Asperger Syndrome

ความหมาย Asperger Syndrome

Asperger Syndrome หรือกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ เป็นความบกพร่องด้านพัฒนาการทางระบบประสาทที่มักเกิดในเด็ก โดยจัดอยู่ในกลุ่มอาการเดียวกับออทิสติก ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรม การใช้ภาษา การสื่อสาร และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนในสังคม ผู้ป่วยจะมีอาการหมกมุ่นหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำ ๆ มีความสามารถในการสื่อสารหรือการเข้าสังคมต่ำ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ยึดมั่นในความคิดของตนเอง และจริงจังกับกฎหรือกิจวัตรประจำวัน

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่จัดอยู่ในกลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (High-functioning Autism) โดยจะไม่มีความผิดปกติของสมรรถนะทางสมองหรือการใช้ภาษา พูดเก่ง และดูเหมือนฉลาด อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการ Asperger Syndrome ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากได้รับการวินิจฉัยหรือเริ่มการรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม

 asperger syndrome

อาการของ Asperger Syndrome

ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่เด็กที่มีอาการดังกล่าวมักจะหมกมุ่นหรือจดจ่ออยู่กับสิ่งที่สนใจโดยไม่แบ่งความสนใจหรือความสนุกสนานร่วมกับผู้อื่น มีความจริงจังในการทำกิจวัตรประจำวันของตนเองซ้ำๆ รวมทั้งมีอาการหรือพฤติกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • มีทักษะการใช้ภาษาเกณฑ์ปกติ แต่ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาเชิงลึกหรือความหมายแฝง เช่น ไม่เข้าใจสีหน้าหรือภาษากายของผู้อื่น ไม่สามารถเก็บความลับได้ ไม่เข้าใจการบอกใบ้ การใช้คำเปรียบ อารมณ์ขัน หรือการใช้ถ้อยคำประชดประชัน เป็นต้น
  • ไม่สังเกตคู่สนทนาและไม่สามารถรับรู้ถึงอารมณ์ของผู้อื่น เนื่องจากมักหลบตาขณะพูดคุย 
  • พูดโดยไม่มีเสียงสูงต่ำ ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ออกทางสีหน้า และยากที่จะควบคุมระดับเสียงพูดของตนเองในสถานที่ต่าง ๆ ได้จนคล้ายกับว่าไม่รู้จักกาลเทศะหรือไม่มีความสุภาพ  
  • เชื่องช้าและงุ่มง่าม ลายมือไม่ดี 
  • มีการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำ ๆ อย่างการสะบัดมือ 
  • หงุดหงิดหรือไม่พอใจได้ง่ายกว่าปกติเมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นดังคาดหรือกิจวัตรประจำวันถูกรบกวน 
  • อาจมีความไวผิดปกติเกี่ยวกับการรับรู้เสียง กลิ่น หรือการสัมผัส

เนื่องจากเด็กที่มีอาการ Asperger Syndrome ส่วนใหญ่มักจะจดจ่อกับสิ่งที่สนใจมากกว่าคนปกติ ทำให้มีสติปัญญาที่สูงกว่าปกติและมีความสามารถในเรื่องเฉพาะทาง เช่น การมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ ตัวเลข คอมพิวเตอร์ หรือดนตรี เป็นต้น 

สาเหตุของ Asperger Syndrome

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ได้อย่างแน่ชัด มีเพียงการคาดการณ์ว่าอาจเกิดจากสาเหตุเดียวกับโรคออทิสติก ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับสารที่ก่อให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ ปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์และการให้กำเนิด หรือการติดเชื้อในทารกก่อนการให้กำเนิด ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในสมอง ปัจจัยทางพันธุกรรม หรือมลพิษในสภาพแวดล้อมอย่างสารเคมีหรือไวรัส ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะพัฒนากลายเป็นความบกพร่องของ Asperger Syndrome นอกจากนี้ ผู้ป่วยกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์มักจะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง

การวินิจฉัย Asperger Syndrome

เนื่องจากผู้ป่วย Asperger Syndrome มีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ไม่มีรูปแบบอาการที่แน่ชัด ทำให้ยังไม่มีวิธีการวินิจฉัยเฉพาะทางของกลุ่มอาการนี้ แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการสอบถามและสังเกตอาการรายบุคคล รวมไปถึงการสอบถามจากสมาชิกครอบครัว ครู หรือผู้ให้คำปรึกษาของเด็ก 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีการทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ อย่างนักประสาทวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็ก จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเด็ก ซึ่งจะทำการตรวจด้านอื่นเพิ่มเติมเพื่อนำมาประเมินอาการและวินิจฉัยโรคอีกครั้ง เช่น การตรวจร่างกาย การทดสอบการได้ยิน การตรวจดีเอ็นเอ เป็นต้น

การรักษา Asperger Syndrome

กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่แพทย์จะรักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อบรรเทาอาการจากความบกพร่อง พร้อมทั้งช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากที่สุด ซึ่งการรักษาอาจมาจากหลากหลายสาขาวิชารวมกัน ดังนี้

การรักษาด้วยการใช้ยา

แพทย์จะทำการจ่ายยาเพื่อควบคุมอาการต่าง ๆ เช่น

  • ยาอะริพิพราโซล (Aripiprazole) ใช้เพื่อลดอาการหงุดหงิดฉุนเฉียว
  • ยากวอนฟาซีน (Guanfacine) และยาโอแลนซาปีน ใช้เพื่อลดอาการสมาธิสั้น อยู่ไม่สุข
  • ยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (SSRI) ใช้เพื่อลดอาการที่เกี่ยวกับการทำพฤติกรรมเดิมซ้ำ ๆ ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
  • ยาริสเพอริโดน (Risperidone) ใช้เพื่อลดอาการกระสับกระสายและใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ

การรักษาอื่น ๆ

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาหรือการบำบัดในวิธีดังต่อไปนี้

  • การฝึกทักษะทางสังคม เช่น ฝึกการแสดงทางสีหน้าและท่าทาง การใช้ภาษาในการสื่อสาร การพัฒนาเพื่อการเข้าใจความคิดและอารมณ์ของผู้อื่นในสังคม เป็นต้น
  • การบำบัดรักษาด้านการพูดและการสื่อสาร โดยเน้นไปที่การใช้ภาษาที่คลุมเคลือและการใช้ภาษาในสภาพแวดล้อมทางสังคม
  • การฝึกทักษะการปรับตัวและทักษะการใช้ชีวิต
  • การทำกิจกรรมบำบัด 
  • การทำกายภาพบำบัด
  • การทำจิตบำบัด
  • การฝึกทักษะการจัดการ (Organization Skills Training)
  • การดูแลเป็นพิเศษจากสถานศึกษา และความช่วยเหลือเกี่ยวกับความเข้าใจในการอ่านและการใช้ภาษาอย่างละเอียด เพื่อลดปัญหาในกระบวนการเรียนรู้

ทั้งนี้ แพทย์จำเป็นจะต้องสังเกตอาการอย่างต่อเนื่องและปรับการรักษาตามอาการของผู้ป่วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา

ภาวะแทรกซ้อนของ Asperger Syndrome

อาการของผู้ป่วย Asperger Syndrome เกี่ยวข้องกับอาการทางประสาท อย่างโรคสมาธิสั้นหรือโรควิตกกังวล ก็อาจจะไม่มีอาการแทรกซ้อนที่แสดงออกอย่างชัดเจน แต่ผู้ป่วยอาจได้รับความทุกข์ทรมานจากความวิตกกังวลหรือไวต่อการได้รับสิ่งเร้าอย่างเสียงที่ดัง รวมทั้งอาจมีปัญหาเมื่อต้องมีปฎิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ 

ในบางกรณีผู้ป่วยอาจแสดงพฤติกรรมรบกวน เช่น อารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว ทำร้ายตนเอง หรือมีภาวะโรคซึมเศร้า ฯลฯ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ และเกิดความยากลำบากในการจัดการอารมณ์โกรธของตนเองร่วมด้วย 

การป้องกัน Asperger Syndrome

กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ซินโดรมไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ในกรณีที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ป่วยในกลุ่มอาการดังกล่าว ควรวางแผนและเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์