Lurasidone (ลูราซิโดน)

Lurasidone (ลูราซิโดน)

Lurasidone (ลูราซิโดน) เป็นยารักษาโรคจิตเภทและโรคไบโพลาร์ ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์ปรับความสมดุลของสารเคมีในสมอง ช่วยปรับอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด บรรเทาอาการวิตกกังวล ลดอาการประสาทหลอน ช่วยให้นอนหลับ และรู้สึกอยากอาหาร ทั้งนี้ Lurasidone อาจนำมาใช้รักษาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ได้

Lurasidone

เกี่ยวกับยา Lurasidone

กลุ่มยา ยารักษาอาการทางจิต (Antipsychotic)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคจิตเภทและโรคไบโพลาร์
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ยังไม่มีการระบุ
หมวดหมู่สำหรับการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ แต่หากกำลัง
ตั้งครรภ์ในขณะที่ใช้ยานี้ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
เนื่องจากการใช้รักษาอาการทางจิตในช่วงไตรมาสสุดท้าย
ของการตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ทั้งนี้ ไม่ควร
หยุดใช้ยาด้วยตนเอง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์
ในการหยุดใช้ยาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด
สำหรับผู้ที่ให้นมบุตรขณะใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ถึง
ความเสี่ยงต่อทารกก่อนเสมอ

คำเตือนในการใช้ยา Lurasidone

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยกำลังใช้ยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิด เพราะตัวยาอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนเกิดผลข้างเคียงหรือมีประสิทธิภาพลดลง อีกทั้งตัวยาบางชนิดก็ไม่ควรรับประทานร่วมกับยานี้ แพทย์จึงอาจต้องเปลี่ยนแผนการรักษาให้เหมาะสม เช่น ยาต้านเชื้อราอย่างยาคีโตโคนาโซลหรือยาวอริโคนาโซล ยาปฏิชีวนะอย่างยาคลาริโทรมัยซินหรือยาไรแฟมพิซิน ยาต้านไวรัสอย่างยาริโทนาเวียร์ ยากันชักอย่างยาคาร์บามาซีปีนหรือยาเฟนิโทอิน เป็นต้น 
  • หากผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวมีประวัติทางการแพทย์ใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ คอเลสเตอรอลสูง ไตรกลีเซอไรด์สูง โรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง โรคอ้วน โรคสมองเสื่อม มีปัญหาในการกลืน มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ชัก โรคตับ โรคไต มีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ ต่อมไทรอยด์หรือต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ โรคมะเร็งเต้านม มีความคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย เป็นต้น
  • การเริ่มใช้ยาครั้งแรกอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายมีความคิดฆ่าตัวตายโดยเฉพาะผู้ป่วยวัยรุ่น แพทย์จึงจะตรวจดูอาการของผู้ป่วยเป็นระยะตั้งแต่เริ่มใช้ยา จึงควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และอาการอื่น ๆ ของผู้ป่วย 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
  • ยาอาจทำให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะและง่วงซึม จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายจนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย อีกทั้งยังควรลุกขึ้นจากท่านั่งหรือนอนอย่างช้า ๆ และระมัดระวังในการขึ้นลงบันไดขณะใช้ยา เพราะอาจเป็นสาเหตุของการหกล้ม อุบัติเหตุ 
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานเกรปฟรุต การดื่มน้ำเกรปฟรุต หรือการใช้ผลิตภัณฑ์จากเกรปฟรุต เพราะอาจทำปฏิกิริยากับยาลูราซิโดนและเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ 
  • การใช้ยานี้อาจส่งผลให้ร่างกายไวต่ออุณหภูมิอย่างภาวะร้อนจัด ผู้ป่วยจึงควรดื่มน้ำให้มาก ๆ โดยเฉพาะในวันที่อากาศร้อนหรือในระหว่างการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำหรือร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป
  • ผู้ป่วยสูงอายุอาจไวต่อการเกิดผลข้างเคียงของยานี้ได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะอาการง่วงซึม เวียนศีรษะ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการหกล้มสูงกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดบ่อยครั้งในขณะที่ใช้ยานี้
  • ไม่อนุญาตให้ใช้ยาลูราซิโดนรักษาโรคจิตเภทในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี หรือใช้รักษาโรคไบโพลาร์ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี

