ความหมาย โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)
โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus: DM) เป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หรือการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จนเกิดน้ำตาลสะสมในเลือดปริมาณมาก
หากปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะนี้เป็นเวลานานจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อม เกิดโรคและอาการแทรกซ้อนขึ้นได้ ซึ่งในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดว่าผู้ป่วยรายใหม่อาจเพิ่มประมาณปีละ 3 แสนคน และคนอายุยังน้อยหรืออายุ 15 ปีขึ้นไปที่เริ่มป่วยเป็นโรคเบาหวานก็มีจำนวนมากขึ้นด้วย
อาการของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานในระยะแรกจะไม่แสดงอาการผิดปกติ บางรายอาจตรวจพบโรคเบาหวานเมื่อพบภาวะแทรกซ้อนแล้ว อาการของโรคเบาหวานแต่ละชนิดอาจคล้ายกัน ซึ่งอาการที่พบส่วนใหญ่คือ กระหายน้ำมาก ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ สายตาพร่ามัว เห็นภาพไม่ชัด รู้สึกเหนื่อยง่าย มีอาการชา โดยเฉพาะมือและขา บาดแผลหายยาก
ทั้งนี้ อาการของโรคเบาหวานประเภทที่ 1 จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่โรคเบาหวานประเภทที่ 2 จะแสดงอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 24–28 สัปดาห์
สาเหตุของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานมีหลายประเภท ซึ่งสามารถแยกสาเหตุของโรคเบาหวานตามประเภทที่พบโดยทั่วไปออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
- เบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้
- เบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes) เกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ หรือเกิดภาวะการดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance)
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) ซึ่งเป็นโรคเบาหวานที่พัฒนาขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์จากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน
นอกจากโรคเบาหวานทั้ง 3 ประเภท ยังมีโรคเบาหวานที่พบได้ไม่บ่อยอย่างโรคเบาหวานที่เกิดจากกรรมพันธุ์หรือแบบโมโนเจนิก (Monogenic Diabetes) และโรคเบาหวานจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ยารักษาโรคบางชนิด หรือโรคชนิดอื่นอย่างโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานก็เช่น คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 หรือ 2 มาก่อน อายุที่มากขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักตัวมาก ไม่ค่อยออกกำลังกายหรือขยับตัว รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ หรือมีปัญหาสุขภาพอย่างโรคความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูง
การวินิจฉัยโรคเบาหวาน
แพทย์จะสอบถามอาการผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัว รวมถึงตรวจร่างกาย และที่สำคัญต้องอาศัยการตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดเป็นหลัก โดยมีวิธีการวิเคราะห์ระดับน้ำตาลในเลือดหลายวิธี ได้แก่
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ (Random/Casual Plasma Glucose Test)
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting Plasma Glucose: FPG)
- การตรวจน้ำตาลเฉลี่ยสะสมหรือฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1c: HbA1c)
- การทดสอบการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลินต่อระดับน้ำตาลในเลือด (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT)
หากผู้ป่วยไม่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจน คือ หิวน้ำมาก ปัสสาวะบ่อยและมาก น้ำหนักตัวลดลงโดยที่ไม่มีสาเหตุ การตรวจด้วยวิธีทั้งหมดข้างต้นจำเป็นต้องมีการตรวจซ้ำอย่างน้อย 1 ครั้งด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย
ทั้งนี้ ระดับน้ำตาลในเลือดยังบ่งบอกถึงภาวะก่อนเป็นเบาหวานได้ด้วย (Prediabetes) โดยผู้ที่มีความเสี่ยงอาจพัฒนาการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมองได้ง่ายกว่าผู้อื่น
การรักษาโรคเบาหวาน
การรักษาผู้ป่วยเบาหวานในประเภทที่ 1 จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปทดแทนในร่างกายด้วยการฉีดยาเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการคุมอาหารและออกกำลังกายที่เหมาะสม
ในขณะที่โรคเบาหวานประเภทที่ 2 หากเป็นในระยะแรก ๆ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลัง และควบคุมน้ำหนัก หากอาการไม่ดีขึ้นแพทย์อาจให้ยาควบคู่ไปด้วยหรือฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทนเช่นเดียวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1
สำหรับผู้เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรเข้าฝากครรภ์กับแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรก พร้อมทั้งควบคุมอาหารที่รับประทานและออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์
นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดแผลเบาหวานขึ้นที่เท้า แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์ป้องกันแผล เช่น รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เฝือก หรือผ้าพันแผล หากแผลเริ่มมีลักษณะรุนแรงขึ้น แพทย์อาจวางแผนการรักษาตามเหมาะสม ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของแผลเบาหวานที่เป็น ทั้งนี้ หากรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจต้องตัดอวัยวะทิ้งเพื่อป้องกันอาการลุกลาม
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติ หากไม่มีการควบคุมการรับประทานอาหารและดูแลรักษาสุขภาพอย่างถูกวิธี ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อเส้นเลือดที่นำสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะในร่างกายจนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
ทั้งโรคแทรกซ้อนชนิดที่เกิดกับเส้นเลือดขนาดเล็ก เช่น เบาหวานขึ้นตา หรือโรคไต โรคแทรกซ้อนชนิดที่เกิดกับเส้นเลือดขนาดใหญ่ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน รวมไปถึงโรคแทรกซ้อนที่ระบบประสาทและโรคแทรกซ้อนที่สามารถทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียอวัยะบางส่วน นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษและการแท้งบุตรได้
การป้องกันโรคเบาหวาน
สิ่งสำคัญของการป้องกันโรคเบาหวานทุกชนิดคือ ต้องคอยหมั่นระวังระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลให้อยู่เกณฑ์ปกติ เน้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วน มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ รวมถึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
หากเป็นสตรีมีครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และเข้ารับการตรวจคัดกรองเบาหวานหากมีความเสี่ยง เพื่อที่จะสามารถตรวจพบโรคเบาหวานได้ในระหว่างการตั้งครรภ์