เป็นไข้ห้ามกินอะไร 5 อาหารที่ควรเลี่ยงเมื่อมีไข้

หากเราทราบว่าเมื่อเป็นไข้ห้ามกินอะไร เราก็จะสามารถเลือกกินอาหารได้อย่างเหมาะสม และอาจช่วยให้อาการไข้บรรเทาลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อเป็นไข้มักจะเป็นอาหารมื้อหนักที่ย่อยยาก อาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง หรืออาหารที่อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

เมื่อเป็นไข้ มักจะมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ปวดเนื้อเมื่อตัว ไม่สบายตัว และอาจทำให้เกิดอาการไม่อยากอาหารร่วมด้วย แต่ถึงแม้จะรู้สึกไม่อยากกินอะไรแต่ผู้ที่เป็นไข้ก็ไม่ควรอดอาหารและควรเลือกกินอาหารอย่างเหมาะสม เพราะร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนเพียงพอเพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายและต่อสู้กับอาการเจ็บป่วยได้นั่นเอง

เป็นไข้ห้ามกินอะไร

อาหาร 5 อย่างที่ควรออกห่างเมื่อเป็นไข้

หลายคนอาจเคยสงสัยว่าเมื่อเป็นไข้ห้ามกินอะไร บทความนี้จะพาไปดูอาหาร 5 ชนิดที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อเป็นไข้ เพราะอาจทำให้อาการไข้หายช้าหรืออาจทำให้อาการไข้รุนแรงมากขึ้น เพื่อช่วยให้คุณสามารถเลือกกินอาหารได้อย่างเหมาะสม ดังนี้

1. อาหารที่มีไขมันสูง

อาหารที่มีไขมันสูงอาจทำให้อาการอักเสบหรืออาการติดเชื้อในร่างกายแย่ลงได้ และอาจส่งผลให้อาการไข้รุนแรงขึ้นหรือหายได้ช้า อีกทั้งอาหารที่มีไขมันสูงยังเป็นอาหารที่ย่อยยากด้วย ผู้ที่เป็นไข้จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้จนกว่าอาการไข้จะหายดี ตัวอย่างอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมันมาก ของทอด รวมถึงอาหารจานด่วน (Fast Food) อย่างแฮมเบอร์เกอร์หรือพิซซ่าด้วย

2. อาหารที่มีน้ำตาลในปริมาณมาก

ผู้ที่เป็นไข้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลในปริมาณมาก เช่น ลูกอม ขนมหวาน ช็อกโกแลต รวมถึงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณมากอย่างน้ำหวานหรือน้ำอัดลมด้วย เพราะอาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในร่างกายมากขึ้น และส่งผลให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการไข้ได้ยากขึ้นนั่นเอง

3. อาหารแปรรูป

อาหารแปรรูปส่วนใหญ่มีทั้งไขมันอิ่มตัวสูงและมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบในปริมาณมาก อีกทั้งยังมีการใส่เกลือหรือผงปรุงรสชนิดอื่น เพื่อหมักให้อาหารมีรสชาติมากขึ้นด้วย จึงไม่ควรกินอาหารแปรรูปเมื่อเป็นไข้เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายมากขึ้น และหายจากอาการไข้ได้ช้าลง ตัวอย่างอาหารแปรรูปที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น เบคอน ไส้กรอก กุนเชียง หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปด้วย

4. นมและผลิตภัณฑ์จากนม

โดยปกติแล้วนมและผลิตภัณฑ์จากนมมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะเป็นแหล่งของแคลเซียมที่จำเป็นต่อการบำรุงกระดูกและฟัน แต่ผู้ที่เป็นไข้ร่วมกับมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก หรือมีเสมหะ อาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้สักพัก เพราะนมและผลิตภัณฑ์จากนมอาจกระตุ้นการผลิตน้ำมูกและเสมหะ ทำให้น้ำมูกและเสมหะข้นขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดอาการคัดจมูกมากขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะแพ้นมวัวหรือแพ้แลคโตส ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานนมและผลิตภัณฑ์จากนมด้วย

5. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน

ผู้ที่เป็นไข้ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มคาเฟอีน ไม่ว่าจะเป็น เหล้า เบียร์ ไวน์ ชา หรือกาแฟ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับอาการไข้ได้ยากขึ้น อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และอาจส่งผลให้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายจากอาการไข้แย่ลงได้ด้วย

เคล็ดลับการเลือกกินเมื่อเป็นไข้ให้ดีต่อสุขภาพ

นอกเหนือจากการรู้ว่าเมื่อเป็นไข้ห้ามกินอะไรแล้ว ยังมีเคล็ดลับในการเลือกกินอาหารบางอย่างที่คุณควรรู้เมื่อเป็นไข้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม และต่อสู้กับอาการไข้ได้อย่างรวดเร็ว ดังนี้

  • เมื่อเป็นไข้ควรกินอาหาร 5 หมู่อย่างครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสมตามที่ร่างกายต้องการ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน
  • เมื่อเป็นไข้ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ โดยควรจิบน้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ หรืออาจเลือกจิบน้ำขิง ชาสมุนไพร หรือน้ำผลไม้ที่ไม่ใส่น้ำตาลเพิ่มก็ได้เช่นกัน
  • ควรเน้นกินอาหารจำพวกผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม มะนาว มะเขือเทศ พริกหวาน หรือผักตระกูลกะหล่ำ เพื่อช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
  • ควรเน้นกินอาหารรสอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลาต้มหรือนึ่ง เนื้อสัตว์ไร้หนัง ไข่ตุ๋น ต้มจืด หรือต้มซุป
  • ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารมื้อใหญ่หรือการกินอาหารปริมาณมากในมื้อเดียว โดยควรกินอาหารทีละน้อย และแบ่งเป็นหลาย ๆ มื้อแทน

นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างแล้ว ผู้ที่เป็นไข้ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวจากอาการไข้ได้อย่างรวดเร็ว หรืออาจใช้วิธีการเช็ดตัว อาบน้ำอุ่น และรับประทานยาลดไข้ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปก็ได้เช่นกัน แต่ควรกินยาตามคำแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพตามมา

ทั้งนี้ หากมีไข้สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น หายใจลำบาก ปวดเนื้อเมื่อยตัวมาก มีอาการบวมหรืออักเสบบริเวณร่างกาย ตกขาวเปลี่ยนสีหรือตกขาวมีกลิ่น ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นมาก รู้สึกสับสน ไม่มีสติ หรือมีอาการชัก ควรรีบไปพบแพทย์