ปริมาณการใช้ยา Lurasidone

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาอาจแตกต่างกันไปตามโรคของผู้ป่วย โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาโรคจิตเภท

ตัวอย่างการใช้ยา Lurasidone เพื่อรักษาโรคจิตเภท

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องปริมาณ 40-160 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 160 มิลลิกรัม/วัน

เด็กอายุ 13-17 ปี เริ่มรับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องปริมาณ 40-80 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน 

รักษาโรคไบโพลาร์

ตัวอย่างการใช้ยา Lurasidone เพื่อรักษาโรคไบโพลาร์

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องปริมาณ 20-120 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน

เด็กอายุ 10-17 ปี เริ่มรับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละครั้ง และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องปริมาณ 20-80 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน    

การใช้ยา Lurasidone

วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • ควรรับประทานยาพร้อมกับมื้ออาหาร โดยผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่ให้พลังงานอย่างน้อย 350 แคลอรี่
  • ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยานี้เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์จนกว่าอาการจะดีขึ้น จึงควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์ หากอาการไม่ดีขึ้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • หากยาใกล้จะหมด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับยามาเพิ่ม ไม่ควรรอให้ยาหมดก่อนแล้วจึงไปรับยา
  • ผู้ป่วยไม่ควรหยุดใช้ยานี้กะทันหัน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไปพอดี ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากผู้ป่วยสงสัยว่าตนเองรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกรด้วย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Lurasidone

ยาลูราซิโดนมักก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีอาการสั่น กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง มีปัญหาในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ รู้สึกกระสับกระส่ายหรืออยู่ไม่สุข คลื่นไส้ อาเจียน น้ำมูกไหล หรือมีปัญหาในการนอนหลับ เป็นต้น 

กรณีที่ใช้ยาในปริมาณสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวผิดปกติอย่างรุนแรง หรือไม่อาจควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปาก ลิ้น ดวงตา ใบหน้า แขน หรือขาได้ โดยบางรายอาจมีอาการถาวร รวมทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้สูงอายุเพศหญิงอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการดังกล่าวมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น  

ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากผู้ป่วยรับประทานยาแล้วเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้   

  • มีสัญญาณอาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น
  • มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้
  • มีปัญหาในการกลืน น้ำลายไหล
  • เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ
  • ชัก
  • ในเพศหญิงมีประจำเดือนผิดปกติ มีน้ำนมไหล
  • ในเพศชายอาจหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เต้านมขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ หรืออวัยวะเพศแข็งตัวผิดปกติ
  • มีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบาย มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอหรือปาก เหงือกบวม รู้สึกเจ็บขณะกลืน มีแผลที่ผิวหนัง มีอาการคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ไอ หรือหายใจลำบาก
  • มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น กระหายน้ำมากขึ้น ปริมาณปัสสาวะมากขึ้น หิวง่าย ปากแห้ง ลมหายใจเป็นกลิ่นผลไม้ เป็นต้น
  • มีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อแข็งเกร็งมาก ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เพลียมาก ปัสสาวะมีสีเข้ม ปริมาณของปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป มีไข้สูง เหงื่อออก สับสน หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ สั่น รู้สึกคล้ายจะหมดสติ เป็นต้น
  • ระดับความดันโลหิตลดลงอย่างมากจนอาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ และอาจเสี่ยงต่อการหกล้ม

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหรือมีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรม วิตกกังวล ตื่นตระหนก มีปัญหาในการนอนหลับ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ รู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย มีอาการต่อต้าน ก้าวร้าว กระสับกระส่าย คึกคักหรือซึมเศร้ามากกว่าปกติ และมีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง รวมถึงพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่นนอกเหนือจากนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว