คนท้องท้องผูก อาการกวนใจที่แก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรม

คนท้องท้องผูกถือเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อย แม้อาจฟังดูเป็นอาการที่ไม่น่ากลัวเท่าไรนัก แต่เชื่อว่าคุณแม่หลายคนก็อาจอดเป็นกังวลใจไม่ได้ว่า อาการนี้กำลังบ่งบอกถึงสัญญาณอันตรายใด ๆ หรือเปล่า หรือว่าลูกน้อยจะได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่

โดยปกติแล้ว นอกจากความรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายตัว อาการท้องผูกที่พบขณะตั้งครรภ์มักไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายใด ๆ ต่อทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาการท้องผูกส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันลำบากขึ้น บทความนี้จึงได้รวบรวมวิธีรับมือกับอาการท้องผูกที่กวนใจคุณแม่ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเองเพียงแค่ปรับพฤติกรรมบางอย่าง

คนท้องท้องผูก อาการกวนใจที่แก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรม

คนท้องท้องผูก เกิดจากอะไรได้บ้าง

อาการท้องผูกขณะตั้งครรภ์อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มสูงขึ้น ฮอร์โมนชนิดนี้เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายจะผลิตเพิ่มมากขึ้นในขณะตั้งครรภ์ โดยฮอร์โมนนี้จะทำให้ลำไส้คลายตัวและบีบตัวช้าลง ส่งผลให้ดูดซึมน้ำจากอาหารในลำไส้มากขึ้น อุจจาระจึงแห้งและแข็งทำให้ขับถ่ายลำบาก
  • ดื่มน้ำน้อย น้ำถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้อุจจาระนิ่ม การขาดน้ำจึงอาจส่งผลให้อุจจาระจับตัวกันเป็นก้อนและถูกขับถ่ายออกมายากขึ้น
  • มดลูกขยายตัว มดลูกของคุณแม่ที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาการตั้งครรภ์อาจทำให้บริเวณลำไส้ได้รับแรงกดทับมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้ลำบากหรือเกิดอาการท้องผูกตามมาได้
  • รับประทานธาตุเหล็กเพื่อบำรุงเลือดขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้คุณแม่เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการท้องผูกได้

คนท้องท้องผูก แก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรม

ในเบื้องต้น คุณแม่สามารถรับมือกับปัญหาคนท้องท้องผูกได้ด้วยตัวเอง โดยปรับพฤติกรรมการรับประทานและการใช้ชีวิต ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง คุณแม่ที่มีปัญหาท้องผูกควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงให้ได้วันละประมาณ 25–30 กรัม เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มและถูกขับถ่ายออกมาได้ง่ายขึ้น
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ หรือประมาณ 10–12 แก้ว/วัน หรืออาจมากกว่านั้นหากคุณแม่เสียเหงื่อเยอะ ออกกำลังกาย หรือต้องอยู่ในสภาพอากาศร้อน โดยคุณแม่สามารถดื่มได้ทั้งน้ำเปล่า นม น้ำผลไม้ หรือน้ำอื่น ๆ แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
  • รับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง แต่ให้เพิ่มจำนวนมื้อให้มากขึ้น โดยอาจจะแบ่งเป็นประมาณ 5–6 มื้อ/วัน เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานไม่หนักจนเกินไป
  • ออกกำลังกายประมาณ 3 วัน/สัปดาห์ วันละ 20–30 นาที เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อลำไส้ และช่วยให้อาหารเคลื่อนที่ผ่านลำไส้ใหญ่ได้ง่ายขึ้น โดยคุณแม่ควรเลือกกีฬาหรือกิจกรรมที่ไม่หนักเกินไป เช่น เดิน ว่ายน้ำ หรือโยคะ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

หากลองทำตามวิธีในข้างต้นแล้วอาการท้องผูกไม่ดีขึ้น หรือมีอาการท้องผูกนานหลายสัปดาห์ คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์

โดยการรักษาคนท้องท้องผูกที่แพทย์อาจใช้ เช่น ควบคุมปริมาณการรับประทานธาตุเหล็ก ให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมใยอาหารหรือแมกนีเซียม หรืออาจแนะนำให้ใช้ยาระบาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์

ทั้งนี้ แม้ปัญหาคนท้องท้องผูกอาจฟังดูไม่รุนแรง แต่ในบางกรณีอาการนี้อาจเป็นผลมาจากโรคหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ ได้เช่นกัน เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ โรคลำไส้แปรปรวน ภาวะลำไส้อุดตัน เบาหวาน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือมะเร็งลำไส้  

ดังนั้น คุณแม่ที่มีปัญหาท้องผูกควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ หากพบว่าอาการท้องผูกเกิดขึ้นร่วมกับอาการผิดปกติอื่น เช่น ปวดท้องขั้นรุนแรง ท้องเสีย อุจจาระเป็นมูกหรือปนเลือด