โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)

ความหมาย โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)

Trichinosis (โรคทริคิโนซิส) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งที่ชื่อทริคิเนลลา (Trichinella) โดยหลังจากการติดเชื้อ ตัวอ่อนของพยาธิจะไปเกาะอยู่บริเวณทางเดินอาหาร ต่อมาจะออกไข่แล้วกระจายไปยังกล้ามเนื้อบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายผู้ที่ติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ในระยะแรก และมีอาการปวดกล้ามเนื้อ เปลือกตาบวม หรือมีไข้ขึ้นสูงหลังจากติดเชื้อประมาณ 1 สัปดาห์

ทริคิเนลลาเป็นพยาธิตัวกลมที่มักพบได้ในสัตว์กินเนื้อ หรือสัตว์ที่เลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ เช่น หมู  หมูป่า หรือม้า ซึ่งอาจไปกินเนื้อสัตว์ตัวอื่นที่ปนเปื้อนตัวอ่อนของพยาธิอยู่ แล้วคนได้รับเชื้อพยาธินี้อีกทอดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ติดเชื้อพยาธิที่ไม่ได้ผ่านการปรุงให้สุกดีก่อน

โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)

อาการของ Trichinosis

ผู้ป่วยโรค Trichinosis จะมีอาการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อหรือจำนวนพยาธิในร่างกาย ในกรณีที่ติดเชื้อพยาธิเพียงเล็กน้อย อาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ทางร่างกาย ส่วนในรายที่พบอาการผิดปกติ อาการที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับอวัยวะในร่างกายบริเวณที่พยาธิอาศัยอยู่

ในช่วงหลัง 1–2 วันแรกหลังจากที่ตัวอ่อนพยาธิเข้าสู่ร่างกาย พยาธิจะไปอาศัยและเติบโตบริเวณลำไส้เล็ก ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และอาเจียน จากนั้นมันจะผสมพันธุ์กันแล้วออกลูกเป็นพยาธิตัวอ่อน พยาธิตัวอ่อนนี้จะเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองและเส้นเลือด จากนั้นค่อย ๆ ไชสู่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายภายในระยะเวลาประมาณ 1 อาทิตย์หลังผู้ป่วยติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ทางร่างกายตามมา เช่น

  • ไข้ขึ้นสูง
  • หนาวสั่น
  • มีผื่นขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ใบหน้าหรือเปลือกตาบวม
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • ดวงตาไวต่อแสง
  • ตาแดง

นอกจากนี้ ร่างกายอาจพบสัญญาณผิดปกติบางอย่างที่เป็นอันตราย เช่น ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามต้องการ หายใจลำบาก อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ หรืออาจนำไปสู่การเสียชีวิตในกรณีที่การติดเชื้อมีความรุนแรงมาก

ดังนั้น ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์บางชนิด เช่น เนื้อหมู หรือเนื้อสัตว์ป่าต่าง ๆ ที่ปรุงไม่สุก แล้วพบอาการในลักษณะข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่รุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

สาเหตุของ Trichinosis

Trichinosis เกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนตัวอ่อนของพยาธิเข้าไป โดยตัวอ่อนของพยาธิที่เข้าสู่ร่างกายจะไปอาศัยและเติบโตอยู่ที่บริเวณทางเดินอาหารและลำไส้เล็ก เมื่อโตเต็มที่ พยาธิที่โตเต็มวัยจะเริ่มแพร่พันธุ์หรือออกลูกเป็นตัวอ่อนจำนวนมากเข้าสู่หลอดเลือดแดง ระบบน้ำเหลือง และสามารถไปอาศัยอยู่ตามกล้ามเนื้อบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายผู้ที่ติดเชื้อ

เนื่องจากพยาธิทริคิเนลลาเป็นพยาธิที่มักพบได้ในสัตว์กินเนื้อหรือสัตว์ป่าบางชนิด การติดเชื้อส่วนใหญ่จึงพบได้มากในผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่สะอาดหรือไม่ปรุงให้สุกดีก่อนรับประทาน นอกจากนี้ ผู้ที่นำมีดและอุปกรณ์ทำอาหารซึ่งใช้กับอาหารประเภทเนื้อสัตว์มาใช้กับอาหารประเภทอื่นโดยไม่ล้างหรือทำความสะอาดให้ดีก่อนก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงเช่นกัน

การวินิจฉัย Trichinosis

ในการวินิจฉัย Trichinosis แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อพยาธิ

หากเห็นว่าผู้ป่วยอาจติดเชื้อพยาธิ แพทย์จะใช้วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อผลการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (Eosinophil) และสารภูมิต้านทานต่อพยาธิของร่างกาย โดยแพทย์อาจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็น Trichinosis หากระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือระดับสารภูมิต้านทานดังกล่าวสูงขึ้น ในบางกรณี แพทย์อาจตัดชิ้นกล้ามเนื้อบางส่วนของร่างกายไปส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาตัวอ่อนของพยาธิทริคิเนลลา

การรักษา Trichinosis

โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วย Trichinosis ที่ติดเชื้อไม่รุนแรง อาการต่าง ๆ มักดีขึ้นได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 2–3 เดือน หรือแพทย์อาจเพียงแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาลดไข้ ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอเท่านั้น

แต่ในกรณีที่การติดเชื้อมีความรุนแรงหรือต้องได้รับการรักษา แพทย์จะใช้วิธีการรักษาด้วยยาเป็นหลัก โดยชนิดของยาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอาการที่พบหรือความรุนแรงของการติดเชื้อ เช่น การใช้ยาถ่ายพยาธิบางชนิด อย่างยาอัลเบนดาโซล (Albendazole) หรือยามีเบนดาโซล (Mebendazole) เพื่อกำจัดพยาธิในลำไส้ การใช้ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ในกรณีที่แพทย์ตรวจพบพยาธิในกล้ามเนื้อ หรือการใช้ยาสเตียรอยด์บางชนิด หากผู้ป่วยเกิดอาการแพ้จากการติดเชื้อพยาธินี้ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน Trichinosis

โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วย Trichinosis มักไม่พบการเกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ นอกจากในกรณีที่การติดเชื้อมีความรุนแรง อย่างกรณีที่ตัวอ่อนพยาธิแพร่กระจายไปยังบริเวณอวัยวะที่สำคัญ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น ไซนัสอักเสบ ปอดบวม อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจวาย สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือไตอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

การป้องกัน Trichinosis

ในการป้องกัน Trichinosis ควรคำนึงถึงความสะอาดของอาหารก่อนการรับประทานเป็นหลัก โดยอาจปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้ เช่น

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นและสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสหรือประกอบอาหารประเภทเนื้อสัตว์
  • ปรุงอาหารให้สุกอย่างทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง และหลีกเลี่ยงการชิมขณะที่เนื้อสัตว์ยังไม่สุกดี
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์ทำอาหารหลังใช้เสมอ
  • แช่แข็งเนื้อหมูที่มีความหนาน้อยกว่า 15 เซนติเมตรเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 สัปดาห์ เพื่อให้พยาธิตาย ก่อนนำมาประกอบอาหาร
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์ ควรหลีกเลี่ยงการให้อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ยังไม่ผ่านการปรุงให้สุกดี