ใบเตย รู้จัก 5 ประโยชน์และข้อควรรู้ก่อนรับประทาน

ใบเตย เป็นพืชชนิดหนึ่งที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดี โดยเฉพาะในด้านของกลิ่นที่หอมเป็นเอกลักษณ์ พืชชนิดนี้จึงมักถูกนำไปประกอบอาหารเพื่อเพิ่มกลิ่นให้หอม ไม่ว่าจะเป็นการนำไปหุงกับข้าวเพื่อให้ข้าวมีกลิ่นหอมของใบเตย การนำไปต้มเพื่อทำเครื่องดื่ม ไปจนถึงการเอาไปเป็นวัตถุดิบเมนูขนมหวานต่าง ๆ มากมาย

ทั้งนี้ นอกจากด้านกลิ่นที่หอมแล้ว ใบเตยยังมีสารเคมีธรรมชาติอยู่อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นฟลาโวนอยด์ สารจำพวกฟีนอล น้ำมันหอมระเหยไฟทอล และสควาลีน ซึ่งเป็นสารที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็อาจจะมีข้อควรรู้บางอย่างที่ควรทราบก่อนรับประทานด้วยเช่นกัน

ใบเตย

ประโยชน์ของใบเตย

ใบเตยเป็นพืชที่มีสารอาหารดี ๆ อยู่หลายชนิด เช่น สารเบต้าแคโรทีน (Beta Carotene) วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินบี 3 โดยประโยชน์ทางด้านสุขภาพที่อาจได้จากการรับประทานใบเตยก็เช่น

1. อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน

เบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หรือดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน จนส่งผลให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายผิดปกติไป 

ส่วนด้านประโยชน์ของใบเตยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดเบาหวาน มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้อาสาสมัครสุขภาพดี 30 รายดื่มน้ำที่มีสารสกัดจากใบเตยแล้วพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง จึงมีความเป็นไปได้ว่าใบเตยอาจมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังเป็นเพียงการทดลองขนาดเล็ก และไม่ได้ทดลองในผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยตรง ผลลัพธ์ที่แน่ชัดของประโยชน์ของใบเตยต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจึงอาจไม่ได้แน่นอนนัก

2. อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส

ไวรัสเป็นเชื้อโรคขนาดเล็กแต่บางชนิดอันตรายมาก โดยไวรัสจะสร้างความเสียหายแก่เซลล์ร่างกาย จนนำไปสู่การเจ็บป่วยและเป็นโรคติดเชื้อต่าง ๆ ตามมาได้

โดยการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของใบเตยในด้านนี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทดลองประสิทธิภาพต้านไวรัสของโปรตีนที่สกัดจากใบเตยแล้วพบว่า อาจมีความเป็นไปได้ว่าใบเตยอาจมีส่วนช่วยต้านเชื้อไวรัสที่พบในคนได้ เช่น ไวรัสโรคเริม และไวรัสไข้หวัดใหญ่

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงยังไม่อาจยืนยันการออกฤทธิ์ที่แน่ชัดของสารสกัดจากใบเตยในคนได้ การค้นคว้าทดลองเรื่องนี้จึงยังอาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

3. ดีต่อหัวใจ

ใบเตยเป็นพืชที่มีสารแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งเป็นสารที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) อยู่ค่อนข้างสูง โดยสารชนิดนี้เป็นสารที่อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ที่อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจได้

4. อาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อได้

ใบเตยเป็นพืชที่มีสารที่อาจมีส่วนช่วยต้านการอักเสบอยู่ จึงอาจเป็นไปได้ว่าการรับประทานอาหารที่มีใบเตย หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีใบเตยเป็นส่วนผสม อาจจะมีส่วนช่วยบรรเทาอาการอักเสบ หรืออาการปวดตามข้อได้

5. อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

มีงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาคุณสมบัติของสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และสารฟีนอลิก (Phenolic) ที่ได้จากใบเตยแล้วพบว่า สารเหล่านี้อาจมีคุณสมบัติช่วยต้านสารอนุมูลอิสระและมะเร็งได้

ทั้งนี้ แม้มีผลลัพธ์การทดลองดังข้างต้น แต่งานวิจัยเหล่านั้นเป็นเพียงการทดลองในห้องปฏิบัติการและทดลองในตัวอย่างเซลล์มะเร็งเต้านมเท่านั้น ในอนาคตจึงยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมให้ชัดเจนก่อน เพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลที่แน่ชัดต่อไป

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการรับประทานใบเตย

แม้ใบเตยจะอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน แต่ในปัจจุบันก็ถือมีมีข้อมูลที่ช่วยยืนยันค่อนข้างน้อย ผู้ที่ต้องการบริโภคใบเตยจึงควรรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของใบเตยในปริมาณแต่พอดี โดยเฉพาะหากเป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ผู้ที่ตั้งครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร เนื่องจากสารจากใบเตยอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและยารักษาบางชนิดต่อผู้ที่บริโภคได้

นอกจากนี้ หากต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากใบเตย เช่น น้ำใบเตย หรือขนมจากใบเตย ก็ควรคำนึงถึงสารอาหารและปริมาณน้ำตาลที่อาจมาพร้อมกับอาหารเหล่านี้ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายได้รับปริมาณสารอาหารที่ครบถ้วนและไม่ได้รับน้ำตาลในปริมาณที่มากจนเกินไป