รู้จักกับ Food Intolerance และวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น

Food Intolerance เป็นภาวะผิดปกติทางระบบย่อยอาหารซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสารอาหารบางชนิดได้ โดยภาวะนี้จะส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการผิดปกติบางอย่างหลังรับประทานอาหารบางชนิดเข้าไป เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

เชื่อว่า Food Intolerance เป็นภาวะที่ใครหลายคนน่าจะรู้จักกันในชื่อ ภูมิแพ้อาหารแฝง จนอาจเข้าใจไปว่าภาวะนี้เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเหมือนอย่างโรคภูมิแพ้ (Allergy) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาวะนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และคำว่าภูมิแพ้อาหารแฝงก็เป็นเพียงภาษาพูดที่ไม่ได้ถูกนิยามอย่างเป็นทางการหรือถูกใช้ในทางการแพทย์

ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับ Food Intolerance ทั้งในด้านกลไกที่เป็นต้นเหตุ และวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้นมาให้ได้ศึกษาและทำความเข้าใจกันอย่างถูกต้องมากขึ้น

รู้จักกับ Food Intolerance และวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น

Food Intolerance คืออะไร ต่างจากการแพ้อาหาร (Food Allergy) อย่างไร

ด้วยความที่ภาวะ Food Intolerance และภาวะแพ้อาหารส่งผลให้เกิดอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน หลายคนจึงอาจสับสนเกี่ยวกับ 2 ภาวะนี้ได้ แต่อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่า Food Intolerance เป็นภาวะผิดปกติทางระบบย่อยอาหาร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเหมือนโรคภูมิแพ้

Food Intolerance เป็นภาวะผิดปกติทางระบบย่อยอาหารที่ไม่สามารถย่อยสารอาหารบางชนิดได้ เนื่องจากร่างกายมีเอนไซม์บางชนิดไม่เพียงพอ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนก็จะมีสารอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเอนไซม์ที่ร่างกายขาด โดยชนิดของสารอาหารที่พบได้บ่อย เช่น

  • แลคโตส (Lactose) หรือน้ำตาลในนมวัว
  • ฮีสตามีน (Histamine) เป็นสารอาหารที่พบได้ในอาหารประเภทชีส ช็อกโกแลต เห็ด สับปะรด กล้วย อาหารหมักดอง และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • กลูเตน (Gluten) เป็นโปรตีนที่พบได้ในข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์
  • สารโมโนโซเดียมกลูตาเมต (Monosodium Glutamate: MSG) ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในผงชูรส
  • สารอาหารอื่น ๆ เช่น สารในกลุ่มซัลไฟต์ (Sulfites) สีผสมอาหาร สารกันบูด คาเฟอีน ผงชูรส

โดยอาการส่วนใหญ่ที่พบในผู้ป่วย Food Intolerance มักเกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร และมักเกิดขึ้นหลังจากการรับประทานอาหารที่แพ้ไปประมาณ 2–3 ชั่วโมง เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องอืด แสบร้อนในทรวงอก หรือในบางรายอาจพบอาการปวดศีรษะร่วมด้วย

ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้เกิดภาวะ Food Intolerance แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับโรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด เช่น โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคโครห์น (Crohn's Disease) หรือลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis)

ส่วนการแพ้อาหารมีสาเหตุมาจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสารอาหารบางชนิดผิดปกติ ซึ่งกลไกดังกล่าวมักจะส่งผลให้พบอาการที่เกี่ยวกับอวัยวะอื่นนอกจากระบบย่อยอาหารด้วย เช่น เกิดผื่นขึ้นตามผิวหนัง คันผิวหนัง หายใจมีเสียงหวีด หรือรู้สึกหายใจไม่อิ่ม โดยอาการมักเกิดขึ้นทันทีหลังจากรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป

นอกจากนี้ ความแตกต่างระหว่าง 2 ภาวะนี้ยังอาจสังเกตได้จากปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยผู้ที่มีภาวะ Food Intolerance จะพบอาการก็ต่อเมื่อได้รับประทานอาหารที่แพ้เข้าไปในปริมาณมาก หรือรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเท่านั้น ในขณะที่ผู้ป่วยที่แพ้อาหารมักพบอาการทันทีหลังรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป แม้จะรับประทานในปริมาณที่น้อยก็ตาม

ผู้ป่วย Food Intolerance ควรดูแลตัวเองอย่างไร

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่คิดว่าตนเองอาจมีภาวะ Food Intolerance ในเบื้องต้นให้ลองทดสอบดูก่อนว่าร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่ออาหารชนิดใดบ้าง เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงการรับประทาน โดยให้จดบันทึกรายการอาหารที่รับประทานแล้วพบอาการผิดปกติบ่อย ๆ ลักษณะอาการที่พบ และระยะเวลาในการเกิดอาการ

จากนั้นให้งดรับประทานอาหารที่คิดว่าน่าจะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทีละชนิดเป็นระยะเวลาประมาณ 2–6 สัปดาห์เพื่อสังเกตอาการ และกลับไปรับประทานอีกครั้งเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อดูว่าอาการต่าง ๆ กลับมาเกิดซ้ำหรือไม่

วิธีนี้เป็นการสำรวจตัวเองเบื้องต้นสำหรับคนที่มีอาการเข้าข่ายภาวะ Food Intolerance เท่านั้น ผู้ที่พบอาการผิดปกติหลังรับประทานอาหารบางชนิด ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจให้แน่ชัด โดยเฉพาะผู้ที่อาการมีความรุนแรงหรือพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้องขั้นรุนแรง อาเจียนขั้นรุนแรง หรือน้ำหนักตัวลดผิดปกติ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นได้เช่นกัน