เมื่อลูกท้องผูก พ่อแม่ควรรับมืออย่างไรดี

ลูกท้องผูกมักทำให้พ่อแม่หลายคนเป็นกังวล เนื่องจากเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยอาจพบว่าลูกไม่ค่อยถ่าย ถ่ายไม่ออก ถ่ายออกยาก อุจจาระเป็นก้อนแข็ง หรือมีอาการเจ็บขณะถ่ายอุจจาระ ซึ่งทำให้ลูกกลัวการขับถ่ายและมีอาการท้องผูกเรื้อรัง หากคุณแม่เรียนรู้วิธีดูแลรักษาอาการท้องผูกของลูกน้อยอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้ลูกกลับมาขับถ่ายได้ตามปกติอีกครั้ง

โดยส่วนมาก อาการท้องผูกในเด็กมักเกิดจากการฝึกการเข้าห้องน้ำเร็วเกินไปและการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หากปรับอาหารของลูก โดยเน้นให้ลูกทานผักผลไม้และดื่มน้ำให้เพียงพอ ควบคู่กับการปรับพฤติกรรมการเข้าห้องน้ำก็จะช่วยให้อาการท้องผูกในเด็กดีขึ้นได้ บทความนี้จะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจถึงสาเหตุและวิธีรับมือเมื่อลูกท้องผูกได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อลูกท้องผูก พ่อแม่ควรรับมืออย่างไรดี

อาการแบบไหนถึงเรียกว่าลูกท้องผูก

โดยทั่วไป เด็กอาจมีความถี่ในการขับถ่ายแตกต่างกัน แต่หากความถี่หรือพฤติกรรมในการขับถ่ายผิดไปจากปกติ อาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังมีอาการท้องผูก ได้แก่

  • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือน้อยกว่าปกติที่เคยเป็น
  • ถ่ายไม่ออกหรือถ่ายอุจจาระเป็นก้อนแข็ง
  • มีอาการเจ็บขณะถ่ายอุจจาระ เนื่องจากต้องออกแรงเบ่งอุจจาระ
  • พยายามกลั้นอุจจาระ หนีบขาเข้าหากัน เกร็งก้นและขา หน้าแดง เหงื่อออก หรือร้องไห้งอแงขณะขับถ่าย
  • ปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร และคลื่นไส้ บางครั้งอาจรู้สึกถึงก้อนแข็งเมื่อกดที่ท้องของเด็ก
  • มีเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ

อุจจาระที่ตกค้างในลำไส้เป็นเวลานานจะมีลักษณะแข็ง แห้งและมีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะมีการดูดน้ำในอุจจาระกลับ ทำให้ลูกถ่ายไม่ออก หรือรู้สึกเจ็บปวดขณะขับถ่าย ส่งผลให้ลูกยิ่งพยายามกลั้นอุจจาระเพราะกลัวเจ็บ และอาจทำให้ลูกมีอาการอุจจาระเล็ด (Soiling) เปื้อนกางเกง เนื่องจากลำไส้พยายามบีบตัวให้ถ่ายอุจจาระ หากปล่อยให้มีอาการท้องผูกเป็นเวลานาน อาจทำให้ลูกมีอาการท้องผูกเรื้อรังที่แก้ไขได้ยาก

หากลูกไม่ได้ขับถ่ายเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ปวดท้อง มีไข้ มีเลือดปนในอุจจาระ ไม่รับประทานอาหาร น้ำหนักลด หรือมีภาวะไส้ตรงปลิ้น (Rectal Prolapse) ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษา

ลูกท้องผูกเกิดจากอะไร

อาการท้องผูกในเด็กเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำ การใช้ยา หรือเป็นอาการของโรคประจำตัว ดังนี้

อาหาร

อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ลูกท้องผูก เช่น การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ไม่ได้รับประทานผักหรือผลไม้ และดื่มน้ำน้อย อาจทำให้ลูกอุจจาระแข็งและขับถ่ายลำบาก นอกจากนี้ ทารกอาจท้องผูกหลังเปลี่ยนจากการดื่มนมแม่มาเป็นการรับประทานอาหารอื่น ๆ เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับของเหลวในปริมาณเท่าเดิม หรืออาจท้องผูกจากการแพ้นมวัว หรือรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัวมากเกินไป

การกลั้นอุจจาระ

การกลั้นอุจจาระเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในเด็กเล็กอายุระหว่าง 2–5 ปี อาจกลั้นอุจจาระ เนื่องจากกลัวการใช้กระโถนหรือชักโครก หรืออาจเล่นเพลินจนไม่ได้ใส่ใจอาการปวดอุจจาระของตัวเอง จึงทำให้ไม่ได้ขับถ่ายตามเวลา ส่วนเด็กโตอาจพบปัญหาไม่อยากขับถ่ายในห้องน้ำสาธารณะ หรือในสถานที่ที่ไม่คุ้นชิน เช่น ห้องน้ำที่โรงเรียนใหม่ หรือขับถ่ายระหว่างเข้าค่ายพักแรม

ในบางกรณี เด็กอาจกลั้นอุจจาระเนื่องจากกลัวเจ็บขณะขับถ่าย มีแผลรอยแยกขอบทวารหนัก (Anal Fissure) หรือเด็กที่มีผื่นผ้าอ้อมจากความอับชื้นที่ทำให้ผิวบริเวณนั้นเกิดการอักเสบ อาจยิ่งทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรือระคายเคืองผิวขณะขับถ่ายมากขึ้น

การฝึกขับถ่ายเมื่อลูกยังเล็กเกินไป

หากพ่อแม่ฝึกให้ลูกขับถ่ายตั้งแต่ลูกยังเล็กเกินไป อาจทำให้เกิดวงจรของโรคท้องผูกได้ เนื่องจากลูกมักรู้สึกกลัวการเข้าห้องน้ำและเกิดการต่อต้าน ทำให้ไม่กล้าขับถ่ายและกลั้นอุจจาระ เมื่อเวลาผ่านไปอุจจาระจะแข็งมากขึ้น ทำให้รู้สึกเจ็บขณะขับถ่ายและไม่ยอมขับถ่ายอีก 

การไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย

พ่อแม่ที่อุ้มเด็กอยู่ตลอดเวลา หรือเด็กที่ไม่ได้ทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายได้ขยับเขยื้อนอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกท้องผูก การออกกำลังกายจะช่วยย่นระยะเวลาของอาหารที่เคลื่อนผ่านลำไส้ ทำให้การดูดน้ำออกจากอุจจาระน้อยลง อุจจาระจึงไม่แข็งหรือแห้ง และยังช่วยให้กล้ามเนื้อผนังลำไส้บีบตัวไว ทำให้ขับถ่ายสะดวกมากขึ้น

ปัญหาสุขภาพและการใช้ยาบางชนิด

เด็กที่มีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับลำไส้และทวารหนัก ความผิดปกติของระบบประสาท อย่างภาวะสมองพิการ (Cerebral Palsy) และความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ อย่างภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) อาจทำให้ลูกท้องผูกได้ แต่อาจพบได้น้อย นอกจากนี้ เด็กที่ได้รับยารักษาอาการซึมเศร้า (Antidepressants) ยาโคเดอีน (Codeine) หรืออาหารเสริมธาตุเหล็ก อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้ลูกท้องผูก

ทั้งนี้การขับถ่ายที่ผิดปกติของเด็กอาจเกิดจากพันธุกรรม ความเครียด สภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือความไม่สะดวกในการเข้าห้องน้ำในระหว่างการเดินทางก็อาจเป็นปัจจัยที่อาจทำให้ลูกท้องผูกได้เช่นกัน

รับมืออย่างไรเมื่อลูกท้องผูก

หากลูกท้องผูก พ่อแม่ควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการขับถ่ายของลูก เพื่อให้ลูกขับถ่ายได้เป็นปกติดังนี้

1. ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร 

สำหรับเด็กทารกที่เริ่มรับประทานอาหารอื่นแทนนมแม่ อาจให้ลูกรับประทานผักหรือผลไม้บดละเอียด โดยป้อนให้ลูกรับประทาน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น ลูกพรุน ลูกพีช หรือให้ลูกดื่มน้ำลูกพรุนผสมกับน้ำเปล่า เพื่อลดความเข้มข้นของน้ำผลไม้ 

สำหรับเด็กเล็กและเด็กโต ควรให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอ เน้นรับประทานผักและผลไม้ที่มีใยอาหารสูง เช่น บร็อคโคลี แครอท ผักโขม ลูกพรุน ส้ม และมะละกอ รวมทั้งรับประทานธัญพืชที่ขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีต และถั่วชนิดต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันและไขมันสูง เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน 

หากสงสัยว่าลูกมีอาการแพ้นมวัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เบื้องต้นแพทย์อาจสั่งให้งดหรือจำกัดปริมาณการดื่มนมวัวเพื่อป้องกันอาการท้องผูก

2. ฝึกการขับถ่ายให้ลูกอย่างเหมาะสม

โดยทั่วไปเด็กมักเริ่มแสดงความพร้อมในการขับถ่ายในกระโถนหรือชักโครกเมื่ออายุประมาณ 18–24 เดือน แต่เด็กบางคนอาจมีความพร้อมช้ากว่านั้น พ่อแม่ควรรอให้ลูกสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง เช่น สามารถลุกและนั่งบนกระโถนหรือชักโครกได้เอง ถอดและสวมกางเกงได้ และสามารถบอกพ่อแม่ได้เมื่อรู้สึกอยากขับถ่าย

พ่อแม่อาจฝึกให้เด็กใช้กระโถนหรือชักโครกก็ได้ โดยการฝึกใช้กระโถนอาจฝึกได้ง่ายกว่า เพราะลูกจะไม่กลัวตกเท่าการนั่งบนชักโครก ส่วนการฝึกให้ใช้ชักโครกจะทำให้เด็กคุ้นเคยกับการขับถ่ายเหมือนผู้ใหญ่ หากต้องการฝึกขับถ่ายบนชักโครก พ่อแม่ควรเตรียมแผ่นรองเหยียบ บันไดสำหรับขึ้นลง ฝารองนั่งชักโครกที่มีขนาดพอดีสำหรับเด็ก และอาจเตรียมหนังสือที่ลูกชอบไว้ในห้องน้ำด้วย เพื่อช่วยให้ลูกไม่รู้สึกเบื่อไปกับการฝึกขับถ่าย

ทั้งนี้ควรให้ลูกฝึกนั่งบนกระโถนหรือชักโครกบ่อย ๆ เพื่อความคุ้นชิน พ่อแม่อาจใช้เวลาหลังจากลูกรับประทานอาหารเสร็จในการฝึกอย่างน้อยครั้งละ 10 นาที ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่าควรขับถ่ายบนกระโถนหรือชักโครกทุกครั้งเมื่อรู้สึกปวด เมื่อลูกสามารถนั่งบนกระโถนหรือชักโครกได้เอง พ่อแม่ควรชมเชยหรือให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อช่วยให้ลูกรู้สึกดีในการขับถ่าย

3. ให้ลูกออกกำลังกายเป็นประจำ

พ่อแม่ควรให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย อย่างการวิ่งเล่น และการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30–60 นาที เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้

4. ปรับการรับประทานยา

หากใช้วิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล พ่อแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย แพทย์อาจให้หยุดยาหรือปรับเปลี่ยนยาที่ลูกรับประทานเพื่อแก้ปัญหาท้องผูก ทั้งนี้พ่อแม่ไม่ควรซื้อยาระบายชนิดใด ๆ มาใช้กับลูกหรือให้ลูกรับประทานเอง และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

ลูกท้องผูกอาจเป็นปัญหาที่ทำให้พ่อแม่เป็นกังวลใจ และกลัวว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกในระยะยาว แต่หากสังเกตพฤติกรรมการขับถ่ายของลูก ดูแลการรับประทานอาหาร และฝึกการขับถ่ายของลูกในเวลาที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้การขับถ่ายของลูกเป็นไปตามปกติ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าอาการท้องผูกของลูกยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังจากปรับพฤติกรรม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมและรักษาอาการต่อไป