การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ วิธีบรรเทาอาการภูมิแพ้ที่ทำได้ง่าย ๆ

เชื่อว่าคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศหรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) การล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออาจจะเป็นวิธีแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึงเมื่อเริ่มเกิดอาการคัดจมูก จาม หายใจลำบาก และมีน้ำมูกไหล มาหาคำตอบในบทความนี้กันว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ได้อย่างไร และมีข้อควรรู้ควรระวังอะไรบ้าง 

ภูมิแพ้อากาศหรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศมากผิดปกติ เช่น ฝุ่นละออง มลภาวะทางอากาศ ไรฝุ่น รังแคของสัตว์ เชื้อรา ละอองเกสรจากพืชบางชนิด หรือของเสียจากแมลงต่าง ๆ

การตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในข้างต้นส่งผลให้เยื่อบุบริเวณจมูกและลำคอเกิดการอักเสบ และนำไปสู่อาการแพ้ที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิดและรำคาญใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก และคันคอ ซึ่งนอกจากการรับประทานยาแก้แพ้บรรเทาอาการแล้ว การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ในข้างต้นได้

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ วิธีบรรเทาอาการภูมิแพ้ที่ทำได้ง่าย ๆ

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นการใช้อุปกรณ์ล้างจมูก อย่างกระบอกฉีดยาหรือไซริงค์ร่วมกับอุปกรณ์จุกล้างจมูก ดันน้ำเกลือเข้าสู่โพรงจมูกเพื่อให้น้ำเกลือช่วยชำระล้างน้ำมูก สารก่อภูมิแพ้ และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อยู่ภายในโพรงจมูก และเพิ่มความชุ่มชื้นให้เยื่อบุบริเวณไซนัส ซึ่งจะช่วยให้อาการคัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล และอาการแพ้ต่าง ๆ ดีขึ้น 

นอกจากนี้ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือยังมีประโยชน์ต่อผู้ที่ใช้ยาพ่นทางจมูก โดยจะช่วยให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูกและออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อคนที่มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น ช่วยทำความสะอาดโพรงจมูกและโพรงไซนัสสำหรับผู้ที่มีโรคทางจมูก ระบายหนองจากโพรงไซนัส บรรเทาอาการอักเสบและการระคายเคืองในโพรงจมูกสำหรับผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบ    

การล้างจมูกถือเป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย สามารถทำได้เองที่บ้าน โดยทั่วไปแล้วจะเหมาะกับผู้ที่อายุ 2 ปีขึ้นไป เนื่องจากเด็กเล็กอาจยังไม่สามารถควบคุมการใช้อุปกรณ์ล้างจมูกจนอาจเสี่ยงต่อการสำลักได้ หรืออาจปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อให้แพทย์ดูความเหมาะสม และช่วยแนะนำการจัดท่าทางที่ถูกต้องเพื่อป้องกันเด็กสำลัก

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางอย่าง เช่น ผู้ที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทหรือการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ ผู้ที่ติดเชื้อในหู และผู้ที่โพรงจมูกอุดตันจนหายใจลำบาก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

ขั้นตอนการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือและข้อควรระวัง

ก่อนการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ควรล้างมือให้สะอาดและเตรียมน้ำเกลือให้พร้อม โดยสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์น้ำเกลือสำเร็จรูปปราศจากเชื้อที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อทั่วไป

การเลือกซื้อน้ำเกลือสำเร็จรูป ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากเชื้อ ได้มาตรฐาน และมีความเข้มข้นของเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่ 0.9% เนื่องจากเป็นระดับความเข้มข้นที่จะไม่ส่งผลให้เยื่อบุโพรงจมูกเกิดการระคายเคือง รวมถึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของสารอื่น ๆ เช่น สารแต่งสี สารแต่งกลิ่น และวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันการเกิดอาการระคายเคืองภายในโพรงจมูก

หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์สำหรับฉีดน้ำเกลือและน้ำเกลือเสร็จ ให้ทำตามวิธีต่อไปนี้

  1. ยืนที่บริเวณขอบอ่าง และโน้มตัวไปข้างหน้าประมาณ 45 องศา 
  2. หันหน้าข้างใดข้างหนึ่งไปด้านข้างเล็กน้อย เพื่อให้รูจมูกข้างใดข้างหนึ่งอยู่ต่ำกว่า
  3. ดันน้ำเกลือเข้ารูจมูกข้างที่อยู่ด้านบนและอ้าปากเล็กน้อยจนน้ำเกลือไหลออกมาจากรูจมูกอีกข้างหรือปาก โดยขณะที่ฉีดน้ำเกลือ ให้บ้วนน้ำเกลือทิ้งเสมอ และหายใจทางปากแทน
  4. หลังจากฉีดน้ำเกลือจนหมด ให้สั่งน้ำมูกเบา ๆ เพื่อให้น้ำเกลือหรือสิ่งตกค้างในโพรงจมูกไหลออกมาให้หมด
  5. สลับทำตามขั้นตอนด้านบนใหม่ทั้งหมดอีกครั้งกับรูจมูกอีกข้างหนึ่ง

โดยทั่วไป การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นวิธีปลอดภัย และมักไม่ส่งผลข้างเคียงใด ๆ ต่อร่างกาย ซึ่งผู้ที่มีอาการจากโรคภูมิแพ้อาจล้างวันละ 2 ครั้ง ทั้งตอนเช้าและก่อนเข้านอน หรืออาจมากกว่านั้นหากพบอาการบ่อย ๆ 

อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดไซนัสอักเสบซ้ำเพิ่มขึ้นได้ และที่สำคัญ ควรตรวจดูความสะอาดของผลิตภัณฑ์น้ำเกลือก่อนใช้เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจปนมากับน้ำเกลือ หรืออาจปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสมก่อนเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย 

นอกจากนี้ หากอาการต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังจากการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือติดต่อกันเกิน 10 วัน ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่พบอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ขึ้นสูง น้ำมูกปนเลือดหรือมีสีเขียวเข้ม น้ำมูกและเสมหะส่งกลิ่นเหม็น หายใจมีเสียงหวีด หรืออาการมีความรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 23 มีนาคม 2564
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ.นิลวรรณ นิมมานวรวงศ์

เอกสารอ้างอิง

  • U.S. Food & Drug Administration (2021). Consumer Updates. Is Rinsing Your Sinuses With Neti Pots Safe?.
  • นศภ.กิตติศักดิ์ งิ้วลาย. มหาวิทยาลัยมหิดล (2021). คณะเภสัชศาสตร์. ล้างจมูกติดต่อกันทุกวันเป็นอันตรายหรือไม่.
  • รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน. มหาวิทยาลัยมหิดล (2016). คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. คลายข้อสงสัย...เรื่องล้างจมูก (ตอนที่ 2).
  • Cleveland Clinic (2020). Diseases and Conditions. Allergic Rhinitis (Hay Fever).
  • Cafasso, J. Healthline (2019). How to Do a Sinus Flush at Home.
  • DerSarkissian, C. WebMD (2020). Nasal Irrigation: Natural Relief for Cold & Allergy Symptoms.