Nitrofurantoin (ไนโตรฟูแรนโทอิน)

Nitrofurantoin (ไนโตรฟูแรนโทอิน)

Nitrofurantoin (ไนโตรฟูแรนโทอิน) เป็นยาปฏิชีวนที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย นำมาใช้รักษาและป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

ยา Nitrofurantoin มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

1666 Nitrofurantoin resized

เกี่ยวกับยา Nitrofurantoin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาและป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Nitrofurantoin

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ แพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาหากเป็นโรคไตรุนแรง มีประวัติดีซ่าน ตับผิดปกติจากการใช้ยา Nitrofurantoin มาก่อน ปัสสาวะน้อยกว่าปกติหรือไม่ปัสสาวะ และอยู่ในช่วง 2-4 สัปดาห์ก่อนคลอด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากเป็นโรคไต ภาวะโลหิตจาง โรคเบาหวาน มีการขาดวิตามินบี เกลือแร่ในร่างกายขาดความสมดุล เป็นโรคที่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย หรือมีภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase: G6PD)
  • ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือนใช้ยา Nitrofurantoin
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้เสมอ
  • ห้ามให้นมบุตรในระหว่างที่ใช้ยา เพราะยาอาจซึมผ่านสู่น้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาลดกรดโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะยาลดกรดบางชนิดอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยา Nitrofurantoin ได้ยาก

ปริมาณการใช้ยา Nitrofurantoin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะชนิดไม่ซับซ้อน

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 50-100 มิลลิกรัม ในเวลาก่อนนอน
    เด็ก อายุ 3 เดือนขึ้นไป รับประทานยาปริมาณ 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

รักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเฉียบพลันชนิดไม่ซับซ้อน

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 50-100 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
  • เด็ก อายุ 3 เดือนขึ้นไป รับประทานยาปริมาณ 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 4 ครั้ง

การใช้ยา Nitrofurantoin

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • รับประทานยา Nitrofurantoin พร้อมมื้ออาหารหรือหลังอาหารทันที
  • ในการใช้ยาชนิดสารละลาย ให้เขย่าขวดก่อนนำไปวัดปริมาณยา โดยใช้ช้อนหรือถ้วยสำหรับวัดปริมาณยา
  • ต้องใช้ยาให้ครบกำหนดตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะอาการอาจดีขึ้นก่อนที่โรคจะหายเป็นปกติ และอย่าลืมใช้ยา เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้
  • โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะได้รับยาต่ออีก 3 วันขึ้นไปหลังจากทดสอบทางห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบการติดเชื้อ
  • กรณีที่ผู้ป่วยต้องใช้ยาติดต่อกันในระยะยาว อาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกายบ่อยครั้ง
  • การใช้ยา Nitrofurantoin อาจทำให้การทดสอบทางการแพทย์บางชนิดคลาดเคลื่อน เช่น การทดสอบกลูโคสในปัสสาวะ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ผู้ตรวจทราบว่ากำลังใช้ยานี้ก่อนเข้ารับการตรวจ
  • การใช้ยา Nitrofurantoin อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย โดยเฉพาะท้องเสียเป็นน้ำหรือปนเลือด แต่ห้ามใช้ยาเพื่อหยุดอาการท้องเสียนอกจากแพทย์จะสั่ง
  • เก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด
  • หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาของยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยารอบต่อไป ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Nitrofurantoin

การใช้ยา Nitrofurantoin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ท้องอืด ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสีย คันหรือมีของเหลวไหลออกจากช่องคลอด เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Nitrofurantoin ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์

  • ท้องเสียเป็นน้ำหรือปนเลือด
  • มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามตัว เหนื่อย น้ำหนักตัวลด
  • เหน็บชา หรือเจ็บที่มือและเท้า
  • เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอกอย่างกะทันหัน หายใจมีเสียง มีปัญหายในการหายใจ ไอหรือไอมากขึ้น
  • การทำงานของตับผิดปกติ ซึ่งอาจมีอาการ เช่น คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน คัน เหนื่อย เบื่ออาหาร ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด และตัวเหลืองตาเหลือง เป็นต้น
  • กลุ่มอาการคล้ายโรคลูปัส ซึ่งอาจทำให้มีอาการ เช่น ปวดข้อหรือข้อบวมพร้อมกับมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บหน้าอก อาเจียน มีความคิดหรือพฤติกรรมผิดปกติ และสีผิวไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่รุนแรงมักเกิดกับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ และหากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน