าง ?

อาการปวดหลังอาจเกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ความเครียด การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและเอ็นเส้น กระดูกสันหลังแตก ความอ้วน หรือการยืนหรือนั่งในท่าทางที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น นอกจากนี้ การปวดหลังในแต่จุดอย่างหลังส่วนบน หลังส่วนกลาง และหลังส่วนล่างอาจมีสาเหตุที่แตกต่างกันได้ ดังนี้

อาการปวดหลังส่วนบนและหลังส่วนกลาง

  • เส้นประสาทบริเวณกระดูก กระดูกอ่อน กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นถูกกดทับ โดยแรงกดที่เกิดขึ้นอาจขัดขวางการทำงานของเส้นประสาทจนทำให้เกิดอาการปวด รู้สึกเหมือนมีของแหลมทิ่มแทง ชา หรืออ่อนแรงได้
  • ข้อเสื่อม เกิดจากกระดูกอ่อนในข้อต่อกระดูกเสื่อมสภาพ ส่งผลให้กระดูกเสียดสีกันหรือเกิดแรงกดมากขึ้น ทำให้รู้สึกปวดตามมา และยังอาจมีกระดูกงอกขึ้นมากดทับเส้นประสาทอีกด้วย โดยมักส่งผลต่อกระดูกสันหลังมากที่สุด
  • กระดูกทับเส้น เกิดจากการแตกหักของหมอนรองกระดูก ส่งผลให้กระดูกอ่อนที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกโผล่ออกมากดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวด รู้สึกเหมือนมีของแหลมทิ่มแทง หรือชาบริเวณกลางหลังได้
  • กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด เป็นโรคที่ทำให้ปวดกล้ามเนื้ออย่างเรื้อรัง มักเกิดขึ้นจากการหดตัวของกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากงานที่ทำอยู่หรืองานอดิเรกที่ต้องอยู่ในท่าทางเดิมตลอด
  • นิ่วในถุงน้ำดี คือก้อนนิ่วที่มีลักษณะแข็งที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปวดหลังบริเวณสะบักไหล่ข้างขวาได้  

อาการปวดหลังส่วนล่าง

  • ปัญหาเกี่ยวกับไตอย่างนิ่วในไตหรือไตติดเชื้อ เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่อยู่ใต้กระดูกซี่โครงและขนานกับกระดูกสันหลังทั้ง 2 ข้าง หากไตเกิดการติดเชื้อ การระคายเคืองหรือการอักเสบก็อาจทำให้เกิดการปวดหลังส่วนล่างได้   
  • กระดูกทับเส้นไม่เพียงแต่จะทำให้ปวดหลังส่วนบนและส่วนกลางเท่านั้น แต่ยังทำให้ปวดหลังส่วนล่างได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้เกิดการปวดที่ลามไปยังแขนและขา อาการปวดที่แย่ลงในตอนกลางคืน หรือหลังจากยืนหรือนั่ง ปวดเมื่อเดินในระยะทางสั้น ๆ รู้สึกแสบร้อนในบริเวณที่ปวด รวมถึงมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ไซอาติก้า เป็นการระคายเคืองของเส้นประสาทที่วิ่งจากบริเวณหลังส่วนล่างไปสู่เท้า ทำให้ปวด ชา รู้สึกเหมือนมีของแหลมทิ่มแทง และอ่อนแรงที่บริเวณหลังส่วนล่าง ก้น ขา และเท้าได้
  • การโค้งงอที่ผิดปกติของกระดูกสันหลังอย่างกระดูกสันหลังคด หลังค่อม และหลังแอ่น โดยพบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งภาวะเหล่านี้อาจไปกดทับกล้ามเนื้อ เอ็นกระดูก เอ็นกล้ามเนื้อ และกระดูกสันหลัง ทำให้มีอาการปวดและรูปลักษณ์ที่ไม่ดี   
  • โรคเรื้อรังที่รุนแรงอย่างโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ ซึ่งเป็นภาวะที่ช่องรอบ ๆ ไขสันหลังแคบลงจนไปกดเส้นประสาทไขสันหลัง โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติดที่เกิดจากการอักเสบของข้อต่อในกระดูกสันหลังอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังและข้อต่อแข็ง รวมถึงโรคไฟโบรมัยอัลเจียที่เป็นสาเหตุของการปวดตามกล้ามเนื้อและปวดหลังอีกด้วย
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือภาวะที่เยื่อบุผนังมดลูกเจริญเติบโตภายนอกมดลูก โดยภาวะนี้มักเกิดขึ้นบริเวณรังไข่และท่อนำไข่ ซึ่งหากเกิดขึ้นทางด้านขวาของบริเวณดังกล่าวก็อาจทำให้เกิดการปวดเกร็งที่ขยายจากบริเวณด้านหน้าและด้านข้างของร่างกายไปสู่หลังได้
  • การตั้งครรภ์ ทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ท่าเดินและการทรงตัวเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างได้เช่นเดียวกัน
  • ไส้ติ่งอักเสบ เมื่อไส้ติ่งติดเชื้ออาจทำให้บริเวณดังกล่าวบวม ส่งผลให้รู้สึกแน่นและเจ็บเมื่อกดบริเวณท้องใกล้สะดือและย้ายไปปวดที่ท้องด้านขวา มักปวดมากขึ้นหากเคลื่อนไหวร่างกายหรือกดบริเวณที่เป็นไส้ติ่งอักเสบ ทั้งนี้ อาการปวดนั้นร้าวไปถึงหลังหรือขาหนีบได้ด้วย

วิธีป้องกันอาการปวดหลัง

การป้องกันอาการปวดหลังนั้นทำได้โดยการเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ระมัดระวังเมื่อต้องยกของหนัก นั่งหรือยืนในท่าที่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง ไม่ใส่กางเกงยีนส์ที่รัดรูป เลือกกระเป๋าถือหรือกระเป๋าสะพายที่เหมาะสม และงดสูบบุหรี่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ปวดหลังมักดีขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน โดยอาจบรรเทาอาการปวดหลังได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกา การสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ การควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการป้องกันที่แตกต่างกันออกไปตามสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง เช่น

  • ผู้ป่วยข้อเสื่อมควรใช้ข้อเข่าอย่างถูกวิธี โดยหลีกเลี่ยงกิจกรมที่ต้องงอเข่าหรือการเดินขึ้นลงบันไดบ่อยครั้ง และอาจนำไม้เท้าหรือร่มมาใช้พยุง เพื่อลดแรงกระแทกต่อข้อต่อและบรรเทาอาการปวดอีกด้วย
  • ผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดควรใส่เฝือกหรือเสื้อเกราะดัดหลัง เพื่อดัดกระดูกสันหลังไม่ให้คดเพิ่มมากขึ้น
  • ผู้ป่วยนิ่วในไตควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและเป็นการลดความเข้มข้นของปัสสาวะที่เสี่ยงต่อการพัฒนาไปเป็นนิ่วได้
  • ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบยังไม่มีวิธีป้องกันในปัจจุบัน แต่อาจลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงอย่างผักหรือผลไม้แทน   

อาการปวดหลังที่ควรไปพบแพทย์

โดยปกติ อาการปวดหลังมักดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากผู้ป่วยดูแลตนเองด้วยวิธีที่เหมาะสม แต่หากปวดหลังรุนแรงขึ้นหรืออาการทรุดหนักลง อีกทั้งยังปวดร้าวไปยังขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างโดยเฉพาะบริเวณใต้หัวเข่าลงไป รู้สึกอ่อนแรง ชา หรือรู้สึกเหมือนถูกของแหลมทิ่มแทงบริเวณขาข้างใดข้างหนึ่ง และมีน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ปวดหลังร่วมกับมีปัญหาการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ มีไข้ รวมถึงมีการล้มและอุบัติเหตุอื่น ๆ ควรได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน และหากเกิดอาการปวดหลังเป็นครั้งแรกในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติของโรคมะเร็ง โรคกระดูกพรุน การใช้สเตียรอยด์ การใช้ยาเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์ ก็ควรไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน