อั้นฉี่ เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ?

หลายคนคงเคยอั้นฉี่หรือกลั้นปัสสาวะเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การปวดปัสสาวะขณะรถติด การเดินทางที่ต้องอยู่บนรถเป็นเวลานาน หรือเมื่อมีภาระหน้าที่ที่ยุ่งมาก ซึ่งอาจทำให้บางคนกังวลว่าการอั้นฉี่จะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ ข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยไขข้อข้องใจและช่วยแนะนำวิธีหากจำเป็นต้องอั้นฉี่โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

การอั้นฉี่

ทำไมร่างกายคนเราถึงอั้นฉี่ได้ ?

ระบบขับถ่ายของคนเรานั้นค่อนข้างซับซ้อน และต้องอาศัยการทำงานของอวัยวะหลายส่วน ทั้งกล้ามเนื้อและเส้นประสาทภายในกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงระบบประสาทในสมอง เมื่อมีปัสสาวะอยู่ครึ่งกระเพาะ เส้นประสาทในกระเพาะปัสสาวะจะถูกกระตุ้นให้ส่งสัญญาณไปยังสมองแล้วทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะ จากนั้นสมองจะส่งสัญญาณกลับไปยังกระเพาะปัสสาวะให้กลั้นปัสสาวะไว้จนกว่าจะพร้อมขับถ่าย ซึ่งระยะเวลาในการปวดปัสสาวะของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เช่น อายุ ปริมาณปัสสาวะ และช่วงเวลาของวัน เนื่องจากการส่งสัญญาณการปวดปัสสาวะจะน้อยลงในช่วงเวลากลางคืน เพื่อทำให้ร่างกายนอนหลับได้เต็มอิ่ม นอกจากนี้ หากปวดปัสสาวะบ่อยอาจเกิดจากความเครียดหรืออาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางชนิดได้ และผู้หญิงบางรายอาจปวดปัสสาวะบ่อยหลังคลอดบุตรด้วย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรงลง

อั้นฉี่ อันตรายหรือไม่ ?

หากระบบทางเดินปัสสาวะแข็งแรงและบุคคลนั้นมีสุขภาพที่ดี การกลั้นปัสสาวะอาจไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันที่แน่นอนว่าคนเราควรกลั้นปัสสาวะเป็นระยะเวลานานเท่าใดถึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการกลั้นปัสสาวะจะปลอดภัยหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกันไปของแต่ละคนด้วย โดยผู้ใหญ่ที่มีปริมาณน้ำปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะมากกว่า 480 ซีซี อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้ และในบางกรณีการกลั้นปัสสาวะอาจเป็นอันตรายได้โดยเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะให้สูงขึ้น โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจากระบบประสาท รวมทั้งผู้ที่มีความผิดปกติของไต การกลั้นปัสสาวะเป็นประจำอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคไตได้ นอกจากนี้ การกลั้นปัสสาวะยังอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะหดเกร็งและปวดท้องน้อย กระเพาะปัสสาวะอักเสบและกระเพาะปัสสาวะปริแตก ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder) อาจต้องกลั้นปัสสาวะเพื่อฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะด้วย โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้องเสมอ

การฝึกอั้นฉี่เมื่อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินไป

การปัสสาวะก่อนกระเพาะปัสสาวะเต็มบ่อย ๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินและทำให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากสมองจะส่งสัญญาณเตือนให้ขับถ่ายปัสสาวะแม้จะมีน้ำปัสสาวะในปริมาณน้อยก็ตาม ซึ่งการฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะจะช่วยเพิ่มความจุของกระเพาะปัสสาวะให้บรรจุน้ำปัสสาวะในปริมาณมากขึ้นก่อนปวดปัสสาวะและทำให้สามารถกลั้นปัสสาวะได้อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

โดยขั้นตอนการฝึกควบคุมการปัสสาวะสามารถทำได้ ดังนี้

  1. สำรวจการเข้าห้องน้ำ สังเกตว่าตนเองเข้าห้องน้ำบ่อยแค่ไหนในช่วงกลางวัน และมีระยะห่างของเวลาในการถ่ายปัสสาวะแต่ละครั้งนานเท่าใด
  2. ตั้งเป้าหมาย ค่อย ๆ เพิ่มระยะห่างของเวลาในการถ่ายปัสสาวะแต่ละครั้งให้นานขึ้น เช่น หากเข้าห้องน้ำบ่อยทุก ๆ 1 ชั่วโมง อาจกำหนดระยะห่างของช่วงเวลาการเข้าห้องน้ำเป็นทุก ๆ 1 ชั่วโมง 15 นาที
  3. ฝึกกลั้นปัสสาวะ เมื่อเริ่มฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะแล้ว ควรถ่ายปัสสาวะในตอนเช้า แล้วกลั้นปัสสาวะให้นานจนถึงเวลาที่กำหนดไว้ หากครบกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ จึงเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่ายปัสสาวะแม้จะไม่รู้สึกปวดปัสสาวะก็ตาม กรณีที่ปวดปัสสาวะก่อนเวลาที่กำหนด ให้ระลึกไว้เสมอว่ากระเพาะปัสสาวะยังไม่เต็ม โดยอาจใช้วิธีบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เช่น การขมิบช่องคลอด เพื่อยืดเวลาในการกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้น หรือรอจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนดแล้วเดินไปเข้าห้องน้ำอย่างช้า ๆ เป็นต้น
  4. เพิ่มระยะเวลาการกลั้นปัสสาวะ เมื่อสามารถกลั้นปัสสาวะจนถึงเวลาที่ตั้งไว้ อาจเพิ่มระยะเวลาระหว่างการถ่ายปัสสาวะให้นานขึ้นอีก 15 นาที เมื่อฝึกควบคุมการขับถ่ายกระเพาะปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันหลายสัปดาห์ จะพบว่าตนเองสามารถกลั้นปัสสาวะได้นานขึ้น โดยภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือพฤติกรรมที่ต้องรีบเข้าห้องน้ำอย่างทันทีจะค่อย ๆ ดีขึ้น 

ความเสี่ยงจากการอั้นฉี่ และสัญญาณอาการป่วย

แม้การกลั้นปัสสาวะเป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ โดยอาจทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แต่ความจริงแล้วการกลั้นปัสสาวะเพียงอย่างเดียวไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ เนื่องจากภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อเมื่ออวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการกลั้นปัสสาวะนานเกินไปอาจทำให้จำนวนของเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ที่มีภาวะติดเชื้อจะมีอาการเจ็บแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปวดท้องน้อย ปัสสาวะปนเลือด ปัสสาวะขุ่นและมีกลิ่นเหม็น แต่อาการเหล่านี้สามารถรักษาให้หายได้หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม หากการติดเชื้อรุนแรงมากอาจส่งผลให้กรวยไตอักเสบหรือเกิดการติดเชื้อที่ไตได้ โดยผู้ป่วยจะมีไข้ รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น ปวดบริเวณขาหนีบ ปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย เจ็บแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะขาวขุ่นมีกลิ่นเหม็น และปัสสาวะปนเลือดหรือหนอง ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันการณ์ ไตอาจถูกทำลาย หรืออาจเสี่ยงเผชิญภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้น หากมีปัญหาในระบบขับถ่ายปัสสาวะ หรือมีอาการผิดปกติใด ๆ ควรไปปรึกษาแพทย์และรับการตรวจรักษา เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพดังที่กล่าวมาข้างต้น

วิธีดูแลระบบทางเดินปัสสาวะให้แข็งแรง

การอั้นฉี่หรือการกลั้นปัสสาวะนั้น ในบางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อกระเพาะปัสสาวะได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดและป้องกันปัญหาดังกล่าวได้

ปัสสาวะให้สุด

การขมิบกล้ามเนื้อให้ปัสสาวะหยุดไหลเร็วเกินไป อาจทำให้น้ำปัสสาวะที่เหลืออยู่ตกค้างและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้ จึงควรปัสสาวะให้สุดทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ

ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม

ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อช่วยขับแบคทีเรียออกจากระบบทางเดินปัสสาวะ และควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟและน้ำอัดลม เนื่องจากคาเฟอีนอาจทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น และควรดื่มน้ำน้อยลงเมื่อจำเป็น โดยผู้ที่มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่ได้หรือต้องเข้าห้องน้ำบ่อย อาจลดปริมาณการดื่มน้ำให้น้อยลงในช่วงเวลาที่จำเป็น เช่น ก่อนเดินทางระยะไกล ก่อนดูภาพยนตร์ หรือก่อนเข้านอน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ

ดูแลสุขอนามัยทางเพศ

การมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบในเพศหญิงได้ เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงอยู่ในบริเวณที่มีเชื้อแบคทีเรียสะสม ดังนั้น ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศและบริเวณทวารหนักภายนอกก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ และควรถ่ายปัสสาวะทั้งก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะช่วยขับแบคทีเรียออกมาได้

ขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

การขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อฝึกการขมิบอย่างถูกวิธีด้วย

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้