ชอบกัดเล็บ รู้จักสาเหตุและวิธีหยุดพฤติกรรมก่อนติดเป็นนิสัย

กัดเล็บเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาพ สภาพเล็บ และบุคลิกภาพ สามารถพบได้ในคนทุกวัย แต่พบบ่อยและมักเริ่มต้นในช่วงวัยเด็ก ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมักหายไปเมื่อโตขึ้น แต่เด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมกัดเล็บติดตัวไปจนโตได้เช่นกัน 

หลายคนอาจสงสัยว่าการกัดเล็บมีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่ามีหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมนี้ขึ้น นอกจากสาเหตุแล้ว บทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยอื่น ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมกัดเล็บให้ทุกคนรู้กัน

Close,Up,Of,A,Female,Mouth,Biting,Her,Fingers

สาเหตุของพฤติกรรมกัดเล็บที่คนอาจไม่รู้

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุแน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์บางส่วนคาดว่าพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเด็กที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เคยกัดเล็บ แม้ปัจจุบันจะหยุดกัดเล็บแล้ว ลูกที่เกิดมาอาจมีความเสี่ยงของพฤติกรรมกัดเล็บได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติม

จากข้อมูลล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญพบว่าปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจกระตุ้นพฤติกรรมกัดเล็บได้โดยไม่รู้ตัว เช่น

  • ความรู้สึกด้านลบ อย่างความเบื่อ ความรู้สึกร้อนรน หงุดหงิด ไม่สบายใจ ความเครียด ความวิตกกังวล และความกดดัน
  • สถานการณ์ที่ต้องใช้สมาธิ อย่างการทำงาน การเรียน หรือการสอบ
  • ความรู้สึกดี มีความสุข หรือพึงพอใจเมื่อได้กัดเล็บ

จะเห็นได้ว่าปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์พบเจอได้ทุกวัน ซึ่งคนที่มีพฤติกรรมกัดเล็บที่ต้องอยู่ในภาวะอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้สมาธิอาจได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมดังกล่าวได้

กัดเล็บส่งผลเสียยังไง ทำไมถึงควรหยุด

การกัดเล็บส่งผลเสียได้หลายด้าน และอาจส่งผลได้มากกว่าที่หลายคนคิด เช่น

เล็บเสียหายและผิดรูป

การกัดเล็บสามารถสร้างความเสียหายให้กับเล็บและผิวหนังรอบ ๆ เล็บได้ โดยอาจทำให้เล็บมีรูปร่างที่ผิดปกติ สั้นกุดผิดปกติ ไม่สวยงาม เลือดออก เมื่อเล็บและเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงหรือต่อเนื่องก็อาจทำให้เล็บงอกไปในลักษณะที่ผิดปกติและอาจแก้ไขไม่ได้

ความเสียหายของเล็บและลักษณะที่เปลี่ยนไป จะส่งผลต่อหน้าที่ของเล็บในการปกป้องปลายนิ้วมือ ทำให้นิ้วเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากขึ้น โดยเล็บที่สั้นกุดและผิดรูปอาจส่งผลต่อการหยิบของและถือของ ไม่เพียงเท่านั้น การกัดเล็บอาจเพิ่มความเสี่ยงของความผิดปกติเกี่ยวกับเล็บ อย่างจมูกเล็บฉีก ขอบเล็บติดเชื้อ และภาวะติดเชื้อราที่เล็บ

สุขภาพฟันที่อ่อนแอลง

แม้ว่าฟันของคนเราจะเป็นอวัยวะที่แข็งแรงจนหลายคนไม่ได้ใส่ใจ แต่การใช้ฟันกัดเล็บหรือแทะเล็บที่มีความแข็งและใช้แรงอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างความเสียหายให้กับฟันได้ไม่ต่างกัน ทำให้อาจเสี่ยงต่อสุขภาพฟันที่อ่อนแอ เช่น ฟันสึก ฟันบิ่น ฟันแตก และในระยะยาวอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกรามและการบดเคี้ยว เนื่องจากการเคี้ยวหรือแทะของแข็งอย่างเล็บมากเกินไป

เสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ

เล็บและนิ้วมือเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค เพราะเป็นอวัยวะที่ใช้ในการจับ ถือ และทำสิ่งต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งยังใช้งานอยู่เกือบตลอดเวลา ทำให้มีการสัมผัสกับสิ่งสกปรก ฝุ่นควัน สารเคมี และเชื้อโรค การเผลอกัดเล็บที่โดยไม่รู้ตัวจึงเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

นอกจากนี้ เชื้อโรคอาจเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารผ่านทางปากและลำคอเมื่อเรากัดเล็บ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคติดเชื้อและอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้ เช่น

  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อย่างโรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคคออักเสบ
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

มาถึงตรงนี้จะสังเกตได้ว่านอกจากสุขภาพเล็บที่ย่ำแย่แล้ว พฤติกรรมการกัดเล็บอาจส่งผลต่อบุคลิกภาพและความมั่นใจในตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อต้องสัมภาษณ์งาน ทำความรู้จักกับคนใหม่ที่อาจจะต้องจับมือ ยกมือไหว้ ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ควรหยุดพฤติกรรมกัดเล็บ

การกัดเล็บเป็นปัญหาสุขภาพจิตจริงไหม

คำถามนี้อาจเป็นคำถามที่คนกัดเล็บหลายคนสงสัย อีกทั้งในข้างต้นที่ได้พูดถึงปัจจัยกระตุ้นของพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะอารมณ์ด้านลบเสียเป็นส่วนใหญ่ ในทางการแพทย์มีการระบุถึง โรคกัดเล็บ (Onychophagia) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่มีพฤติกรรมกัดเล็บแบบเรื้อรัง

