Acetazolamide (อะเซตาโซลาไมด์)

Acetazolamide (อะเซตาโซลาไมด์)

Acetazolamide (อะเซตาโซลาไมด์) เป็นยาที่มีสรรพคุณหลากหลาย นำมาใช้รักษาต้อหิน โรคลมชัก ใช้ช่วยขับปัสสาวะ รวมทั้งป้องกันและบรรเทาอาการที่เกิดจากการเดินทางขึ้นที่สูงอย่างรวดเร็ว เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และหายใจไม่อิ่ม หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Acetazolamide มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

1374 Acetazolamide resized

เกี่ยวกับยา Acetazolamide

กลุ่มยา ยาขับปัสสาวะ ยารักษาต้อหิน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคต้อหิน ลมชัก ขับปัสสาวะ ป้องกันและลดอาการที่เกิดจากการขึ้นที่สูง
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ยา Acetazolamide

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ ยากลุ่มซัลฟา รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน และสมุนไพรทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ เพราะมียาหลายชนิดที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาเมทาโซลาไมด์
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาแอสไพรินต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ เพราะเมื่อใช้ร่วมกันอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ เบื่ออาหาร เฉื่อยชา หรือหายใจเร็ว และหากใช้ยานี้ร่วมกับยาแอสไพรินในปริมาณสูง อาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้้ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่ง และหากใช้ยานี้สำหรับรักษาต้อหินก็จะได้รับการตรวจความดันตาตามที่แพทย์สั่ง
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ใช้ยานี้ต้องมีการเฝ้าดูระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวและการมองเห็นที่ชัดเจน จนกว่าจะแน่ใจว่ายานี้ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง
  • การใช้ยานี้อาจทำให้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการบางชนิดคลาดเคลื่อน ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดหรือแสงไฟ เพราะยาอาจทำให้ผิวไวต่อแดดมากขึ้น และควรใช้ครีมกันแดด สวมแว่นตากันแดด และใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดเมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง
  • ผู้ที่อายุ 65 ปี ขึ้นไป ให้ใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงมากกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Acetazolamide

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาต้อหินแบบมุมเปิดและใช้ในขั้นตอนก่อนผ่าตัดต้อหินแบบมุมปิด

ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ

ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 250-1,000 มิลลิกรัม/วัน หากใช้ในปริมาณมากกว่า 250 มิลลิกรัม ให้แบ่งใช้ยาหลายครั้ง

ยารับประทาน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาชนิดเม็ดปริมาณ 250-1,000 มิลลิกรัม/วัน หากรับประทานในปริมาณมากกว่า 250 มิลลิกรัม ให้แบ่งรับประทาน สำหรับยาชนิดออกฤทธิ์นาน รับประทานปริมาณ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

ช่วยขับปัสสาวะ

ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ

ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 250-375 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือวันเว้นวัน และจำเป็นต้องให้ยาเป็นระยะ ๆ เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ยารับประทาน

ผู้ใหญ่ รับประทานยา 250-375 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือวันเว้นวัน และจำเป็นต้องใช้ยาเป็นระยะ ๆ เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาอย่างต่อเนื่อง

โรคลมชัก

ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 250-1,000 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งให้ยาหลายครั้ง และสามารถใช้ร่วมกับยาต้านชักชนิดอื่น
  • เด็ก ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 8-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งให้ยาหลายครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 750 มิลลิกรัม/วัน

ยารับประทาน

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ  250-1,000 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน และสามารถใช้ร่วมกับยาต้านชักชนิดอื่น
  • เด็ก รับประทานยาปริมาณ 8-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 750 มิลลิกรัม/วัน

การป้องกันอาการที่เกิดจากการขึ้นที่สูง

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 500-1,000 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน ควรเริ่มรับประทาน 24-48 ชั่วโมง ก่อนขึ้นที่สูง และหากจำเป็นให้รับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ในระหว่างอยู่บนที่สูง

การใช้ยา Acetazolamide

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ควรใช้ยาก่อนเวลา 6 โมงเย็น เพื่อป้องกันการรบกวนการนอนหลับ เพราะยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อย
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ห่างจากความชื้นและแสงแดด พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการเก็บยาและวิธีการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Acetazolamide

การใช้ยา Acetazolamide อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องไส้ปั่นป่วน การรับรู้รสชาติเปลี่ยนแปลง ไม่อยากอาหาร ท้องผูก ง่วงซึม มองเห็นไม่ชัด อ่อนเพลีย เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Acetazolamide ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม ผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง พุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • ภาวะเลือดเป็นกรด อาจทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรง ท้องไส้ปั่นป่วน อาเจียน สับสน ง่วงซึมมาก หายใจไม่อิิ่ม อ่อนเพลียมาก เหนื่อยมาก หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว และหัวใจเต้นผิดปกติ
  • เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ มีอาการบ่งชี้ เช่น ไม่อยากอาหาร ท้องไส้ปั่นป่วนรุนแรง อาเจียน อารมณ์เปลี่ยนแปลง สับสน เจ็บกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ และชัก
  • การมองเห็นและการได้ยินเปลี่ยนแปลง
  • มีเสียงดังในหู
  • มีอาการชาที่รู้สึกแสบหรือเหมือนมีเข็มทิ่มตามผิวหนัง
  • เจ็บเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน
  • อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ผื่นขึ้น บวม แดง แผลพุพอง ผิวลอก ตาแดง ระคายเคืองตา มีแผลในปาก คอ จมูกหรือตา มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ไอ เหนื่อย อ่อนเพลียมาก เกิดรอยฟกช้ำหรือมีเลือดออก หรือตับทำงานผิดปกติ ซึ่งเกตได้จากการมีปัสสาวะสีเข้ม ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้อง อุจจาระสีซีด อาเจียน และดีซ่าน แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้พบได้น้อย

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน