โรคจากการหดรัดของแผ่นเอ็นฝ่ามือ (Dupuytren's Contracture)

ความหมาย โรคจากการหดรัดของแผ่นเอ็นฝ่ามือ (Dupuytren's Contracture)

Dupuytren's Contracture หรือโรคจากการหดรัดของแผ่นเอ็นฝ่ามือ ส่งผลให้เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบริเวณมือของผู้ป่วยเกิดการหดตัว รั้งให้นิ้วงอเข้าสู่ฝ่ามือและไม่สามารถเหยียดออกได้ตามปกติ ส่วนมากมักเกิดกับเนื้อเยื่อบริเวณนิ้วนางและนิ้วก้อย ซึ่งอาการจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างช้า ๆ โดยอาจใช้เวลาหลายปี  

อาการของโรค Dupuytren's Contracture อาจส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แม้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ของโรคที่แน่ชัด แต่พบว่าโรค Dupuytren's Contracture อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ อีกทั้งยังเป็นโรคที่พบในเพศชายได้มากมากกว่าเพศหญิง

Dupuytrens contracture

อาการของโรค Dupuytren's Contracture

อาการในช่วงแรกของโรค Dupuytren's Contracture พบว่าผิวหนังบริเวณอุ้งมือของผู้ป่วยหนาขึ้นจนเกิดรอยนูนหรืออาจเป็นก้อนแข็งขนาดเล็กใต้ผิวหนัง แต่มักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด จากนั้นก้อนแข็งนี้อาจหนาขึ้นและหดตัว ส่งผลให้เส้นเอ็นหดรั้งไม่ให้ยืดหรือขยับนิ้วได้ และนิ้วอาจถูกรั้งเข้ามาทางฝ่ามือ

อาการของโรคสามารถเกิดขึ้นได้กับมือทั้งสองข้าง พบได้บ่อยบริเวณนิ้วนางและนิ้วก้อย โดยอาการจะเพิ่มความรุนแรงอย่างช้า ๆ และอาจกินเวลานานหลายปี หากอาการอาจรุนแรงขึ้นอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหยิบของหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำได้ตามปกติ บางรายอาจมีผังผืดหนาเกิดขึ้นบริเวณเท้าหรือมีภาวะอวัยวะเพศชายโค้งงอร่วมด้วย

สาเหตุของโรค Dupuytren's Contracture

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค Dupuytren's Contracture อย่างชัดเจน และจากการศึกษายังไม่พบว่าการใช้งานมืออย่างหนักหรือการได้รับบาดเจ็บในบริเวณมือจะเป็นสาเหตุของโรค แต่คาดกันว่าอาการที่เกิดขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับระบบพันธุกรรม การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดสารอาหาร หรือการใช้ยารักษาโรคลมชักบางชนิด 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค Dupuytren's Contracture มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ เป็นเพศชาย มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ครอบครัวมีประวัติการป่วยด้วยโรคนี้ ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ และป่วยด้วยโรคเบาหวาน

การวินิจฉัยโรค Dupuytren's Contracture

แพทย์จะสอบถามข้อมูลสุขภาพทั่วไป ประวัติทางการแพทย์และอาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยอาจได้รับการถ่ายทอดโรค Dupuytren's Contracture ผ่านทางพันธุกรรม ขั้นต่อมาจะตรวจมือ ทดสอบความยืดหยุ่นบริเวณนิ้วมือ มีการวัดกำลังของมือในท่ากำและจับ

โดยในระหว่างการตรวจ แพทย์จะจดบันทึกตำแหน่งที่เกิดตุ่มหรือร่องรอยบนฝ่ามือ และใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อทดสอบการขยับ การงอหรือการหดของนิ้วมือ ทดสอบความรู้สึกในบริเวณนิ้ว บางกรณีอาจนำภาพถ่ายภาพเอกซเรย์มาใช้วินิจฉัยร่วมด้วย โดยแพทย์จะทำการตรวจเป็นระยะเพื่อนำผลของแต่ละครั้งมาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของอาการตลอดการรักษา

การรักษาโรค Dupuytren's Contracture

Dupuytren's Contracture ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่อาการของโรคจะเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ ในเวลาหลายปี และอาการที่เกิดขึ้นมักไม่ส่งผลให้เกิดอันตราย ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลังเกิดก้อนนูนบริเวณฝ่ามือหรือมีอาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แพทย์จึงจะรักษาผู้ป่วยโดยพิจารณาจากความรุนแรงของอาการและปัจจัยของแต่ละคน

ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วย Dupuytren's Contracture ปกป้องบริเวณฝ่ามือในขณะหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ เช่น การใช้เครื่องมือก่อสร้างที่ต้องจับด้ามจับแน่น ๆ ควรใช้ท่อและเทปกันกระแทกมาช่วย หรือใส่ถุงมือที่มีความหนาขณะยกของหนัก อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดขึ้นอาจแย่ลงแม้ผู้ป่วยจะระมัดระวังแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากอาการของผู้ป่วยรุนแรงขึ้น แพทย์จะรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด

ในขั้นตอนแรกแพทย์จะรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดเพื่อชะลออาการ เช่น 

  • การฉีดสเตียรอยด์ (Steroid Injection) 

เป็นการใช้ยาในกลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ฉีดเข้าไปในบริเวณก้อนนูนเพื่อต้านการอักเสบหรืออาจฉีดเพื่อชะลอการหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำ

  • การฝังเข็ม (Needling) 

การฝังเข็มเป็นการใช้เข็มขนาดเล็กจิ้มลงไปเพื่อสลายการหดเกร็งของเส้นเนื้อเยื่อบริเวณนิ้ว โดยสามารถฝังเข็มได้หลายนิ้วพร้อมกันและรักษาได้ซ้ำหลายครั้ง แต่ผู้ป่วยอาจกลับมาเป็นซ้ำได้ภายหลังการรักษา อย่างไรก็ตาม การฝังเข็มอาจทำได้เฉพาะบางบริเวณของนิ้วเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเส้นเอ็นและเส้นประสาท

  • การฉีดเอนไซม์ (Enzyme Injections) 

แพทย์จะฉีดเอนไซม์เข้าไปยังฝ่ามือในบริเวณที่มีอาการตึงเพื่อให้อ่อนหรือนุ่มลง และช่วยสลายการหดเกร็งของเส้นเนื้อเยื่อบริเวณนิ้ว

การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

ผู้ที่มีอาการของโรค Dupuytren's contracture รุนแรง แพทย์จะผ่าตัดเพื่อลดการหดตัวหรือความตึงของกล้ามเนื้อ และช่วยให้สามารถขยับนิ้วมือได้มากขึ้น แม้หลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีเนื้อเยื่อแบบเดิมเกิดขึ้นซ้ำได้ การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดค่อนข้างได้ผลดีกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่น ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องทำกายภาพบำบัดหรือใช้เวลาในการฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษานานขึ้น

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ แพทย์จะกำจัดเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับอาการออกทั้งหมด โดยวิธีนี้แพทย์จำเป็นจะต้องปลูกถ่ายผิวหนังเพื่อปิดบาดแผลจากการผ่าตัด ซึ่งจะเป็นวิธีการรักษาที่ใช้เวลาในการฟื้นฟูร่างกายนานที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนของโรค Dupuytren's Contracture

อาการที่เกิดขึ้นของ Dupuytren's Contracture อาจส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้มือได้ตามปกติ โดยอาจทำให้ไม่สามารถเขียนหนังสือ กางนิ้ว แบมือ หยิบของชิ้นใหญ่หรือสอดมือเข้าไปในที่แคบได้

การป้องกันโรค Dupuytren's Contracture

เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุการเกิดแน่ชัด จึงยากที่จะป้องกันโรค Dupuytren's Contracture แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ระมัดระวังในการใช้ยาบางชนิด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบหรือเลิกสูบบุหรี่