แพ้นมวัว (Cow’s Milk Allergy)

ความหมาย แพ้นมวัว (Cow’s Milk Allergy)

แพ้นมวัว (Cow’s Milk Allergy) เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายตอบสนองต่อโปรตีนในนมวัวมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดผื่นคัน ริมฝีปาก ลิ้นหรือหน้าบวม อาเจียน และปวดท้อง ซึ่งความรุนแรงและระยะเวลาในการเกิดอาการแพ้ของผู้ป่วยจะแตกต่างกันออกไป

แม้ว่าอาการแพ้นมวัวพบได้มากในทารกและเด็กเล็ก แต่ก็พบในวัยอื่นได้เช่นกัน หากพบว่าตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวมีอาการคล้ายกับอาการแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมวัวหรืออาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ และควรไปพบแพทย์ เพราะถึงแม้อาการแพ้ในครั้งแรกจะไม่รุนแรง แต่หากเกิดอาการแพ้ครั้งต่อไป บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

แพ้นมวัว (Cow’s Milk Allergy)

อาการแพ้นมวัว 

ผู้ที่แพ้นมวัวจะมีอาการและระยะเวลาในการเกิดอาการแพ้หลังรับประทานนมวัวแตกต่างกัน โดยอาการที่มักพบได้ เช่น 

  • เกิดผื่นลมพิษ รอยแดง ผื่นคัน
  • หน้า ริมฝีปากและบริเวณรอบดวงตาบวม
  • ไอ
  • มีอาการของโรคภูมิแพ้จมูก เช่น น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก 
  • หายใจเป็นเสียงหวีด
  • อาเจียน
  • ปวดหรือเสียดท้อง
  • ท้องผูก ท้องเสีย

นอกจากนี้ ผู้ที่แพ้นมวัวบางรายอาจมีภาวะภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ส่งผลให้เกิดอาการหายใจลำบากหรือหายใจเสียงดัง เวียนศีรษะอย่างต่อเนื่อง เสียงแหบ พูดลำบาก ลิ้นหรือคอบวม รู้สึกแน่นภายในลำคอ หมดสติ และในเด็กอาจมีอาการตัวซีดหรือตัวอ่อนร่วมด้วย หากเกิดอาการดังกล่าว ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สาเหตุของอาการแพ้นมวัว 

แพ้นมวัวเป็นอาการที่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อโปรตีนในนมวัว คือ โปรตีนเวย์ (Whey) และโปรตีนเคซีน (Casein) จนก่อให้เกิดการอักเสบ ทำให้ร่างกายผลิตสารฮิสตามีน (Histamine) ที่ส่งผลให้เกิดอาการแพ้ขึ้น โดยผู้ที่มีอาการแพ้นมวัวอาจแพ้โปรตีนตัวใดตัวหนึ่งหรือแพ้โปรตีนทั้ง 2 ตัว 

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้นมวัวมักจะเป็นเด็กเล็ก ผู้ที่แพ้นมแพะ นมควายหรือนมถั่วเหลือง ผู้ป่วยภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) หรือสมาชิกในครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยอาการแพ้อาหารหรือภูมิแพ้ชนิดอื่น

การวินิจฉัยอาการแพ้นมวัว

แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว ตรวจร่างกายของผู้ป่วยและตรวจหาอาการของโรคอื่นที่คล้ายคลึงกัน เช่น ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง ภาวะแพ้อาหารชนิดอื่น โรคกรดไหลย้อน โรคโครห์น หรือโรคเซลิแอค (Celiac Disease) เป็นต้น

หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจอุจจาระ หรือการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยการสะกิด เพื่อให้สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นอาการแพ้นมวัว

การรักษาอาการแพ้นมวัว

แพทย์จะให้ผู้ที่มีอาการแพ้นมวัวหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนมวัวและนมของสัตว์ชนิดอื่น เช่น เนย มาการีน ชีส ช็อกโกแลต ครีม โยเกิร์ต ไอศกรีม นมผง เวย์ และโปรตีน โดยแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารอย่างอื่นที่ทดแทนได้ เพราะสารอาหารสำคัญที่พบในนมวัวเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายโดยเฉพาะในเด็ก

หากเด็กเล็กแพ้นมวัว แพทย์อาจให้รับประทานนมชนิดอื่นทดแทนในช่วงสั้น ๆ เช่น นมแม่ นมที่ผ่านการย่อยบางส่วนหรือนมถั่วเหลือง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมถึงจะพิจารณาให้กลับมารับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัวได้อีกครั้ง เพราะภาวะแพ้นมวัวมักมีอาการดีขึ้นเมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้น

กรณีที่เผลอรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัว หากอาการไม่รุนแรงมากอาจบรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้แพ้ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาอื่นที่อาจทำให้อาการของภูมิแพ้รุนแรงขึ้น ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงควรนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะอาจต้องได้รับการฉีดยาแบบฉุกเฉินด้วยตัวยาอิพิเนฟริน (Epinephrine

ภาวะแทรกซ้อนของอาการแพ้นมวัว 

อาการแพ้นมวัวโดยเฉพาะในเด็กอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแพ้อาหารชนิดอื่น เช่น ไข่ ถั่ว ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ หรือโรคไข้ละอองฟาง ซึ่งผู้ป่วยจะตอบสนองเมื่อสัมผัสกับขนสัตว์ ฝุ่น ละอองเกสรหรือสารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่น

นอกจากนี้ อาการแพ้นมวัวในเด็กยังอาจส่งผลให้เกิดโรคขาดสารอาหาร ภาวะเลี้ยงไม่โต ภาวะของการขาดธาตุเหล็กเรื้อรัง (Chronic Iron Deficiency Anemia) หรือภาวะการดูดซึมอาหารของลำไส้ผิดปกติได้

การป้องกันอาการแพ้นมวัว 

อาการแพ้นมวัวสามารถป้องกันได้เพียงบางส่วน โดยทั่วไปอาจลดความเสี่ยงของทารกต่อการแพ้นมวัวได้ด้วยการให้สตรีตั้งครรภ์ดื่มนมตามความเหมาะสม และไม่ดื่มมากเกินไปเพื่อป้องกันภาวะแพ้นมวัวของทารกแรกเกิด 

แต่หากทารกได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะแพ้นมวัว ควรให้นมแม่หรืออาหารเสริมทารกปลอดสารก่อภูมิแพ้เป็นอาหารหลัก และมารดาควรหลีกเลี่ยงการดื่มหรือรับประทานนมวัวในช่วงที่ต้องให้นมลูก เพราะโปรตีนในนมวัวสามารถส่งผ่านทางนมแม่ได้เช่นกัน

หากเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่มีอาการแพ้นมวัว ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมหรือรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัว และควรอ่านฉลากของทุกผลิตภัณฑ์อาหารอย่างละเอียดก่อนรับประทาน เพราะโปรตีนที่ก่อให้เกิดอาหารแพ้อาจผสมอยู่ในอาหารแม้จะเป็นอาหารที่ไม่มีนมเป็นส่วนประกอบเลยก็ตาม