6 วิธีแก้ลมพิษง่ายๆ

เมื่อเกิดลมพิษขึ้น หากเรารู้วิธีแก้ลมพิษเบื้องต้นด้วยตัวเอง ก็จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ผื่นบวมแดง อาการคัน หรือความรู้สึกไม่สบายตัวได้อย่างเหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจช่วยป้องกันไม่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่รุนแรงมากขึ้นตามมาด้วย

ลมพิษเป็นปัญหาผิวหนังชนิดหนึ่งที่มักเกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดผื่นบวมแดง เป็นปื้น และมีอาการคัน โดยอาจมีปัจจัยบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดลมพิษขึ้น เช่น อากาศที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ความเครียด การใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น รวมถึงปัจจัยสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งวิธีแก้ลมพิษอย่างเหมาะสมคือการทราบสาเหตุของการเกิดลมพิษ และป้องกันไม่ให้เกิดสาเหตุเหล่านั้นขึ้นนั่นเอง

วิธีแก้ลมพิษ

6 วิธีแก้ลมพิษที่สามารถทำได้ง่าย ๆ 

แม้ว่าอาการลมพิษที่ไม่รุนแรงจะสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่นาน แต่การดูแลตัวเองเมื่อเกิดลมพิษอย่างถูกวิธีก็สามารถช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดลมพิษ

 

หลีกเลี่ยงสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดลมพิษ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ทราบดีอยู่แล้วหรือสิ่งที่สงสัยว่าอาจกระตุ้นให้เกิดลมพิษได้ เช่น ยา อาหาร เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ยาง ความเครียด อากาศร้อน อากาศเย็น รวมถึงแรงกดทับใด ๆ บริเวณผิวหนัง

2. หลีกเลี่ยงการเกาผิวหนัง

 

หลีกเลี่ยงการเกา ถู หรือบีบแกะตุ่มผื่นที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังด้วยความรุนแรง เพราะจะทำให้ผื่นลมพิษที่เกิดขึ้นมีอาการแย่ลงได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากเกาแรงจนเกินไปอาจเกิดแผลถลอกและสามารถนำไปสู่การติดเชื้อบนผิวหนังได้เลยทีเดียว

3. สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว

 

การสวมใส่เสื้อผ้าที่นุ่มสบายและไม่รัดแน่นจนเกินไป จะช่วยลดการเสียดสีหรือแรงกดที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง จึงอาจช่วยบรรเทาอาการคันของผื่นลมพิษได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่ทำมาจากขนสัตว์หรือเสื้อผ้าที่มีเนื้อหาหยาบจนเกินไปด้วย

3. อาบน้ำเย็น

 

ในกรณีที่ลมพิษไม่ได้เกิดจากความเย็น การอาบน้ำเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการคันผิวหนังที่เกิดจากลมพิษได้ โดยควรเลือกใช้สบู่อาบน้ำที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการระคายเคืองอื่น ๆ ตามมาด้วย นอกจากนี้ การประคบเย็นบริเวณผิวหนังวันละหลาย ๆ ครั้ง ครั้งละประมาณ 2–3 นาที ก็อาจช่วยบรรเทาอาการคันได้ด้วยเช่นกัน

4. เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง

 

ทาครีมบำรุงผิวหรือโลชั่นที่มีส่วนประกอบของมอยส์เจอไรเซอร์ (Moisturizer) เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง และควรเลือกใช้ครีมบำรุงผิวสูตรอ่อนโยนหรือสูตรปราศจากน้ำหอม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังที่รุนแรงตามมา

5. ใช้ยาแก้คันทั่วไป

 

ใช้ยาแก้คันที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาลอราทาดีน (Loratadine) ยาเซทิริซีน (Cetirizine) หรือคาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion) เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง แต่ควรใช้ยาตามคำแนะนำของเภสัชกรหรือคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาตามมา

นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่อาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการลมพิษกำเริบได้ เช่น หลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม รักษาสุขอนามัยในร่างกาย รวมถึงควรสังเกตตัวเองทุกครั้งเมื่อเกิดลมพิษขึ้น เพราะอาจช่วยให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดลมพิษ และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หากทำตามวิธีแก้ลมพิษข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 วัน มีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น หรือมีสัญญาณของอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) เช่น วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก และเกิดอาการบวมบริเวณลิ้น ริมฝีปาก หรือลำคอ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม