Tetracyclines (เตตราไซคลีน)

Tetracyclines (เตตราไซคลีน)

Tetracyclines (เตตราไซคลีน) คือ กลุ่มยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไปโดยเฉพาะภาวะสิวอักเสบรุนแรงและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บางกรณีอาจใช้ทดแทนยาเพนิซิลลินหรือยาปฏิชีวนะตัวอื่นในการรักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง เช่น เชื้อแอนแทรกซ์ (Anthrax) เชื้อคลอสตริเดียม (Clostridium) เชื้อแอคติโนมัยซีส (Actinomyces) เป็นต้น

Tetracyclines

เกี่ยวกับยา Tetracyclines

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนของการใช้ยา Tetracyclines

  • ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ เพราะการใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดหรือใช้โดยไม่จำเป็นจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาโรคลดลง
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติการแพ้ยา อาหาร หรือสารใด ๆ
  • ผู้ที่กำลังใช้ยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมใดชนิดก็ตาม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยไตวายและเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี เพราะอาจทำให้สีฟันของเด็กผิดปกติอย่างถาวรหรือส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ยกเว้นกรณีที่แพทย์แนะนำให้ใช้
  • ไม่ควรใช้ยากับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้หรือยาปฏิชีวนะในกลุ่มใกล้เคียง เช่น เดเมโคลไซคลีน มิโนไซคลีน ด็อกซีไซคลิน 
  • หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากการใช้ยานี้ก่อนใช้เสมอ เพราะตัวยาอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านกระดูกและสีฟันของเด็กเมื่อโตขึ้น
  • หญิงที่ให้นมบุตรห้ามรับประทานยานี้ เพราะยาอาจส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่ทารกและกระทบต่อพัฒนาการด้านกระดูกและฟัน
  • การรับประทานยาชนิดนี้อาจทำให้ผิวไวต่อแสงและเสี่ยงเกิดผิวไหม้ได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป รวมทั้งสวมเสื้อผ้าที่ปกคลุมร่างกายมิดชิดเมื่อต้องเผชิญแสงแดด
  • หากมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ โดยเฉพาะโรคตับ โรคไต โรคกรดไหลย้อน โรคไส้เลื่อน มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดอาหาร การกลืนอาหาร โรคเอสแอลอี และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผู้ที่ใช้กำลังใช้ยาคุมกำเนิดควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชทราบ เพราะยาเตตราไซคลีนอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลง และอาจต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบไม่ใช้ฮอร์โมนแทน เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การใส่ห่วงคุมกำเนิด เป็นต้น
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ระหว่างใช้ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ ทำงานที่ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมเสี่ยงอันตราย รวมถึงจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือฉีดวัคซีน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่

ปริมาณการใช้ยา Tetracyclines

ปริมาณการใช้ยา Tetracyclines ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นหลัก โดยจะพิจารณาจากอายุ ปัจจัยด้านสุขภาพ สาเหตุ และความรุนแรงในการติดเชื้อของผู้ป่วย

ตัวอย่างปริมาณการใช้ยา

รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียไม่รุนแรง

  • ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง อาจเพิ่มปริมาณยาในกรณีที่ติดเชื้อรุนแรง แต่ต้องไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป รับประทานไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน

รักษาสิว

  • ผู้ใหญ่ รับประทาน 250-500 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทานภายใน 1 วัน เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน

โรคซิฟิลิส

  • ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 15 วัน

โรคหนองในแท้

  • ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน

โรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis)

  • ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ร่วมกับยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 สัปดาห์

การใช้ยา Tetracyclines

  • ควรใช้ยาภายใต้คำสั่งแพทย์และปฏิบัติตามฉลากยาอย่างเคร่งครัด ไม่ควรปรับปริมาณการใช้ยาด้วยตนเองหรือใช้ติดต่อกันนานกว่าที่กำหนด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ยาเตตราไซคลีนชนิดรับประทาน ควรรับประทานตอนท้องว่าง 1 ชั่วโมงก่อนมื้ออาหาร หรือหลังมื้ออาหาร 2 ชั่วโมง และดื่มน้ำตามมาก ๆ หลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกับผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต นม ชีส ไอศกรีม เป็นต้น
  • การใช้ยาในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว การตอบสนองต่อการรักษา และปัญหาด้านสุขภาพของเด็ก
  • หากใช้ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบเป็นอลูมิเนียม แมกนีเซียม แคลเซียม โซเดียมไบคาร์บอเนต รวมทั้งยาระบาย อาหารเสริมประเภทแคลเซียม สังกะสี ธาตุเหล็ก และวิตามินรวม ควรเว้นระยะห่างจากการรับประทานยาเตตราไซคลีน 2-6 ชั่วโมงตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะยาหรืออาหารเสริมเหล่านี้อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาชนิดนี้ลดลง
  • กรณีที่ลืมรับประทานยา ควรรับประทานทันทีที่นึกได้ หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปครั้งนั้นเลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนครบตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์สั่ง และไม่ควรหยุดใช้ยาแม้ว่าจะมีอาการดีขึ้น เพื่อช่วยให้หายขาดจากโรคและป้องกันการติดเชื้อซ้ำ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Tetracyclines

การใช้ยาเตตราไซคลีนอาจมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยบางราย หากมีอาการอย่างต่อเนื่องหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันควรไปพบแพทย์ ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง ท้องเสีย
  • เบื่ออาหาร
  • เกิดแผลหรือคราบสีขาวภายในช่องปากและบริเวณริมฝีปาก
  • มีปัญหาในการกลืนอาหาร
  • ลิ้นบวม ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีดำ หรือมีขนสีดำบาง ๆ ขึ้น
  • มีอาการบวมบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก รวมทั้งอาจเกิดแผล มีอาการคัน หรือมีตกขาว

หากพบผลข้างเคียงรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีอาการแพ้รุนแรง ได้แก่ ลมพิษ หายใจลำบาก ปาก ริมฝีปาก ลิ้น คอ หรือหน้าบวม
  • มีผื่นแดงตามผิวหนัง ผิวลอก หรือเกิดแผลอักเสบรุนแรง
  • ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือซีด ฟกช้ำและมีเลือดออกง่าย
  • มีสัญญาณของการติดเชื้อชนิดใหม่ เช่น เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น

นอกจากนี้ อาจมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ นอกเหนือจากข้างต้นเกิดขึ้นได้ หากผู้ป่วยพบความผิดปกติใด ๆ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที