ลูกไม่อยากไปโรงเรียน สาเหตุคืออะไร และรับมืออย่างไรดี

ลูกไม่อยากไปโรงเรียนเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับผู้ปกครองหลาย ๆ บ้าน อาการไม่อยากไปโรงเรียนของเด็กอาจมีตั้งแต่การไม่ยอมลุกจากเตียง ร้องไห้งอแง อาละวาดไม่ยอมไปเรียน หรือยอมไปแต่ติดต่อให้พ่อแม่มารับกลับบ้านระหว่างวัน ซึ่งอาจเกิดจากการไม่อยากห่างจากพ่อแม่ กลัวการปรับตัวกับสังคมใหม่ หรือปัญหาอื่น ๆ

ลูกไม่อยากไปโรงเรียนพบได้บ่อยในเด็กอายุ 3–4 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มไปโรงเรียน เด็กอาจรู้สึกกังวลใจที่ต้องห่างพ่อแม่หรือคนดูแล แต่บางครั้งอาจพบในเด็กโตได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ไม่ควรละเลยปัญหานี้ เพราะยิ่งขาดเรียนนานก็ยิ่งทำให้เด็กไม่ยอมกลับไปเรียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับเพื่อนที่โรงเรียน และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก

ลูกไม่อยากไปโรงเรียน สาเหตุคืออะไรและรับมืออย่างไรดี

สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียน และอาการที่พ่อแม่ควรสังเกต

ลูกไม่อยากไปโรงเรียนเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เด็กเล็กรู้สึกกลัวการแยกจากจากพ่อแม่ เด็กมีนิสัยวิตกกังวลง่ายหรือได้รับการเลี้ยงดูแบบปกป้องมากเกินไป เด็กมีปัญหาที่บ้าน ครอบครัวทะเลาะกัน พ่อแม่หย่าร้าง การย้ายบ้านหรือย้ายโรงเรียนใหม่และเด็กยังปรับตัวไม่ได้ รวมทั้งปัญหาที่โรงเรียน เช่น ผลการเรียนไม่ดี เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง ถูกครูดุด่าและทำโทษรุนแรง 

นอกจากนี้ อาการไม่อยากไปโรงเรียนอาจเกิดจากโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety) ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกกังวลเมื่อทำกิจกรรมในสถานที่และคนที่ไม่คุ้นเคย โรคซึมเศร้า และโรคจิตเภท ซึ่งทำให้เด็กเก็บตัว นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร และไม่ยอมไปโรงเรียน

อาการที่ลูกไม่อยากไปโรงเรียนอาจแสดงออกมาให้เห็นได้ทั้งด้านร่างกายและพฤติกรรม ดังนี้

  • อาการทางร่างกาย เช่น อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดท้อง เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ หรืออาเจียน โดยเด็กมักจะแสดงอาการไม่สบายก่อนไปโรงเรียน ในวันที่ต้องนำเสนองาน หรือวันสอบ แต่อาการมักดีขึ้นเมื่ออยู่บ้าน
  • อาการด้านพฤติกรรมและจิตใจ เช่น ร้องไห้ อ้อนวอนว่าไม่อยากไปโรงเรียน ร้องโวยวาย อาละวาด ไม่ยอมลุกจากที่นอน ขืนตัวไว้เมื่อถูกบังคับ ขังตัวเองอยู่ในห้อง วิตกกังวล นอนไม่หลับ ไม่ทำกิจกรรมกับเพื่อนที่โรงเรียน โทรศัพท์ให้ผู้ปกครองไปรับในเวลาเรียนบ่อย หรือไปห้องพยาบาลบ่อยโดยไม่ได้มีอาการเจ็บป่วย และอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง

วิธีรับมือเมื่อลูกไม่ยอมไปโรงเรียน

การปล่อยให้ลูกขาดเรียนบ่อยจะทำให้ลูกเรียนตามเพื่อนไม่ทัน มีงานค้าง และเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียนมากขึ้น โดยแนวทางในการแก้ปัญหาเมื่อลูกไม่ยอมไปโรงเรียน เช่น

  • พ่อแม่ควรสังเกตอาการของลูก และพูดคุยด้วยความรักความเข้าใจเพื่อให้ทราบสาเหตุที่ลูกไม่ยอมไปโรงเรียน โดยเริ่มจากการชวนคุยแบบสบาย ๆ เช่น ถามว่าวันนี้ลูกไปโรงเรียนมาเป็นอย่างไรบ้าง สนิทกับเพื่อนคนไหน ชอบเรียนวิชาอะไร ถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ในโรงเรียน 1 อย่าง ลูกอยากเปลี่ยนอะไร 
  • หากลูกไม่ยอมเตรียมตัวไปโรงเรียน เช่น ไม่ยอมลุกจากที่นอน ไม่ยอมแต่งตัว หรือไม่ยอมรับประทานอาหารเช้า พ่อแม่ไม่ควรตำหนิเด็กรุนแรง แต่ควรอธิบายให้เข้าใจว่าการไปโรงเรียนสำคัญอย่างไร และแสดงท่าทีที่หนักแน่นในการยืนยันว่าลูกจะต้องไปโรงเรียน
  • หากลูกมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส คลื่นไส้ และอาเจียน ให้หยุดเรียนและพักผ่อนที่บ้านได้ แต่ไม่ควรให้รับประทานขนมขบเคี้ยวหรือชวนลูกเล่นสนุก เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกว่าการอยู่บ้านดีกว่าการไปโรงเรียน
  • สอบถามเพื่อนร่วมชั้นของลูก และพูดคุยกับคุณครูประจำชั้นเพื่อช่วยกันดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กที่สงสัยว่าอาจถูกแกล้ง
  • ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง และฝึกทักษะพื้นฐานในด้านการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เช่น ให้ลูกออกไปเล่นกับเพื่อน เข้าชมรมที่สนใจ หรือเล่นกีฬาที่ชอบ
  • พูดคุยเรื่องที่โรงเรียนให้เป็นเรื่องสนุกสนาน ไปรับลูกหลังเลิกเรียนให้ตรงเวลา และชวนลูกทำกิจกรรมที่ชอบหลังเลิกเรียน ซึ่งจะช่วยให้ลูกรู้สึกอยากไปโรงเรียนมากขึ้น
  • ดูแลให้ลูกทบทวนบทเรียนในวันที่ขาดเรียน และทำการบ้านส่งให้ครบถ้วน เพื่อให้เรียนตามเพื่อนได้ทัน

หากทำตามวิธีข้างต้นแล้วลูกยังไม่ยอมไปโรงเรียน ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพราะการที่ลูกไม่อยากไปโรงเรียนอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการรักษา โดยการรักษาที่แพทย์อาจนำมาใช้ เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) เพื่อหาแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่อยากไปโรงเรียนของลูก 

ในเด็กที่มีอาการวิตกกังวล การฝึกผ่อนคลาย (Relaxation Training) ด้วยการฝึกหายใจและการทำสมาธิก็อาจช่วยให้เด็กอาการดีขึ้น รวมทั้งใช้ยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (SSRI) และยาอื่น ๆ ตามคำสั่งแพทย์ เพื่อช่วยรักษาโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า ทั้งนี้ ปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียนเป็นปัญหาที่ไม่ควรละเลยและควรรีบหาทางแก้ เนื่องจากหากปล่อยไว้อาจยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น