อาการไขมันในเลือดสูง เป็นกลุ่มอาการที่ทุกคนควรทำความรู้จักเอาไว้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อย่างผู้ที่มักรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ เนื่องจากภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นภาวะที่อาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยมีความเสี่ยงเกิดโรคที่มีความรุนแรงบางชนิดตามมาได้ เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง
ไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่เลือดมีไขมัน อย่างคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ สะสมอยู่ในปริมาณมาก โดยอาการของภาวะนี้จะสังเกตค่อนข้างยากในผู้ป่วยที่ไขมันยังสะสมในเลือดไม่เยอะ การเรียนรู้วิธีสังเกตลักษณะอาการเอาไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้รับมือกับภาวะนี้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
วิธีสังเกตอาการไขมันในเลือดสูง
ก่อนอื่นควรเข้าใจก่อนว่า การสังเกตตนเองว่ามีภาวะไขมันในเลือดสูงหรือไม่จากอาการผิดปกติทางร่างกายอาจจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากโดยปกติแล้ว ในระยะเริ่มแรกของการสะสมของไขมันในเลือดมักจะไม่ได้ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการผิดปกติใด ๆ ให้สังเกตได้ อีกทั้งการที่จะให้ทราบอย่างแน่ชัดได้ว่าตนเองมีภาวะไขมันในเลือดสูงหรือไม่นั้นจำเป็นต้องใช้วิธีตรวจเลือดเท่านั้น
แต่เมื่อไขมันในเลือดเริ่มสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไขมันที่สะสมจะเริ่มส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการตีบแคบจนเลือดเริ่มไหลเวียนได้ลำบาก โดยในกรณีที่รุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากกลไกนี้ได้ เช่น โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งโรคและภาวะผิดปกติเหล่านี้ก็จะเป็นสาเหตุให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการผิดปกติตามมา
โดยอาการที่พบก็อาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับโรคและภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ที่อาจพบได้ก็เช่น
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- น้ำหนักเพิ่มโดยไม่ทราบสาเหตุ
- พบก้อนสีเหลืองนิ่ม ๆ บริเวณรอบ ๆ ดวงตา
- เจ็บหน้าอก
- ปวดศีรษะ หรือรู้สึกหนักศีรษะ
วิธีรับมือกับภาวะไขมันในเลือดสูง
สำหรับผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง หลัก ๆ แล้วการรับมือกับภาวะไขมันในเลือดสูงจะเป็นการใช้ยาที่แพทย์จะเป็นผู้กำหนดชนิดที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างของผู้ป่วย เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ โดยให้เลือกรับประทานเป็นอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวแทน เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า และอะโวคาโด
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง
- รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช หรือผักและผลไม้
- รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 เช่น แซลมอน เมล็ดแฟลกซ์ และวอลนัท
- ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละประมาณ 30 นาที
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรืออย่างน้อยประมาณ 7 ชั่วโมง/วัน
- พยายามควบคุมความเครียด
สำหรับผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าตนเองมีภาวะไขมันในเลือดสูงหรือไม่ การไปเข้ารับการตรวจด้วยการตรวจเลือดจะเป็นวิธีที่ให้ผลลัพธ์ที่แน่นอนที่สุด โดยผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจก็ได้แก่ ผู้ชายและผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไป หรือ 20 ปีขึ้นไปหากมีความเสี่ยง เช่น เป็นโรคหัวใจ มีภาวะความดันสูง เป็นเบาหวาน มีน้ำหนักตัวมาก สูบบุหรี่ และคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