อาการไอและความแตกต่างแต่ละรูปแบบที่ควรรู้

อาการไอเป็นอาการทั่วไปที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งสาเหตุของการไอในแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แต่ส่วนมากมักเป็นผลมาจากการระคายเคืองภายในลำคอหรือทางเดินหายใจ โดยทั่วไปมักไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่หากออกแรงไอมาก ๆ ก็อาจทำให้รู้สึกเจ็บ ปวด หรืออ่อนเพลียได้

นอกจากนี้ การระคายเคืองในลำคอหรืออาการไออาจสร้างความรำคาญใจระหว่างวันและรบกวนการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ รู้หรือไม่ว่า อาการไอที่มีรูปแบบแตกต่างกันนั้นอาจเป็นตัวช่วยให้เรารู้ถึงสาเหตุของการไอในเบื้องต้นและบอกได้ถึงระดับความรุนแรงของอาการ ดังนั้น การทราบถึงความแตกต่างของอาการไอแต่ละรูปแบบอาจเป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย

Young,Beautiful,Asian,Woman,Wearing,Casual,Sweater,Standing,Over,Blue

ทำไมเราควรรู้ความแตกต่างของอาการไอ?

อาการไอแบบฉับพลันและแบบเรื้อรังมีความแตกต่างกัน หากเป็นอาการไอแบบฉับพลันมักจะมีอาการประมาณ 2–3 สัปดาห์ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอย่างเฉียบพลันในระบบทางเดินหายใจส่วนบน อย่างโรคหวัดหรือโรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน ในขณะที่อาการไอเรื้อรังมักมีอาการไอนานกว่า 2–3 สัปดาห์ โดยสาเหตุอาจเกิดจากโรคหืด โรคภูมิแพ้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ภาวะกรดไหลย้อน รวมถึงอาจเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่หรือการใช้ยาบางชนิด

โดยปกติแล้ว อาการไอที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวมักไม่มีความรุนแรงและไม่น่าเป็นกังวล แต่หากมีอาการติดต่อกันหลายสัปดาห์ อาการไอรุนแรงมากขึ้น ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพหรือโรคร้ายแรงอื่น เช่น โรคมะเร็งปอด วัณโรค โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เป็นต้น 

อาการไอและรูปแบบที่แตกต่างกัน

อาการไอจำแนกได้ตามลักษณะการไอ ระยะเวลาในการเกิดอาการ และระดับความรุนแรง ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้สามารถใช้แยกอาการไอออกเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น

  • อาการไอมีเสมหะ

 

อาการไอมีเสมหะมักเป็นผลมาจากการติดเชื้อโรคบางชนิดหรือมีของเหลวภายในปอด อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ส่งผลให้ร่างกายขับเมือกหรือสารคัดหลั่งออกจากระบบทางเดินหายใจ อย่างจมูก คอ จนทำให้เกิดอาการไอมีเสมหะตามมา บางคนอาจมีน้ำมูก เสมหะไหลลงคอหรืออ่อนเพลียร่วมด้วย 

  • อาการไอแห้ง

 

อาการไอรูปแบบนี้มักเกิดการระคายคอหรือปอดจนกระตุ้นให้ร่างกายไอออกมา แต่จะไม่มีเสมหะเจือปนออกมาด้วย โดยสาเหตุมักเกิดจากกรดไหลย้อน โรคหลอดลมอักเสบ การใช้ยาลดความดันโลหิตกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) อีกทั้งยังเป็นอาการที่พบได้มากในผู้ป่วยโรคโควิด–19 และจะมีไข้หรืออาการหายใจลำบากเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน

  • ไอตอนกลางคืน (Nocturnal Cough)

 

เนื่องจากทางเดินหายใจจะระคายเคืองได้ง่ายในช่วงกลางคืน คนที่มีอาการไอจึงมักมีอาการรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคหืด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้อาการไอเป็นมากขึ้นอาจมาจากอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะไหลลงคอขณะนอนหลับ หรือภาวะการติดเชื้อ  

  • ไอเสียงก้อง (Barking Cough)

 

อาการไอก้องจะพบได้มากในเด็ก โดยมักเกิดจากอาการบวมในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนอย่างบริเวณกล่องเสียงและหลอดลม หรือโรคครูป (Croup) ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจได้ลำบาก เสียงแหบ หายใจมีเสียง และอาจมีไข้ร่วมกับอาการไอด้วย 

  • ไอกรน (Pertussis)

 

โรคไอกรนเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส (Bordetella Pertussis) ส่งผลมีอาการไอเสียงวู้ป (Whooping Cough) เพราะต้องอ้าปากหายใจระหว่างไอ ไอติดต่อกันเป็นเวลาหลายนาที โดยอาการจะรุนแรงขึ้นในช่วงกลางคืน และมีเสมหะเหนียวข้นหรืออาเจียนร่วมด้วย โดยจะพบได้มากในเด็กและอาการจะรุนแรงในเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ดังนั้น หากเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนมีอาการไอกรน มีอาการไอรุนแรงขึ้น ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไอกรนควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากโรคนี้สามารถแพร่กระจายได้ง่าย

อาการไอแบบไหนควรไปพบแพทย์

ตามปกติแล้ว อาการไออาจหายไปได้เอง หากมีอาการไอที่ไม่รุนแรงหรือไออย่างฉับพลันสามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น การรับประทานยาแก้ไอที่หาซื้อได้ทั้วไปตามร้านขายยา ดื่มน้ำมาก ๆ กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ อมยาอมแก้เจ็บคอ อยู่ในห้องที่มีอากาศชื้นในระดับพอเหมาะ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เพราะอาจทำให้อาการไอรุนแรงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

อย่างไรก็ตาม อาการไออาจเป็นสัญญาณของโรคหรือปัญหาสุขภาพร้ายได้เช่นกัน โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์นั้นอาจขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีอาการ อายุ สุขภาพร่างกายโดยรวม และอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีอาการไอติดต่อกันนานกว่า 2–3 สัปดาห์ เสมหะเป็นสีเขียว เหลือง หรือมีลักษณะเหนียวข้น มีไข้ หายใจมีเสียงหวีด หายใจไม่อิ่ม น้ำหนักลดหรือมีภาวะเบื่ออาหารร่วมด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ หากมีอาการไอร่วมกับอาการสำลัก อาเจียน หายใจลำบาก หน้ามืด หมดสติ อ่อนเพลีย ไอเป็นเลือด มีเลือดเจือปนกับเสมหะหรือเจ็บหน้าอก ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน