วุ้นตาเสื่อม

ความหมาย วุ้นตาเสื่อม

วุ้นตาเสื่อม (Eye Floaters) เป็นภาวะที่ทำให้มองเห็นจุดเล็ก ๆ ลอยผ่านไปมา โดยจะมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันไป เช่น จุดดำเล็ก ๆ หรือวงใหญ่ ๆ คล้ายเมฆ ซึ่งผู้ป่วยอาจพบว่าเกิดเป็นจุดขนาดเล็กหลาย ๆ จุดพร้อมกัน หรือมีเพียงจุดขนาดใหญ่เกิดขึ้นเพียง 1 หรือ 2 จุด และจะสามารถสังเกตได้ชัดเจนเมื่อมองไปที่ที่มีพื้นหลังสีสว่าง

วุ้นตาเสื่อม

อาการวุ้นตาเสื่อม

อาการวุ้นตาเสื่อมที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • จุดที่เกิดขึ้นสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ จุดสีดำหรือสีเทา เป็นเส้นเกลียว ใยแมงมุม หรือวงแหวน
  • เมื่อเคลื่อนไหวดวงตา จุดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็จะเคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน แต่หากตั้งใจที่จะมองไปยังจุดดังกล่าว ก็จะหายไปจากการมองเห็นอย่างรวดเร็ว
  • จุดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะสังเกตได้ชัดเจนเมื่อไปยังพื้นผิวที่เป็นสีพื้นและสว่าง เช่น ท้องฟ้าหรือกำแพงสีขาว

เมื่อใดที่ควรพบแพทย์?

  • พบว่ามีอาการวุ้นตาเสื่อมมากผิดปกติ
  • เกิดจุดใหม่หรือมีการวุ้นตาเสื่อมเกิดขึ้นใหม่อย่างกะทันหัน
  • เห็นแสงวาบ
  • สูญเสียการมองเห็นที่บริเวณรอบข้าง
  • เจ็บตา

นอกจากนั้น อาการเหล่านี้อาจเกิดจากประสาทตาฉีกขาด โดยอาจเกิดขึ้นพร้อมกับจอตาลอก ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายและควรพบแพทย์โดยเร็ว

สาเหตุของวุ้นตาเสื่อม

สาเหตุของวุ้นตาเสื่อมเกิดจากเศษเนื้อตาย (Debris) ที่ลอยอยู่ในวุ้นตา โดยวุ้นตามีลักษณะใสคล้ายเจลลี่ที่อยู่บริเวณตรงกลางของลูกตา และในภาวะปกติ น้ำวุ้นตาเป็นน้ำใส ไม่มีสี และมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก เมื่อวุ้นตาหรือน้ำวุ้นตาเสื่อมจะทำให้เกิดเศษเนื้อตายตกตะกอน อาจเป็นอณูเล็ก ๆ เป็นจุดเดียว หลายจุด เป็นวงหรือเป็นเส้น โดยหากอณูเหล่านี้ถูกแสงจากข้างหน้าดวงตา จะทำให้เกิดเป็นเงาทอดไปยังจอตา หรืออณูเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการหักเหของแสงที่ผ่านมาจากส่วนหน้าดวงตาและกระจายไปตกที่จอตาส่วนต่างๆ ทำให้เกิดการรับรู้ว่ามีจุดมืดเกิดขึ้น และเนื่องจากอณูเหล่านี้อยู่ในน้ำวุ้นซึ่งเป็นน้ำ จึงมีการเคลื่อนไหวตามการขยับของลูกตา ทำให้รับรู้ว่ามีบางสิ่งลอยไปม

นอกจากนั้น สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้วุ้นตาเสื่อมเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งของเหลวที่คล้ายวุ้นในลูกตาก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาหรือเกิดกระบวนการที่ทำให้วุ้นดังกล่าวหลุดจากผิวของลูกตาไป แต่ส่วนใหญ่จะไมก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ และไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา

สาเหตุอื่น ๆ ได้แก่

  • การอักเสบที่ด้านหลังดวงตาหรือยูเวียอักเสบ (Posterior Uveitis) ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อหรือโรคที่เกิดการอักเสบ
  • เลือดออกในตา เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บ และปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด
  • จอประสาทตาฉีกขาดหรือจาตาลอก แต่จะพบได้น้อยมาก และเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว เพราะอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบางอย่างก็อาจทำให้โอกาสเกิดวุ้นตาเสื่อมสูงขึ้น ได้แก่

การวินิจฉัยวุ้นตาเสื่อม

การวินิจฉัยวุ้นตาเสื่อม เบื้องต้นจักษุแพทย์จะสอบถามประวัติและอาการผู้ป่วย จากนั้นจะตรวจสอบการมองเห็น โดยตรวจดูลูกตาด้วยกล้องตรวจตา (Slit Lamp) จากนั้นจะหยดยาลงบนตาเพื่อขยายตาดำ เมื่อตาดำขยายแล้ว แพทย์จะตรวจจอตาและวุ้นตาด้วยแสงไฟจากกล้องส่องตรวจในตา ซึ่งจะช่วยให้แพทย์มองเห็นวุ้นตาเสื่อมและระบุได้ว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติอื่น ๆ ที่ต้องการการตรวจเพิ่มหรือต้องรักษาหรือไม่

การรักษาวุ้นตาเสื่อม

การรักษาวุ้นตาเสื่อมในผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่จำเป็น เพราะวุ้นตาเสื่อมไม่ทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรง นอกจากนั้น การใช้ยาหยอดตาหรือการใช้ยาอื่น ๆ ไม่ได้ส่งผลในการรักษาและไม่ได้ช่วยให้อาการหายไปได้ โดยผู้ที่เป็นวุ้นตาเสื่อมเมื่อเวลาผ่านไปสมองอาจจะเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงไม่สนใจและผู้ป่วยก็อาจจะไม่สังเกตเห็นอีก

อย่างไรก็ตาม หากวุ้นตาเสื่อมรบกวนหรือทำให้เกิดความบกพร่องในการมองเห็น ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาดังนี้

  • การผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) เป็นขั้นตอนการผ่าตัดเพื่อนำวุ้นตาออกไปพร้อมกับเศษเนื้อตาย และจะทดแทนวุ้นตาด้วยสารละลายน้ำเกลือ (Saline) โดยการผ่าตัดจะไม่ได้เป็นการนำวุ้นตาออกไปทั้งหมดและวุ้นตาสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้หลังจากการผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดวุ้นตาก็มีความเสี่ยง ได้แก่ เลือดออกในตา จอตาฉีกขาด จอตาลอก หรือต้อกระจก
  • การทำเลเซอร์เพื่อแก้ปัญหาวุ้นตาเสื่อม โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำลายวุ้นตาเสื่อมหรือเคลื่อนย้ายให้ออกไปจากการมองเห็น นอกจากนั้น ยังเป็นวิธีที่ง่ายและปลอดภัยกว่าการผ่าตัดวุ้นตา แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการวิจัยในเบื้องลึก ซึ่งผลการรักษาและความปลอดภัยยังไม่เป็นที่แน่ชัด ซึ่งบางรายพบว่าได้ผล บางรายพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย หรือไม่เกิดผลเลย

ภาวะแทรกซ้อนวุ้นตาเสื่อม

วุ้นตาเสื่อมไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และมักไม่มีผลกระทบต่อการมองเห็น แต่ผู้ที่มีปัญหาวุ้นตาเสื่อมควรที่จะได้รับการตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำอย่างน้อยทุก 2 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีจุดดำในตาลอยไปลอยไปขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดความรำคาญและอาจทำให้เกิดความยากลำบากในการทำกิจกรรมที่ต้องสมาธิหรือการจดจ่อมาก ๆ เช่น การอ่านหนังสือ หรือการขับขี่ยานพาหนะ

การป้องกันวุ้นตาเสื่อม

การเกิดวุ้นตาเสื่อมไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังสามารถป้องกันวุ้นตาเสื่อมที่เกิดจากการบาดเจ็บได้ด้วยการใส่แว่นตานิรภัย หากมีความจำเป็นต้องทำงานกับเครื่องมือไฟฟ้า หรือสวมใส่แว่นตาช่วยป้องกันขณะที่กำลังเล่นกีฬาบางชนิด

นอกจากนั้น สามารถลดอุบัติการณ์เกิดวุ้นตาเสื่อมจากภาวะเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy) ได้ด้วยการพยายามควบคุมดูแลภาวะน้ำตาลในเลือดสูง