การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในหญิงตั้งครรภ์กับสิ่งที่คุณแม่ควรรู้

เพศหญิงเป็นเพศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เพราะมีทางเดินปัสสาวะที่สั้นกว่าเพศชายและท่อปัสสาวะอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับทวารหนัก ทำให้เชื้อแบคเรียจากลำไส้ใหญ่เข้าไปยังบริเวณท่อปัสสาวะได้ ยิ่งในช่วงตั้งครรภ์จะเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นกดเบียดกระเพาะปัสสาวะและท่อไต จึงอาจทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone) ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว ส่งผลให้เกิดการคลายตัวของท่อไต  ทำให้มีโอกาสเกิดปัสสาวะไหลย้อนกลับมากขึ้น และฮอร์โมนยังทำให้ท่อปัสสาวะขยายตัว เชื้อแบคทีเรียจึงมีเวลาเจริญเติบโตนานขึ้นก่อนที่จะถูกขับออกไปกับน้ำปัสสาวะ แต่การรักษาและการป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะสามารถทำได้อย่างไรนั้น บทความนี้มีคำตอบ

ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะกับสิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้

ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจะมีอาการอย่างไร

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอาจไม่แสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการเล็กน้อย เช่น รู้สึกต้องการปัสสาวะอย่างเร่งด่วน ปัสสาวะบ่อย แสบร้อนหรือเกิดบีบเกร็งบริเวณหลังหรือท้องช่วงล่าง แสบขณะขับปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นสีขุ่น มีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะเป็นเลือดหรือเป็นสีแดง สีชมพู หรือสีน้ำตาลเข้ม บางรายอาจมีอาการเจ็บบีบบริเวณท้องหรือหลัง ผู้ที่มีอาการดังกล่าวขณะตั้งครรภ์ควรพบแพทย์ทันที โดยแพทย์จะสอบถามอาการและตรวจปัสสาวะเพื่อทำการวินิจฉัย

กรณีที่การติดเชื้อกระจายไปยังไต จะส่งผลให้มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ปวดหลัง อุ้งเชิงกรานหรือสีข้างอยู่ตลอด ตัวสั่น คลื่นไส้หรืออาเจียน ซึ่งผู้ที่มีการติดเชื้อบริเวณไตควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้เชื้อโรคกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดจนอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะขณะตั้งครรภ์รักษาได้

ผู้ป่วยตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะทั้งที่มีและไม่มีอาการจะต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 3–7 วันหรือตามคำสั่งแพทย์ โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ส่งผลให้ทารกเกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด (Birth Defects) ซึ่งยาที่ปลอดภัยต่อการใช้รักษาการติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ ยาอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) และยาเพนิซิลลิน (Penicillin) อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจเริ่มรักษาด้วยการใช้ยาก่อนจะได้ผลการตรวจปัสสาวะหากผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายเนื่องจากการติดเชื้อ 

ป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอย่างไรให้ได้ผล

คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้ 

  • รักษาความสะอาดอยู่เสมอ ด้วยการเช็ดอวัยวะเพศจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยควรดื่มในปริมาณ 8 แก้วต่อวัน เนื่องจากการปัสสาวะเป็นวิธีที่ช่วยขับเชื้อโรคในบริเวณกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • ปัสสาวะทั้งก่อนและหลังการทำกิจกรรมทางเพศเพื่อกำจัดแบคทีเรียบริเวณอวัยวะเพศ
  • ปัสสาวะบ่อย ๆ และไม่ควรอั้นปัสสาวะหรือปัสสาวะอย่างเร่งรีบเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
  • ในกรณีที่ต้องใช้สารหล่อลื่นขณะมีเพศสัมพันธ์ เลือกใช้สารหล่อลื่นประเภทละลายในน้ำ (Water-Based Lubricant) 
  • เชื่อว่าอาหารบางอย่างอาจเป็นปัจจัยในการก่อโรค จึงควรรับประทานอาหารอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบบริเวณกระเพาะปัสสาวะซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้แบคทีเรียเกาะตัวได้ในบริเวณรอบ ๆ โดยตัวอย่างของอาหารหรือเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยง อาทิ อาหารที่มีรสเผ็ด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ช็อกโกแลต เครื่องดื่มรสเปรี้ยวและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น 
  • ห้ามสวนล้างช่องคลอดและหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาระงับกลิ่นหรือสบู่ที่มีความเข้มข้นสูงในบริเวณดังกล่าวเนื่องจากอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ 
  • สวมใส่กางเกงชั้นในที่เป็นเนื้อผ้าฝ้าย ระบายอากาศได้ดี และไม่ควรใส่คับจนเกินไป

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระมัดระวังการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หากมีอาการผิดปกติในบริเวณดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เพราะถ้าการติดเชื้อดังกล่าวไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคอาจแพร่กระจายไปบริเวณไต ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบาย และเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์อย่างภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) น้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด การคลอดก่อนกำหนด หรือทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ได้