ไส้เลื่อน ความผิดปกติในทารกที่ไม่ควรละเลย

ไส้เลื่อน เป็นภาวะที่ลำไส้เคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมภายในช่องท้อง ทำให้เกิดก้อนนูนหรือตุงในชั้นใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องที่เห็นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อทารกร้องไห้ โดยภาวะนี้จะพบตั้งแต่กำเนิดและมักพบได้บ่อยในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด

ไส้เลื่อนเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของภาวะไส้เลื่อนที่รุนแรงและจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาโดยด่วน บทความนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นชนิดของไส้เลื่อนที่พบได้บ่อย การดูแลและการสังเกตอาการที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

Hernias in Babies

ไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นในทารกมีอะไรบ้าง

ไส้เลื่อนที่พบได้มากในทารกหรือเด็กเล็กมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ

ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical Hernia)

เป็นภาวะที่จะเกิดขึ้นเมื่อช่องหน้าท้องของทารกไม่ปิดหรือปิดช้ากว่าปกติและลำไส้บางส่วนเคลื่อนตัวออกมาบริเวณสะดือ ทำให้สะดือยื่นหรือบวมออกมา ไส้เลื่อนประเภทนี้มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องแต่กำเนิด แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดหรือหนีบสายสะดือของแพทย์ผู้ทำคลอด

คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นก้อนนูนบริเวณหน้าท้องของทารกหรือเด็กได้อย่างชัดเจนเมื่อเด็กร้องไห้ ไอ หรือเกร็งตัวเมื่อขับอุจจาระ แต่ก้อนนูนดังกล่าวอาจหายไปเมื่อเด็กนอนพักหรืออยู่ในสภาวะผ่อนคลาย ซึ่งการบวมนูนที่เกิดขึ้นนี้ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด

ทั้งนี้ หากลำไส้ของเด็กติดอยู่ในช่องหน้าท้องและไม่เคลื่อนตัวกลับไปยังตำแหน่ง ส่งผลให้เด็กมีอาการบวมบริเวณสะดือ รู้สึกเจ็บรอบ ๆ สะดือ อาเจียนหรือผิวบริเวณสะดือเปลี่ยนสี ผู้ปกครองควรนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (Inguinal Hernia)

ไส้เลื่อนที่ขาหนีบพบมากในทารกที่คลอดก่อนกำหนด แม้ว่ายังหาสาเหตุไม่ได้แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเป็นผลมาจากผนังหน้าท้องของทารกไม่ปิดเข้าหากันตอนคลอดหรือเกิดจากความอ่อนแอของผนังหน้าท้องทารก นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการเป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบอาจเพิ่มขึ้นหากคนในครอบครัวมีประวัติการป่วยด้วยภาวะนี้ ตัวเด็กเองป่วยด้วยโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) หรือมีภาวะอัณฑะไม่ลงถุงอัณฑะ

โดยคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นก้อนหรือรอยนูนบริเวณขาหนีบ ท้องช่วงล่าง ถุงอัณฑะหรืออวัยวะเพศหญิงภายนอก (Labia) ของทารก ก้อนนูนจะมีลักษณะผลุบ ๆ โผล่ ๆ ตามท่าทางของเด็ก เช่น ถ้าเด็กไอ จาม ร้องไห้ หรือเบ่ง ก้อนจะโผล่ขึ้น แต่หากเด็กนอนหงายหรืออยู่ในท่าพักธรรมดา ก้อนดังกล่าวจะยุบหายไป

เมื่อลูกน้อยเป็นไส้เลื่อน พ่อแม่ควรดูแลอย่างไร

ผู้ป่วยภาวะไส้เลื่อนจะต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ หากเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างการมีลำไส้นูนออกและดันกลับเข้ามาในช่องท้องไม่ได้ ก้อนนูนเปลี่ยนสีหรือมีอาการปวดมาก แพทย์จะผ่าตัดทันทีเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ส่วนในเด็กที่ไม่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจดันลำไส้กลับช่องท้องก่อนแล้วจึงนัดหมายการผ่าตัดในภายหลังเพื่อลดความเสี่ยงจากการดมยาสลบ รวมถึงให้เด็กและผู้ปกครองได้มีเวลาเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดด้วย

ทารกหรือเด็กที่ป่วยด้วยภาวะไส้เลื่อนที่ขาหนีบจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เนื่องจากลำไส้อาจติดค้างหรือบิดตัว อีกทั้งยังช่วยป้องกันการกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำ โดยผู้ป่วยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ยกเว้นเด็กที่มีโรคประจำตัวหรือเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน อย่างการคลอดก่อนกำหนด มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือโรคไต ซึ่งแพทย์จะสังเกตอาการเป็นเวลา 1–2 วัน แล้วค่อยนัดหมายใหม่อีกครั้งเพื่อติดตามอาการเป็นระยะ

ทั้งนี้ หลังเข้ารับการผ่าตัดหากสังเกตเห็นว่าทารกมีอาการต่อไปนี้ พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองควรนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลทันที

  • มีไข้
  • บวม มีรอยแดงหรือเจ็บบริเวณที่ผ่าตัด
  • มีตุ่มนูนบริเวณสะดือ
  • มีเลือดหรือสารคัดหลั่งไหลออกจากบาดแผล
  • มีสารคัดหลั่งกลิ่นเหม็นอยู่ในบริเวณใกล้กับบาดแผล
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสียหรือท้องผูก
  • ขับถ่ายน้อยกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม ภาวะไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นในทารกนั้นไม่สามารถป้องกันได้ แต่สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อ คุณแม่และผู้ปกครองไม่ควรมองข้ามอาการเจ็บ ความไม่สบายตัว หรือก้อนนูนที่เกิดขึ้นกับทารกและเด็กเล็ก หากพบว่าเจ้าตัวน้อยมีอาการผิดปกติ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป