โรคชิคุนกุนยา

ความหมาย โรคชิคุนกุนยา

โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยผู้ป่วยมักมีไข้และปวดข้อต่อ ซึ่งอาการของโรคนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง จึงไม่มีวิธีรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่จะมุ่งไปที่การบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

อาการของโรคชิคุนกุนยา

อาการที่พบได้บ่อย คือ มีไข้และปวดข้อต่อ ผู้ป่วยอาจอ่อนเพลีย ปวดหัว คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่อบวม และมีผื่นขึ้นด้วย ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นหลังจากโดนยุงที่ติดเชื้อกัด 3-7 วัน และอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แบบกึ่งเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง โดยอาการของโรคมักคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่

โดยปกติ ผู้ป่วยมักหายขาดจากโรคชิคุนกุนยาภายใน 1 สัปดาห์ แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดข้อต่อนานหลายเดือนหรือเป็นปี แม้โรคนี้อาจไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่เกิด ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันเลือด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น ส่วนผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่แข็งแรงก็อาจป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่พบได้น้อย นอกจากนี้ ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วก็มีแนวโน้มที่จะไม่กลับมาติดเชื้ออีกในอนาคต

1900 โรคชิคุนกุนยา rs

สาเหตุของโรคชิคุนกุนยา

โรคชิคุนกุนยาเกิดจากการถูกยุงลายตัวเมียที่มีเชื้อไวรัสกัด โดยเป็นยุงชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ซิกา ซึ่งมักพบยุงชนิดนี้ได้ในเวลากลางวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าตรู่และช่วงบ่ายคล้อย โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคที่แพร่กระจายได้ง่าย แต่มีโอกาสน้อยมากที่ทารกจะได้รับเชื้อจากมารดาที่เป็นโรคนี้อยู่ และยังไม่พบรายงานการติดเชื้อของทารกที่กินนมแม่หรือผู้ที่ติดเชื้อจากการถ่ายเปลี่ยนเลือด

การวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยา

แม้อาการของโรคชิคุนกุนยาอาจคล้ายกับอาการของโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ซิกา แต่หากผู้ป่วยมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ อาศัยอยู่ในแหล่งที่โรคนี้ระบาด ร่วมกับมีอาการคล้ายเป็นโรคนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา โดยแพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัส ส่วนประกอบของยีนที่พบในไวรัส หรือภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยที่มีต่อไวรัสชนิดนี้

การรักษาโรคชิคุนกุนยา

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน ยา หรือวิธีรักษาโรคชิคุนกุนยาแบบเฉพาะเจาะจง แต่ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคนี้ได้ด้วยการดื่มน้ำเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงรับประทานยาเพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาแอสไพรินหรือยาต้านการอักเสบจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ได้เป็นไข้เลือดออก เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกผิดปกติ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนหากกำลังรับประทานยาชนิดอื่นอยู่

ภาวะแทรกซ้อนของโรคชิคุนกุนยา

ผู้ป่วยอาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น มีแผลตุ่มน้ำที่ผิวหนัง มีเลือดออก เป็นต้น โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในหลายเดือนต่อมา เช่น ปวดข้อ ข้ออักเสบ เอ็นหุ้มข้ออักเสบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่อาจรุนแรงแต่พบได้น้อย เช่น ม่านตาอักเสบ จอตาอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ ไตอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองและไขสันหลังอักเสบ เส้นประสาทสมองเป็นอัมพาต และกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร เป็นต้น

การป้องกันโรคชิคุนกุนยา

ผู้ที่อาศัยอยู่หรือต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่กระจายของโรคชิคุนกุนยา อาจป้องกันการติดโรคได้ ดังนี้

  • ระวังไม่ให้ยุงกัด โดยใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
  • ใช้ยาไล่เเมลงหรือยาจุดกันยุงที่อาจช่วยป้องกันยุงภายในอาคารได้
  • อยู่ในห้องที่มีประตูและหน้าต่างมุ้งลวด หรือห้องปิดสนิทที่มีเครื่องปรับอากาศ
  • เด็กเล็ก ผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุที่นอนกลางวัน ควรนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงกัด
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แหล่งน้ำขังตามธรรมชาติ ภาชนะที่มีน้ำขัง เป็นต้น
  • ในสถานที่ที่มีการแพร่กระจายของโรค อาจพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อฆ่ายุงและลูกน้ำยุงลายตามแหล่งน้ำที่พบยุงชุกชุม