แพ้แลคโตส รู้ทันอาการ สาเหตุ และวิธีรับมือ

แพ้แลคโตส (Lactose Intolerance) เป็นชื่อที่หลายคนใช้เรียกภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในผลิตภัณฑ์นมได้ จึงอาจทำให้มีอาการท้องอืด ปวดท้อง และท้องเสียหลังรับประทานนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม คาดการณ์ว่าผู้ที่แพ้แลคโตสพบได้มากถึง 70-75% ของจำนวนประชากรโลก และพบบ่อยในชาวเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกัน

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการแพ้แลคโตสหมายถึงการแพ้นมวัว (Cow Milk Allergy) ซึ่งความจริงแล้วมีความแตกต่างกัน ผู้ที่แพ้แลคโตสมักไม่เกิดอาการรุนแรง แต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายท้องหลังรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม หากสังเกตอาการของตัวเองและหลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์นมที่มีส่วนประกอบของแลคโตสจะช่วยป้องกันการเกิดอาการท้องอืดและปวดท้องได้

แพ้แลคโตส รู้ทันอาการ สาเหตุ และวิธีรับมือ

แพ้แลคโตสเกิดจากอะไร

ร่างกายเรามีเอนไซม์แลคเทส (Lactase) ที่ผลิตในลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ย่อยน้ำตาลแลคโตสซึ่งพบมากในผลิตภัณฑ์นมให้มีขนาดเล็กลงและดูดซึมไปใช้เป็นพลังงานในร่างกาย แต่ร่างกายของผู้ที่แพ้แลคโตสจะไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสได้หมด เนื่องจากลำไส้เล็กผลิตเอนไซม์แลคเทสไม่เพียงพอ เมื่อแลคโตสที่ไม่ถูกย่อยทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ จะทำให้เกิดแก๊สและทำให้เกิดอาการท้องอืด ปวดท้องตามมา

ภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่องแบ่งเป็น 3 ประเภท ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกัน ดังนี้

  • ร่างกายผลิตเอนไซม์แลคเทสน้อยลงเอง (Primary Lactose Intolerance) เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมักมีสาเหตุจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้ร่างกายผลิตเอนไซม์แลคเทสน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดอาการแพ้แลคโตสเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นและผู้ใหญ่ 
  • ผลจากอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ (Secondary Lactose Intolerance) เช่น โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis) โรคโครห์น (Crohn's Disease) โรคเซลิแอค (Celiac Disease) ลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) รวมทั้งการรักษาโรคด้วยยาปฏิชีวนะบางชนิด และเคมีบำบัด
  • ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด โดยอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งทำให้ทารกที่เกิดมามีอาการแพ้แลคโตส แต่เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก

แพ้แลคโตสมีอาการอย่างไร

โดยทั่วไป ผู้ที่แพ้แลคโตสจะมีอาการท้องอืดจากแก๊ส ปวดท้องบริเวณสะดือหรือท้องน้อย ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และบางรายอาจมีอาการท้องผูกร่วมด้วย มักมีอาการหลังรับประทานนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวประมาณ 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานและและความสามารถในการย่อยแลคโตสของแต่ละคน

ทั้งนี้ การแพ้แลคโตสกับการแพ้นมวัวมีความแตกต่างกันทั้งสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยการแพ้นมวัวเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่มีต่อโปรตีนที่พบในนมวัว จึงทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ผื่นแดง คัน ใบหน้าบวม ปวดท้อง อาเจียน คัดจมูก หายใจมีเสียงครืดคราดหลังรับประทานนม และอาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ได้

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อแพ้แลคโตส

แม้จะไม่มีวิธีรักษาภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่องให้หายขาด แต่การสังเกตอาการและปรับพฤติกรรมการรับประทานอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้ โดยใช้วิธีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม โดยอาจดื่มนมปราศจากแลคโตส (Lactose Free) ซึ่งเป็นนมที่ผ่านกระบวนการเติมเอนไซม์แลคเทส เพื่อให้เอนไซม์ช่วยย่อยสลายน้ำตาลแลคโตสในนม จึงทำให้ไม่เกิดอาการแพ้แลคโตส 
  • ดื่มนมที่ทำจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ และนมข้าวโอ๊ต แทนการดื่มนมวัว หากยังมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานนมชนิดอื่นทดแทน
  • หากมีอาการไม่รุนแรง ผู้ที่แพ้แลคโตสสามารถรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมได้ โดยรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมทีละน้อยและสังเกตอาการ ทั้งนี้ อาจรับประทานนมกับอาหารอื่น เช่น ขนมปังกรอบและซีเรียล หรือลองรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมที่มีปริมาณแลคโตสน้อย เช่น โยเกิร์ตหรือชีส
  • รับประทานอาหารเสริมเอนไซม์แลคเทสสังเคราะห์ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • พิจารณาเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง เช่น ปลาทะเล ไข่แดง ตับ เต้าหู้ และผักใบเขียว เพื่อทดแทนการขาดสารอาหารจากการงดดื่มนมปกติ

แพ้แลคโตสเป็นภาวะที่พบได้มากในวัยผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เกิดจากการที่ร่างกายย่อยน้ำตาลแลคโตสที่พบในนมทั่วไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร การหลีกเลี่ยงหรือลดการรับประทานนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมจะช่วยป้องกันการเกิดอาการปวดท้องและท้องอืดได้ โดยค่อย ๆ ปรับลดปริมาณการรับประทานผลิตภัณฑ์นมและสังเกตอาการ ทั้งนี้ ควรรับประทานอาหารอื่นที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูงทดแทนเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วน