โรคกัดเล็บเป็นหนึ่งในพฤติกรรม Body-Focused Repetitive Behaviors (BFRBs) และอาจเกิดร่วมกับ BFRBs ประเภทอื่น ๆ อย่างพฤติกรรมดึงผมตัวเอง และพฤติกรรมแกะผิวหนัง (Skin Picking) โดย BFRBs จัดเป็นความผิดปกติด้านพฤติกรรมที่เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

นอกจากนี้ พฤติกรรมกัดเล็บยังเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตและปัญหาทางอารมณ์ เช่น โรคสมาธิสั้น ภาวะซึมเศร้า โรคดื้อต่อต้าน (ODD: Oppositional Defiant Disorder) ภาวะกลัวการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder) และภาวะทางอารมณ์อื่น ๆ

การศึกษาชิ้นได้ศึกษาความเสี่ยงของภาวะทางอารมณ์และสมองของเด็กชั้นประถมศึกษาที่กัดเล็บและไม่มีพฤติกรรมกัดเล็บ ผ่านการเก็บข้อมูลจากผู้ปกครองจำนวน 743 คน ผลพบว่าเด็กที่มีพฤติกรรมกัดเล็บมีคะแนนความเสี่ยงของภาวะไฮเปอร์ (Hyperactivity) ปัญหาด้านอารมณ์ ปัญหาการเข้ากับเพื่อนวัยเดียวกันสูงกว่าเด็กที่ไม่กัด

หากดูจากข้อมูลข้างต้นอาจเห็นได้ว่าพฤติกรรมกัดเล็บหรือการกัดเล็บที่ติดเป็นนิสัยนั้นมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาทางอารมณ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ดังนั้น หากเด็ก ๆ ในครอบครัวหรือแม้แต่ตัวผู้ใหญ่เองกำลังเผชิญกับพฤติกรรมดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างเหมาะสม

วิธีหยุดกัดเล็บเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น

พฤติกรรมกัดเล็บมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว วิธีต่อไปนี้อาจช่วยลดความถี่และหยุดพฤติกรรมกัดเล็บได้

  • ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการกัดเล็บ
  • ดูแลสุขภาพเล็บและมือด้วยการล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ ทาสารให้ความชุ่มชื้นเพื่อป้องกันผิวบริเวณโคนเล็บลอก
  • ทาบอระเพ็ดหรือวัตถุดิบที่มีรสขมและปลอดภัยต่อร่างกายบริเวณนิ้ว เพื่อให้จดจำความรู้สึกขมเมื่อกัดเล็บ คล้ายกับความเชื่อที่ช่วยให้เด็กเล็กหย่านมแม่ แต่ผลลัพธ์อาจไม่แน่นอนเสมอไป
  • ทาเล็บ แต่งเล็บ ติดพลาสเตอร์แปะแผล เพื่อให้เกิดความแตกต่างเมื่อนำเล็บขึ้นมากัด หรือติดโน๊ตที่บนโต๊ะทำงานหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะช่วยเตือนให้คนที่กัดเล็บรู้ตัวและพยายามหยุดพฤติกรรม
  • สวมถุงมือเพื่อป้องกันการกัดเล็บ
  • เคี้ยวหมากฝรั่งเพื่อช่วยให้ปากเคลื่อนไหว ซึ่งอาจช่วยลดการกัดเล็บได้
  • สังเกตตัวเองเพื่อหาปัจจัยกระตุ้น โดยเฉพาะภาวะอารมณ์ต่าง ๆ และหาวิธีรับมือที่ถูกต้อง
  • ผ่อนคลายสมองและอารมณ์ด้วยวิธีผ่อนคลายที่ดีต่อสุขภาพ อย่างการทำงานอดิเรก การนอนหลับ การออกกำลังกาย และการทำสมาธิ
  • หากรู้ว่าตัวเองมีปัญหาด้านอารมณ์หรือปัญหาสุขภาพด้านอื่นที่อาจเกี่ยวข้อง ควรปรึกษาแพทย์
  • ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทีละเล็กละน้อย และทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

หากยังมีพฤติกรรมกัดเล็บต่อเนื่อง ลองวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล เล็บบาดเจ็บ เสียหาย ผิดรูป ไม่ว่าจะเกิดร่วมกับภาวะทางอารมณ์หรือสัญญาณอื่น ๆ หรือไม่ ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาการบาดเจ็บและบำบัดพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบจากการกัดเล็บในระยะยาวได้

โดยแพทย์อาจสอบถามเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วย พฤติกรรม ตรวจร่างกาย เล็บ นิ้ว รวมทั้งการสอบถามความถี่ ระยะเวลาของพฤติกรรม และปัจจัยกระตุ้นเพิ่มเติมเพื่อประเมินอาการ

ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้ว พฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยหรือต้องการการรักษา แพทย์แนะนำการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างการบำบัดจิตและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) ที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของพฤติกรรมและความคิด การสนับสนุนทางสังคม (Social Support) และอีกหลายวิธีตามดุลยพินิจของแพทย์

แม้ว่าการกัดเล็บจะดูเป็นนิสัยติดตัวที่ไม่ส่งผลอันตราย แต่จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวสามารถสร้างปัญหาได้ในระยะยาว และอาจมีปัญหาสุขภาพบางอย่างซ่อนอยู่เบื้องหลัง หากพฤติกรรมการกัดเล็บส่งผลเสียต่อร่างกาย จิตใจ ความรู้สึก และการใช้ชีวิต การไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาเป็นวิธีที่เหมาะสม ได้ผล และปลอดภัยที่สุด