สังเกตอาการวุ้นในตาเสื่อม ปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อดวงตา

อาการวุ้นในตาเสื่อม (Eye Floaters) คือการมองเห็นจุดหรือเงาดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา โดยมักเห็นชัดขึ้นเมื่อมองไปบนท้องฟ้าหรือมองผนังสีขาว แต่จะหายไปเมื่อพยายามเพ่งมอง ภาวะวุ้นในตาเสื่อมอาจเกิดขึ้นที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้

โดยปกติแล้วภาวะนี้จะพบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันอาการวุ้นในตาเสื่อมพบในคนวัยทำงานมากขึ้น เนื่องจากใช้สายตาจ้องหน้าจอขณะทำงานเป็นเวลานาน แม้จะเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและมักไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตา แต่บางครั้งอาจเป็นสัญญาณบอกความผิดปกติของดวงตาหรือโรคบางอย่างได้

สังเกตอาการวุ้นในตาเสื่อม ปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อดวงตา

อาการวุ้นในตาเสื่อมเกิดจากอะไร

วุ้นตา (Vitreous Humour) เป็นสารลักษณะคล้ายเจลใสในลูกตาของเรา วุ้นตาประกอบด้วยน้ำประมาณ 99% และส่วนที่เหลือคือเส้นใยโปรตีน คอลลาเจน และเกลือแร่ต่าง ๆ ทำหน้าที่คงรูปร่างของลูกตา เมื่ออายุมากขึ้นวุ้นตาจะเสื่อมลงและกลายเป็นน้ำ เส้นใยในตาจะจับตัวกันเป็นตะกอน ทำให้มองเห็นจุดหรือเงาดำในตา

อาการวุ้นในตาเสื่อมมักพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 50–75 ปี และพบในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้

  • สายตาสั้ โดยเฉพาะผู้ที่สายตาสั้นตั้งแต่ 600 ขึ้นไป
  • เคยเข้ารับการผ่าตัดรักษาต้อกระจก
  • มีภาวะผิดปกติในดวงตาจากโรคหรือได้รับบาดเจ็บ เช่น วุ้นตาหรือจอตาอักเสบจากการติดเชื้อและโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เลือดออกในตา จอตาฉีกขาด (Retinal Tear) และเนื้องอกในตา
  • มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) ไมเกรน ปวดศีรษะ

การเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานอาจไม่ได้ทำให้เกิดอาการเสื่อมของวุ้นตาโดยตรง แต่อาจส่งทำให้ทำให้สายตาสั้นชั่วคราว เมื่อพักการใช้สายตาจะทำให้สายตากลับสู่ภาวะปกติและไม่มีผลต่อวุ้นตา และหากใช้สายตาอย่างหนักต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้รู้สึกเคืองตาหรือปวดตาได้

อาการวุ้นในตาเสื่อมเป็นอย่างไร

ผู้ที่มีอาการวุ้นในตาเสื่อมแต่ละคนอาจมีอาการต่างกัน โดยอาจมองเห็นจุดสีเข้ม เงาดำ หรือเส้นคล้ายหยากไย่และใยแมงมุมลอยไปมา ซึ่งจะขยับตามการเคลื่อนสายตาและจะเห็นชัดขึ้นเมื่อมองที่สว่าง เช่น ท้องฟ้าและผนังสีขาว แต่จะหายไปเมื่อตั้งใจเพ่งมอง โดยทั่วไปอาการมักไม่ร้ายแรงและไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น

ทั้งนี้ อาการวุ้นในตาเสื่อมอาจเป็นสัญญาณบอกความผิดปกติในดวงตา เช่น วุ้นตาหลุดออกจากประสาทตา (Vitreous Detachment) เลือดออกในวุ้นตา (Vitreous Hemorrhage) จอประสาทตาฉีกขาด และจอตาลอก (Retinal Detachment) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร 

ดังนั้น หากอาการวุ้นในตาเสื่อมแย่ลงหรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา

  • มองเห็นจุดผิดปกติเพิ่มขึ้น
  • จุดที่มองเห็นมีขนาดและรูปร่างเปลี่ยนไป 
  • มีอาการวุ้นตาเสื่อมเกิดขึ้นใหม่อย่างกะทันหัน หรือเกิดอาการหลังการผ่าตัดและการประสบอุบัติเหตุ 
  • เห็นแสงวาบ 
  • สูญเสียการมองเห็นในบริเวณรอบข้าง (Peripheral Vision)
  • เจ็บตา ตามัว และสูญเสียการมองเห็น

อาการวุ้นตาเสื่อมรักษาอย่างไร

โดยปกติแล้วอาการวุ้นในตาเสื่อมมักหายได้เอง หากไม่หายไปอาจลองมองขึ้นลงหรือมองไปด้านข้างเพื่อให้จุดผิดปกติหายไป แต่วิธีนี้อาจช่วยได้แค่ในระยะสั้น ๆ เมื่อเวลาผ่านไปสมองอาจเรียนรู้ที่จะไม่สนใจอาการและทำให้เราไม่สังเกตเห็นจุดในตาอีก

ทั้งนี้ หากอาการวุ้นในตาเสื่อมส่งผลกระทบต่อการมองเห็น อาจรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  1. การผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) โดยผ่าตัดวุ้นตาที่จับตัวเป็นตะกอนออกและทดแทนวุ้นตาด้วยสารละลาย แต่วิธีนี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เช่น เลือดออกในตาและจอตาฉีกขาด และมีโอกาสที่จะเกิดอาการวุ้นตาเสื่อมใหม่ในภายหลัง
  2. การเลเซอร์สลายตะกอนวุ้นตา ซึ่งอาจช่วยให้อาการมองเห็นจุดหรือเงาดำในตาหายไปหลังการรักษา แต่วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมในการรักษา เนื่องจากเลเซอร์อาจใช้ไม่ได้ผลสำหรับผู้ป่วยบางคน และอาจทำให้จอตาได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายได้

อาการวุ้นตาเสื่อมมักเกิดขึ้นตามวัยและไม่มีวิธีป้องกันโดยตรง แต่การดูแลดวงตาด้วยการถนอมสายตา รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการไปตรวจตาเป็นประจำแม้จะไม่มีปัญหาสายตา โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี อาจช่วยป้องกันความเสื่อมของดวงตาก่อนวัยได้ 

แม้อาการวุ้นในตาเสื่อมอาจหายไปได้เอง แต่หากมีอาการวุ้นตาเสื่อมควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสายตาและหาสาเหตุ เพราะอาการวุ้นตาเสื่อมอาจเป็นอาการที่เกิดจากโรคเกี่ยวกับดวงตาโรคอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายและอาจส่งผลต่อการมองเห็นได้ถาวร