รู้จักกับการตรวจร่างกาย ขั้นตอนพื้นฐานในการวินิจฉัยโรค

การตรวจร่างกาย (Physical Examination) เป็นขั้นตอนพื้นฐานที่แพทย์ใช้ในการประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ช่วยในการวินิจฉัยโรค และหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคน ตามปกติแล้วการตรวจร่างกายจะเป็นขั้นตอนแรกเมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ในสถานพยาบาล และเป็นส่วนหนึ่งในบริการตรวจสุขภาพประจำปีด้วย

การตรวจร่างกายจะมีการตรวจพื้นฐาน เช่น การชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง การวัดชีพจร หลังจากนั้นอาจมีการตรวจเพิ่มเติมตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงการตรวจร่างกายโดยแพทย์เท่านั้น

รู้จักกับการตรวจร่างกาย ขั้นตอนพื้นฐานในการวินิจฉัยโรค

หลักในการตรวจร่างกาย

การตรวจร่างกายมีส่วนช่วยหาความผิดปกติตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น อวัยวะผิดรูป อวัยวะมีขนาดเปลี่ยนไป หรือก้อนใต้ผิวหนัง โดยแพทย์จะตรวจร่างกายของผู้ป่วยด้วยเทคนิคการดู การคลำ การเคาะ และการฟัง โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

  • ตรวจด้วยการดูหรือสังเกตความผิดปกติของอวัยวะ ลักษณะรูปร่าง หรือท่าทางเบื้องต้น โดยอาจใช้ไฟฉายหรืออุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น เครื่องตรวจหูหรือเครื่องตรวจตา
  • ลำด้วยนิ้วหรือฝ่ามือ เพื่อตรวจสอบความเปลี่ยนแปลง ตำแหน่ง ลักษณะ ความนุ่มและแข็งของอวัยวะ หรือความเจ็บปวดในจุดต่าง ๆ
  • เคาะตามอวัยวะที่อยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งเสียงที่ได้จากการเคาะพอจะช่วยให้ทราบถึงขนาด ขอบเขต อากาศหรือของเหลวจากอวัยวะนั้น ๆ 
  • ฟังเสียงหายใจ เสียงพูด หรือเสียงอวัยวะภายในร่างกายด้วยหูโดยตรงหรือหูฟัง (Stethoscope) 

การตรวจร่างกายตรวจอะไรกันบ้าง

การตรวจร่างกายจะมีการตรวจดูลักษณะทั่วไปและตรวจตามระบบต่าง ๆ ของผู้ป่วยดังนี้

การวัดส่วนสูงและชั่งน้ำหนัก 

เจ้าหน้าที่สุขภาพหรือพยาบาลจะให้ผู้ป่วยชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงด้วยเครื่องชั่งและเครื่องวัด ซึ่งจะช่วยคำนวนหาค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ได้ สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เจ้าหน้าที่จะใช้เครื่องชั่งน้ำหนักและที่วัดส่วนสูงเฉพาะสำหรับทารก และอาจต้องวัดเส้นรอบศีรษะของเด็กเพิ่มเติม เพื่อดูพัฒนาการและการเจริญเติบโตของสมองเด็กด้วย  

โดยน้ำหนักตัวที่เพิ่มหรือลดอย่างผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ภาวะทางโภชนาการ ภาวะเครียด ความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือผลจากการใช้ยาบางชนิด

การตรวจสอบสัญญาณชีพ (Vital Signs)

แพทย์จะตรวจสอบสัญญาณชีพเพื่อประเมินการทำงานโดยรวมของร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ โรคปอด หรือโรคหอบหืด คนที่มีสุขภาพดีจะมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ระหว่างประมาณ 60–100 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตปกติควรอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท อัตราการหายใจปกติที่ 12–20 ครั้งต่อนาที และอุณหภูมิร่างกายปกติไม่ควรเกิน 37 องศาเซลเซียส 

การตรวจตามระบบต่าง ๆ (Systemic Examination) 

แพทย์จะตรวจตามระบบอวัยวะของผู้ป่วยด้วยวิธีที่หลากหลายและแตกต่างกันไปโดยใช้หลักในการตรวจร่างกายข้างต้น เช่น  

ศีรษะ
ดูความสมมาตรและรูปร่างของศีรษะ สังเกตความผิดปกติบริเวณหนังศีรษะหรือกระโหลกศีรษะ เช่น ก้อนหรือบาดแผล ลักษณะและการกระจายตัวของเส้นผม 

ใบหน้า
ดูความสมมาตรของใบหน้าโดยรวม ใบหน้าบิดเบี้ยวหรือไม่ ลักษณะภายนอกของดวงตา การมองเห็นและการเคลื่อนไหวของดวงตา ตรวจความสามารถในการได้ยิน การรับกลิ่น ดูความผิดปกติอย่างติ่งเนื้อหรือเลือดภายในจมูก ดูลักษณะของฟัน อาการบวมแดง ตุ่ม หรืออักเสบบริเวณต่อนทอนซิล คอหอย เพดานปาก หรือลิ้นไก่  

คอ
ดูระดับของความดันในหลอดเลือดดำที่คอ ตรวจหรือคลำหาจุดที่ปวดหรือก้อนบริเวณคอ คลำต่อมไทรอยด์ที่อยู่หน้าคอ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ 

ผิวหนัง
สังเกตลักษณะของผิวหนัง สีผิว และรอยโรคที่ปรากฎบริเวณผิวหนัง รวมถึงอาการบวมน้ำ อุณหภูมิของผิวหนัง ความยืดหยุ่น และชุ่มชื้นที่ผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

หัวใจ
คลำจุดชีพจร หรือตรวจการทำงานของหัวใจ เช่น สังเกตอาการขณะผู้ป่วยอยู่ในท่านอน ฟังเสียงหัวใจด้วยหูฟังเพื่อหาความผิดปกติหรือระบุตำแหน่งของอวัยวะในห้องหัวใจ ดูว่าผิวหนังหรือเล็บของผู้ป่วยมีสัญญาณของภาวะตัวเขียว (Cyanosis) ซึ่งบ่งถึงโรคหัวใจหรือไม่  

ปอด
ดูลักษณะการเคลื่อนไหวของทรวงอกขณะหายใจเข้าออก ฟังเสียง จังหวะ ความลึกตื้นของการหายใจ เพื่อหามีความผิดปกติ เช่น เสียงหายใจที่ผิดปกติ เสียงหวีดที่บ่งบอกถึงทางเดินหายใจตีบแคบ หรือหายใจเร็วหรือช้าผิดปกติ อีกทั้งยังอาจเคาะปอดเพื่อฟังเสียงสะท้อนของปอด 

ช่องท้อง
ดูรูปร่างและลักษณะของท้อง ฟังเสียงการทำงานของอวัยวะในช่องท้อง คลำช่องท้องเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความนุ่มหรือแข็ง ความเจ็บปวด หรือก้อนในท้อง ขนาดของตับหรือม้าม เคาะบริเวณช่องท้องและบริเวณโดยรอบ เพื่อหาขนาดหรือขอบเขตอวัยวะไปจนถึงหาแก๊สหรือของเหลวภายในท้อง   

ระบบประสาท
สังเกตสติสัมปชัญญะ การตอบสนอง และสมาธิของผู้ป่วย การเคลื่อนไหวหรือการขยับแขนและขา ทดสอบประสาทสัมผัสของผู้ป่วย รวมถึงการทำงานประสานกันของอวัยวะในร่างกาย

หลังจากการตรวจร่างกาย ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับผลตรวจร่างกาย ปัญหาสุขภาพ และดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจทางทวารหนัก การตรวจสายตาและการมองเห็น และการตรวจตามความเสี่ยงของแต่ละเพศอย่างการตรวจภายในและเต้านมในผู้หญิง การตรวจอวัยวะเพศและต่อมลูกหมากในผู้ชาย  

การตรวจร่างกายเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้แพทย์ทราบถึงปัญหาสุขภาพและช่วยวินิจฉัยโรคเบื้องต้น กรณีที่พบปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการรักษา แพทย์จะมีการวางแผนรักษาหรือส่งตรวจในขั้นตอนต่อไป หากผู้ป่วยไม่เข้าใจผลตรวจหรือมีความกังวลกับปัญหาสุขภาพ สามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมถึงวิธีดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเองได้